บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน28)

ที่มาที่ไปชาย 2 คนนี้ มีที่มาจากรั้วจปร.เหมือนกัน คนซ้ายรุ่น 7 คนขวารุ่น1 ถึงวันนี้ คนหนึ่งยังเป็นหัวหน้าพรรค อีกคนหนึ่งทิ้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปเป็นครูใหญ่ ร.ร.ฝึกผู้นำ...เฮ้อ สรรพสิ่งในโลกล้วอนิจจัง???

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27
โดย “มือเก่า”

“ไทยรัฐ” 15 กรกฎาคม 2535 หัวข้อ “มหา” พร้อมเป็นนายกฯ

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กล่าวยืนยันว่า พร้อมจะเป็นนายกฯ จะเป็นได้ดีด้วย และรับรองว่า จะไม่มีการปฏิวัติเกิดขึ้น หากจะมีการปฏิวัติก็ทำไม่สำเร็จ กับยังพร้อมที่จะเชิดชู และสนับสนุนทหารในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ผู้ที่เป็นทหารเท่านั้นจะทำได้

ไม่ต้องเชิดชูก็ได้ ขอเพียงอย่าเหยียบย่ำก็พอ (มือเก่า)

หัวข้อ “ยืนยันเป็นนายกฯ”

ค่ำวันเดียวกัน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ไปให้สัมภาษณ์สดในรายการข่าวช่อง 7 สี ยืนยันว่า หากพรรคพลังธรรมได้เสียงข้างมาก ตนก็พร้อมจะเป็นนายกฯ

ท่านเคยประกาศว่า “การคัดค้านของผม ผมไม่ได้หวังอำนาจ ผมจะไม่ยอมรับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น ผมจะไม่ยอมเสียสัตย์เป็นอันขาด” เพียง 2 เดือนต่อมา ท่านก็หาเสียงพร้อมเป็นนายกฯ เสียสัตย์หรือไม่
เลือกตั้ง 13 กันยายน 2535 นายชวน หลีกภัย ได้ขึ้นเป็นนายกฯ ท่านไม่ยอมรับการเสนอให้เป็น รมต. มายอมรับเป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลชวน เมื่อเมษายน 2537  (มือเก่า)

“ข่าวไท” 2 พฤษภาคม 2537 หน้า 3

“ข่าวไท” มีรายงานและยืนยันหลายครั้งว่า ความสัมพันธ์ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นั้นแน่นแฟ้นเสมือนญาติ เพราะเป็นคนบ้านเดียวกัน คือ “บ้านสี่เสา” และวันนี้ “สปายหมายเลข 6” ขอรายงานเรื่องที่ว่า รู้กันเพียง 4 คน…ก่อนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วไม่กี่วัน มีการฟอร์มรัฐบาลกันแล้ว ตอนนั้นคาดว่า พรรคความหวังใหม่กับพลังธรรมจะเป็นพรรคนำและพรรครอง ส่วนประชาธิปัตย์จะมาเป็นที่ 3 จึงมีคำพูดของ “ผู้ใหญ่” ท่านหนึ่งว่า “ให้พี่จิ๋วเขาก่อนนะ จำลองยังคอยได้” คนที่ฟังอยู่ เป็นคนที่ 3 นั้นคือ ชวน หลีกภัย แต่เหตุการณ์ผันแปรไป ประชาธิปัตย์กลายเป็นเสียงข้างมาก ได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล คนที่ 3 ที่นั่งฟังการสั่งความนั้นกลับได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ผลประโยชน์ของการขับไล่รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คือการได้เปลี่ยนรัฐบาลทันใจ (มือเก่า)

“สยามรัฐ” 22 กรกฎาคม 2536 หน้า 11

อุ่นๆ อยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทย คือเหตุการณ์นองเลือด และแสงไฟเผาบ้านเผาเมือง หลังวิสาขบูชาของปีที่แล้ว พรรคพลังธรรม นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พาประชาชนไปล้มตาย และเผาบ้านเผาเมือง ให้พระพุทธมหามณีรัตนากรแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญทุกพระองค์ และพระสยามเทวาทิราชเจ้า ได้ทรงเห็นเป็นพยาน…

…พระมหาโมคคัลลานะ พาพระภิกษุลูกศิษย์หลายรูปเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเวฬุวัน ระหว่างทางได้เห็นร่างสูงใหญ่เท่าภูเขาเลากา กำลังถูกไฟลุกไหม้ ลูกศิษย์จึงถามท่านว่าเพราะเหตุใด…ครั้นไปถึงวัดพระเวฬุวัน ได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ได้กราบทูลเรื่องที่พบเห็นร่างสูงใหญ่เท่าภูเขาเลากานั้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า…เจ้าร่างใหญ่นั้นคือเปรตตนหนึ่ง ซึ่งตกนรกหมกไหม้ แล้วเหลือเศษวิบากกรรมอยู่ ให้มาเกิดเป็นเปรตรับวิบากกรรมอีก กรรมเก่าก่อนนั้น คือเจ้านั่นเคยเผาบ้านเผาเมืองมาก่อน

คุ้มไหมหนอ ถ้ามีอำนาจชั่วครู่ชั่วยาม กับตกนรกหมกไหม้ชั่วกัปชั่วกัลป์ (มือเก่า)

“ข่าวไท” 8 มิถุนายน 2535 หน้า 16-19

มีเอกสารชิ้นหนึ่ง ที่แจกกันแพร่หลาย จัดทำโดยชาว จปร. เลขที่ กห. 1207/120 เสนอโดย พล.ต.สมพงษ์ เกียรติณรงค์รบ หัวหน้าคณะทำงานติดตามสถานการณ์ ใช้ชื่อเอกสารว่า พระบรมราโชวาท มีข้อความดังนี้

พระบรมราโชวาท

เพราะทหารได้รับเกียรติ และเอกสิทธิ์ เป็นผู้กุมอาวุธ และกำลังของประเทศ เป็นที่เคารพ & เกรงขามในหมู่ชนทั่วไป ทหารจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่ไม่อยู่ในหน้าที่ เช่น ไปเล่นการเมือง การกระทำเช่นนี้จะทำให้บุคคลเสื่อมความเชื่อถือในทหาร โดยเข้าใจว่า เอาอิทธิพลไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว (25 มกราคม 2499)

หลังพระบรมราโชวาทนี้ ก็มีนายทหารไปสู่การเมือง โดยขึ้นเป็นนายกฯ อย่างน้อย 2 ท่านคือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (มือเก่า)

เกียรติยศและศักดิ์ศรีของทหาร และกองทัพเสื่อมโทรมลง จนเป็นที่เกลียดชังของประชาชนในตอนนี้ เพราะผู้บังคับบัญชาบางคนไม่จงรักภักดี ไม่ปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท เอากองทัพเป็นเครื่องมือของตน แสวงหาอำนาจทางการเมือง และเข่นฆ่าประชาชน

จึงขอให้พี่น้องทหารทุกคน ยึดมั่นในพระบรมราโชวาทข้างต้น และช่วยกันเรียกร้องให้ผู้บังคับบัญชาบางคนที่ทรยศต่อพระบรมราโชวาท และทำลายกองทัพ ลาออกไปเสีย

ผบ. บางคนไม่จงรักภักดี ไม่ปฏิบัติตาม และทรยศต่อพระบรมราโชวาท ไม่ใช่ พล.อ.สุจินดาแน่นอน เพราะหลังเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 พล.อ.สุจินดาก็หยุดทุกอย่าง ลาออกจากตำแหน่ง เก็บตัวเงียบ ออกจากแสงสี สังคมการเมืองและทหารโดยสิ้นเชิง มีแต่ พล.ต.จำลอง หลังเข้าเฝ้าฯ แล้ว ยังไม่หยุดปลุกระดม ทั้งเรื่องนิรโทษกรรม และทหารฆ่าประชาชน (มือเก่า)

เอกสารชิ้นนี้ มีถึง จปร. ทุกรุ่น เสนอแนวทางแก้ไขภาพพจน์ของสถาบัน จปร. และสถาบันทหาร มาสรุปสาระว่า

1. ขอให้พี่ๆ แสดงสปิริต ด้วยการลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกไปยังต่างประเทศ

2. ให้มีการสอบสวนผู้กระทำความผิด ซึ่งได้แก่ ผู้บังคับบัญชากองกำลังที่ออกปฏิบัติการสังหารหมู่ประชาชน 18-20 พฤษภาคม 2535

3. ให้เปิดเผยข้อมูลของผู้เสียชีวิตที่แท้จริง และสถานที่ใช้อำพรางศพ

4. กองทัพต้องออกมาขอโทษประชาชนโดยเร็ว

5. ขอให้ทหารเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยเด็ดขาด

เอกสารชิ้นนี้ เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สำคัญชิ้นหนึ่งของทหาร เมื่อ พล.อ.วันชัย เรืองตระกูล ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งต่อท้ายว่า “ทราบ-ดำเนินการตามเสนอ”

พฤษภาคม 2535 มีทั้งผู้ก่อเหตุ และผู้ระงับเหตุ
ผู้ก่อเหตุชุมนุมตั้งแต่ 6-12 พฤษภาคม 2535 ยึดถนนราชดำเนินเป็นครั้งแรก จราจรเป็นอัมพาตทั่วกรุงก็ไม่มีการปราบปราม
ผู้ก่อเหตุชุมนุมครั้งที่ 2 คืนวันที่ 17 มีการจุดชนวนความรุนแรง แต่ไม่ได้ลุกลาม ทางการก็ยังอดทนเฝ้าดูอยู่ แต่คืนวันที่ 18 เกิดเหตุจลาจลทั่วกรุง ประชาชนหวาดผวา ไม่รู้เหตุการณ์จะจบเมื่อใด จะให้ทหารนิ่งเฉยปล่อยให้บ้านเมืองเกิดมิคสัญญีไปเรื่อยๆ หรือ ทำไมความจริงที่ว่า ไม่มีผู้ก่อเหตุ ก็ไม่ต้องมีผู้ระงับเหตุ หายไปไหน ชาว จปร. ดูไม่ออกหรือ ใครคือผู้ทรยศต่อชาว จปร. และสถาบัน จปร. (มือเก่า)

“เดลิมิเรอร์” 10 กรกฎาคม 2535 “นักบุญใจบาป” โดย คนบ้านนอก

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่าเชื่ออะไรด้วยการคาดคะเนด้นเดา แต่คุณจำลองกลับคาดการณ์เอาเองว่า จะต้องไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ รัฐบาลคงไม่จริงใจจะแก้ รธน. ทั้งๆ ที่ พล.อ.สุจินดา นายกฯ พูดปาวๆ ว่า เห็นด้วย สภาจะเอายังไงก็จะทำตามนั้น คุณจำลองก็ยังดึงดัน เรียกคนมาตายจนได้

พอเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นแล้ว ก็แก้ตัวว่าเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งเท่านั้น ทำไมคุณจำลองพูดกลับกลอกอย่างนี้ วันที่เลิกอดข้าว ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คุณจำลองได้พูดว่า ผมจะต้องเป็นผู้นำในการต่อสู้ ถึงจะเรียกศรัทธาจากประชาชนได้ ไม่งั้นเราไม่มีทางชนะ…

ฝ่ายรัฐบาลเขายังยอม นายกฯ ยอมลาออก แต่คุณจำลอง นักปฏิบัติธรรม บอกว่าไม่ได้ จะต้องเอาผิดกับทหารให้ได้ จะต้องหาคนฆ่าประชาชนมาลงโทษให้ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็ทรงขอร้อง คุณจำลองไม่สงสารพระองค์ท่านบ้างหรือ ทำไมไม่รู้จักจบสิ้น

คุณจำลองบอกว่า ต่อสู้แบบอหิงสา จริงๆ แล้วไม่ใช่ รถออกวิ่งประกาศด่า พล.อ.สุจินดาด้วยถ้อยคำที่สุดจะหยาบคาย ไปชุมนุมกันกลางถนน รถราติดกันวินาศ ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส นี่หรือคือ อหิงสา

ก็ อหิงสา จำลอง (มือเก่า)

“สยามรัฐ” 28 ธันวาคม 2536 “คิดจากข่าว” โดย ประจวบ ทองอุไร

ความจริง การเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในสมัยนั้น เป็นการปฏิบัติตามวิถีทางของ รธน. คือได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ 5 พรรค รวมกันเป็นเสียงข้างมากในสภา การที่มีประชาชนหรือกลุ่มพลังบางกลุ่มชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดาลาออก พล.อ.สุจินดาลาออกก็ได้ แต่ใช้วิธีการยุบสภา เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

แต่ปรากฏว่า พล.อ.สุจินดากลับเลือกเอาวิธีลาออกทั้งๆ ที่มีเสียงสนับสนุนฝ่ายข้างมากในสภา และภายนอกก็มีกองทัพสนับสนุน ขนาดกล่าวได้ว่า เป็นปึกแผ่นมั่นคง ยิ่งกว่ารัฐบาลชุดใดๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ และ พล.อ.เปรม ก็ตาม

การที่ พล.อ.สุจินดา เลือกตัดสินใจด้วยวิธีลาออก ในความเห็นของผม จึงถือว่าเป็นการแสดงถึงความกล้าหาญ และการเสียสละอย่างสูง และน่าสรรเสริญ เพราะนักการเมืองที่ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ เมืองไทย น้อยคนนักที่จะกล้าตัดสินใจเช่นนั้น แม้จะเป็นนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ก็หาผู้ที่จะตัดสินใจเช่นนั้นได้ยาก ในทางตรงข้าม มักพยายามทุกวิถีทาง ที่จะรักษาเก้าอี้ หรือตำแหน่งทางการเมืองเอาไว้ให้นานที่สุด

กำลังใจ แด่ พล.อ.สุจินดา (มือเก่า)