บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน23)

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22
โดย “มือเก่า”

“สถานการณ์” 16-22 ตุลาคม 2535
คอลัมน์ “ลมพัดใบไม้ไหว”

จดหมายจากผู้อ่าน “ชาวบ้านอ่านกฎหมาย”

หาก พ.ร.ก. ไม่ผ่านการอนุมัติของสภา ผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม ความไม่สงบ การจลาจล กบฏภายในราชอาณาจักร ที่ต่อเนื่องถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2535 ก็จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามนำตัวมาดำเนินการสอบสวน ส่งเรื่องให้อัยการฟ้องศาล ข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 138, 140, 116, 218 และ 113 เรียงตามระวางโทษเบาถึงสูงสุด (ประหารชีวิต)

ผู้กระทำความผิดตาม ปอ. มาตรา 336 นายสุทัศน์ พูนลำพู สมาชิกพรรคพลังธรรม ผู้ซึ่งฉกฉวยวิทยุมือถือของตำรวจ สน.นางเลิ้ง ขณะเผา สน. นั้น หาก พ.ร.ก. ไม่ผ่านสภาก็จะถูกดำเนินคดีเพิ่มข้อหา ตามมาตรา 218 เรื่องนี้ พ.อ.ชินวุธ สุนทรสิมะ เลขาธิการพรรคพลังธรรม มีหนังสือถึงตำรวจ ขอให้ปล่อยตัวนายสุทัศน์ โดยอ้าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ ตำรวจตอบว่าความผิดตามมาตรา 336 ไม่เกี่ยวกับการชุมนุม การจลาจล การเผา สน.นางเลิ้ง เป็นความผิดทางอาญา มาตรา 336 จึงไม่อยู่ในกรอบ พ.ร.ก. นี้

หากจะมีผู้ฟ้องร้องฝ่ายปราบปราบ ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ฝ่ายผู้สั่งการปราบปรามก็จะอ้าง พ.ร.บ. ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 วรรคสอง และมาตรา 299 วรรคสอง คือ ได้รับการยกเว้นโทษ เพราะกระทำตามกฎหมาย ที่ระบุให้รักษาความสงบ

…ผู้ที่จะฟ้องแพ่งนั้น หาทางชนะยาก เพราะผู้บาดเจ็บนั้น คือผู้กระทำความผิดตาม ปอ. มาตรา 215, 216 ย่อมไม่มีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย เฉกเช่นตำรวจทำวิสามัญฆาตกรรม ทายาทไม่มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหายเอาจากตำรวจ กรณีผู้ถึงแก่ชีวิต

รุมถล่ม พล.อ.สุจินดา เรื่องออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม แล้วผู้ต่อต้านก็ได้ประโยชน์ จากหลักฐาน พ.อ.ชินวุธ สุนทรสิมะ อ้าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ ไปขอให้ตำรวจปล่อยตัวคนของพรรคพลังธรรมที่ถูกจับข้อหาเผา+ขโมยของ สน.นางเลิ้ง

“มติชนสุดสปัดาห์” ฉบับที่ 1886 หน้า 21
“หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว” โดย มุกดา สุวรรณชาติ

มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 7 ตุลาคม 2535 ที่ประชุมได้ลงมติ ไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมของรัฐบาลเก่า

28 ตุลาคม 2535 รัฐบาลชวน ส่งคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อ พ.ร.ก. ตกไป จะมีผลย้อนหลังต่อการนิรโทษกรรมหรือไม่ 9 พฤศจิกายน 2535 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก. มีผลนับแต่วันที่ออก คือ 23 พฤษภาคม 2535 และการพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิงนั้น ย่อมมีอยู่ตลอดไป โดยไม่ถูกกระทบกระเทือนจากการที่พระราชกำหนดฉบับนี้ตกไป…เพราะ พ.ร.ก. มีผลเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.

คนทั่วไปอาจเห็นว่า ทหารคือรั้วของชาติ ต้องพลีชีพเพื่อให้เราอยู่สบาย แต่นักประชาธิปไตย หรือนักวิชาการบางท่าน มักจะมองทหารในอีกมุมหนึ่ง คือเห็นทหารเป็นผู้มีอำนาจ และอาจใช้อำนาจในทางมิชอบ แต่ความจริง พลเรือนผู้มีอำนาจ อิทธิพล และเงิน ก็สามารถใช้อำนาจในทางมิชอบจนชาติพังได้เช่นกัน เช่น ใช้อำนาจกลบเกลื่อนความผิด หรือกลับผิดให้เป็นถูก หรือล้มรัฐบาลได้

“ข่าว” 25 พฤษภาคม 2535 ฉบับที่ 1 หน้า 3
หัวข้อ “เสรีไทย 92”

ในช่วงต้นของเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม มีการประกาศตั้งเสรีไทย 1992 ขึ้นมาที่ลอนดอน โตเกียว วอชิงตัน ดี.ซี. และที่ลอสแองเจลิส เสรีไทย ที่ประกาศว่า จะดำเนินการกู้ชาติ กู้ประชาธิปไตยนั้น เป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปว่าใครเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ ที่สามารถติดต่อกับคนไทยที่อยู่ต่างแดนด้วยกัน ดำเนินการประกาศจัดตั้งได้ทันทีและมีการประสานงาน อย่างที่ทำให้คนไทยในประเทศต้องขนลุก เมื่อรู้ข่าวว่า บ้านเมืองของเรา สถานการณ์ถึงขั้นที่จะต้อง “กู้ชาติ” กันแล้วหรือนี่

“เสรีไทย” ตัวจริง เป็นขบวนการที่จัดตั้งขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อรัฐบาลไทยจำยอมต้องเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในขณะที่ “เสรีไทย” ร่วมมือกับชาติตะวันตก ดำเนินการใต้ดินต่อสู้กับประเทศญี่ปุ่น ทำให้ประเทศรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น แต่ “เสรีไทย” ครั้งนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อฟาดฟันกับคนชาติเดียวกัน!

“เดลิมิเรอร์” 27 พฤษภาคม 2535

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นพ.เหวง โตจิราการ นายสมศักดิ์ โกไสยสุข … ตัวแทนสมาพันธ์ประชาธิปไตย ได้ยื่นหนังสือถึงรักษาการนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายวิษณุ เครืองาม เพื่อขอให้ดำเนินการให้ ผบ.สูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทอ. พ้นจากตำแหน่ง

นพ.สันต์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ประชาชนชุมนุมอย่างสันติ บุคคลดังกล่าวในฐานะ ผอ.รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และ ผอ.กองกำลังรักษาพระนคร จะต้องแสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงควรให้พ้นจากทุกตำแหน่งโดยทันที และให้นำผู้สั่งการให้มีการสังหารหมู่ประชาชน มาลงโทษต่อไป

ต่อมา ตัวแทนสมาพันธ์ได้ยื่นหนังสือต่อ นายอนันต์ อนันตกุล ปลัดมหาดไทย เรียกร้องให้ค้นหาผู้สูญหาย ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์จลาจลโดยด่วน และให้ทำความกระจ่างให้ได้ ว่ามีการขนศพผู้เสียชีวิตไปทำลายที่ใด รวมทั้งนำผู้สั่งการมาลงโทษ ชดใช้ค่าเสียหายตามกฎหมายบ้านเมือง

ก่อนหน้านี้ ตัวแทนดังกล่าวได้ไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา เพื่อคัดค้านไม่ให้ 5 พรรคร่วมรัฐบาล เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลอีก นอกจากนี้ ยังได้ไปยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการ ผบ.สูงสุด ผบ.ทหารอากาศ ผบ.ทหารบก พ้นจากตำแหน่ง และนำมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองด้วย

นางประทีป กล่าวว่า ควรให้ผู้ที่สั่งการสังหารประชาชนเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหาย แทนการนำภาษีประชาชนมาจ่าย และเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยปล่อยผู้ชุมนุม ที่ยังถูกขังอยู่ตาม สน. ต่างๆ เช่น สน.ดุสิต 32 คน ออกมาโดยเร็ว ทางด้าน นพ.เหวง เรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติต่อผู้เสียชีวิตให้เหมือนวีรชน

ดูเหมือนสมาพันธ์ประชาธิปไตย จะบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ การก่อการจลาจล แปลว่า การชุมนุมอย่างสันติ หรือ

คืนวันที่ 17 พฤษภาคม ก็มีการเผาสถานที่ราชการ เผารถตำรวจ รถดับเพลิง แล้วก็หยุดไม่ลุกลามบานปลาย รัฐบาลจึงไม่ใช้ความรุนแรง แต่คืนวันที่ 18 มีขบวนจักรยานยนต์ออกอาละวาด ก่อการจลาจลทั่วกรุง ทางการจำเป็นต้องระงับเหตุ เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ทหารที่ถือปืนอยู่ระงับเหตุได้อย่างไร และใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ ระหว่าง :-

1. ผู้ก่อเหตุ ที่ต้องการขับไล่รัฐบาล พล.อ.สุจินดา ไม่ยอมใช้วิธีเจรจาแก้ รธน. ตามกติกาประชาธิปไตย แต่กลับใช้วิธีปลุกระดมประชาชน ออกมากดดันบังคับให้ พล.อ.สุจินดา ออกทันที ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย เสียหาย ประชาชนเป็นอันตราย เพราะการชุมนุมบานปลายกลายเป็นจลาจล
2. ผู้ระงับเหตุ เมื่อเกิดเหตุจลาจล เผาทำลายทั่วกรุง รัฐบาลก็รู้ดีว่า ถ้ารัฐบาลปราบปราม รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถวางเฉย ปล่อยให้บ้านเมืองพังพินาศไปเรื่อยๆ

“สยามรัฐ” 13 กรกฎาคม 2535
“ซอยสวนพลู” โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

สยามรัฐ วันที่ 10 กรกฎาคมนี้ ได้พาดหัวข่าวว่า “อานันท์สั่งยุบ หน่วยทหารประชาชน” เป็นถ้อยคำที่ค่อนข้างจะร้ายแรงสำหรับทหารของไทย ซึ่งไม่เคยมีประเพณีอย่างใด ที่จะปราบประชาชนเลย ถ้าข่าวนี้บอกว่าปราบจลาจล จะฟังดูเข้าที และตรงต่อความจริงมากกว่า

ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น ประชาชนได้เข้าเผา 1.โรงพักนางเลิ้ง 2.กรมสรรพากร 3.กรมประชาสัมพันธ์ เผาป้ายรถเมล์ และทำอันตรายต่อสมบัติสาธารณะต่างๆ อย่างนี้ไม่เรียกว่าจลาจล จะเรียกว่าอะไร?

นอกจากยุบแล้ว ยังมีการย้ายตามมา เป็นการสั่งย้ายกราวรูดนายทหารระดับผู้นำกองทัพ เช่น พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.สูงสุด ถูกย้ายไปเป็นจเรทหาร ถือว่าเป็นการ “ลดขั้น” ใช่หรือไม่ และแสดงว่า รัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน ได้สนองตอบต่อข้อเรียกร้องของสมาพันธ์ประชาธิปไตยแล้ว ใช่หรือไม่

“เดลิมิเรอร์” 23 กุมภาพันธ์ 2537
คอลัมน์ “ศอกกลับ”

กรณีนายเด่น หรือนายวีรพล มาภัย ที่ร่วมแก๊งยาเสพติด ข่มขืนแล้วคว้านท้องฆ่าเปลือยผู้หญิงที่จรัญสนิทวงศ์ ซอย 13 บางกอกใหญ่ ไอ้หมอนี่ถูกยิงไส้ทะลักในเหตุการณ์พฤษภากาลี ถ้าตายลงในเหตุการณ์ ก็คงกลายเป็นวีรชนไปอีกคน เป็นที่เคารพสักการะของพวกคลั่งประชาธิปไตย มีอนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สถาน เป็นที่ระลึกให้

มีแต่ผู้ด่าว่าทหาร โหดร้าย
แต่ผู้เผาบ้านเผาเมือง ถูกยกย่องให้เป็น
วีรชน!