ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ปราสาทนครวัด สร้างขึ้นโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1656-1688 หรือ 1693) โดยชื่อ “นครวัด” นี้ เป็นชื่อที่คนในยุคหลังเรียก หลังจากที่มีการใช้งานปราสาทหลังนี้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อหลายร้อยปีหลังจากแรกสถาปนาปราสาทหลังนี้ไปแล้ว
เพราะชื่อที่แท้จริงของปราสาท ที่ใครต่อใครรู้จักกันในนามของปราสาทนครวัดนั้น มีปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของพวกเขมรโบราณว่า “บรมวิษณุโลก” ต่างหาก
ชื่อก็ระบุอยู่ทนโท่นะครับว่า ปราสาทหลังนี้คือ “โลก” ของ “พระวิษณุ” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “พระนารายณ์” แต่เดิมทีปราสาทหลังนี้จึงสร้างขึ้นเพื่อถวายพระนารายณ์ เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
แต่นอกเหนือจากที่จะสร้างขึ้นให้กับเทพเจ้าของพ่อพราหมณ์เขาแล้ว ปราสาทหลังนี้ยังสร้างขึ้นตามคติ และพิธีกรรมใน “ลัทธิเทวราช” ซึ่งเป็นลัทธิความเชื่อพื้นเมืองของอุษาคเนย์ ที่โดยเนื้อแท้แล้วคือ แนวคิดเรื่องผีบรรพชน แต่ได้อิมพอร์ตเอาเทพเจ้าจากอินเดียและพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มาใช้เป็นฉากหน้า
ปราชญ์ผู้ล่วงลับอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยให้คำจำกัดความถึงลัทธิดังกล่าวไว้อย่างกระชับ และได้ใจความเอาไว้ในบทความที่ชื่อ “The Devaraja Cult and Khmer Kingship at Angkor” (ลัทธิเทวราชและความเป็นกษัตริย์ของเขมร ที่เมืองพระนคร, ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2519) ว่า ลัทธิเทวราชเป็นอุดมการณ์ร่วมของชนชั้นนำและประชาชน เกี่ยวกับเรื่องความอุดมสมบูรณ์และผีบรรพชน โดยแสดงออกผ่านพิธีศพ
อ.นิธิได้อธิบายเพิ่มเติมเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นเดียวกันนี้อีกด้วยว่า “ผีบรรพชน” คือแหล่งที่มาของ “อำนาจแห่งชีวิต” ที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงให้แก่ชุมชนและผู้คนทั้งหลายได้ และผู้ที่จะนำพาและส่งถ่ายอำนาจแห่งชีวิตนั้นออกไปสู่ชุมชน หรือผู้คนอื่นๆ ได้ก็คือ “กษัตริย์” แต่กษัตริย์เมื่อยังมีชีวิตอยู่นั้นยังไม่ได้เป็น “เทวราช” จนกว่าจะเสียชีวิตลง
ดังนั้น พิธีศพตามความเชื่อนี้จึงต้องเป็นสัญลักษณ์ของ “เขาพระสุเมรุ” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตามความเชื่อของทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ โดยแสดงออกผ่านทางการสร้าง “ปราสาท” ที่ใช้ประดิษฐานรูปเคารพคือ “ศิวลึงค์” (แน่นอนว่า อาจเป็นรูปพระนารายณ์ หรือพระพุทธเจ้าก็ได้ แล้วแต่ว่ากษัตริย์องค์นั้นจะเลือกนับถือลัทธินิกายใดเป็นสำคัญ) ที่กษัตริย์ผู้ล่วงลับจะกลับเข้าไปรวมเข้ากับเทพเจ้า คืออำนาจแห่งชีวิตที่ช่วยสร้างความมั่นคง และความอุดมสมบูรณ์ให้กับชุมชน หรือราชอาณาจักรนั่นเอง
พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า การสร้างปราสาทในลัทธิเทวราช จึงเป็นการสถาปนาโลกหลังความตายให้กษัตริย์ผู้ล่วงลับ ได้กลับไปรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้า ดังนั้น จึงมีเคยมีปราชญ์ควงศัพท์เรียกปราสาทเขมรโบราณเหล่านี้ว่า “มฤตกาลัย” คือ “ศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อพิธีศพ” เลยทีเดียว
(แถมข้อมูลที่มีการค้นพบเพิ่มขึ้นในยุคหลังจากที่ได้ อ.นิธิเขียนบทความชิ้นที่ผมอ้างถึงนี้ ยังทำให้ทราบด้วยว่า พิธีกรรมในลัทธินี้ ยังทำเพื่อให้กษัตริย์ผู้ประกอบพิธีได้เป็นราชาเหนือเทพเจ้าทั้งหลายอีกด้วย)
ในกรณีของปราสาทนครวัดนั้น มีรูปเคารพประธานเป็นรูป “พระนารายณ์” อันเป็นเทวรูปที่ซึ่ง “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2” จะไปรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเมื่อสิ้นพระชนม์ชีพแล้ว ในนามของ “บรมวิษณุโลก” อันเป็นชื่อของตัวปราสาท อันเป็นทิพยวิมานของพระองค์ และตัวของเทวรูปอันเป็นสถิตย์ของดวงวิญญาณของพระองค์หลังความตายด้วย
ในเมื่อปราสาทนครวัด สร้างขึ้นเพื่อพิธีกรรมในลัทธิเทวราชแล้ว องค์ประกอบต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในตัวปราสาท ก็ย่อมมีความหมายในเชิงพิธีกรรมที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั่นแหละนะครับ
โดยเฉพาะลวดลายสลักที่ “ระเบียงคต” ของปราสาท อันเป็นลวดลายสลักที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของปราสาทนครวัด เพราะมีการสลักลวดลายอย่างละเอียดซับซ้อน
ปราสาทนครวัดสร้างอยู่บนแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านจะมีประตูทางเข้า-ออกอยู่ตรงกลาง จึงทำให้แบ่งผนังระเบียงคตที่สร้างล้อมรอบตัวปราสาทออกเป็นผนังละ 2 ด้าน รวมเป็นมีผนังระเบียงคตทั้งหมด 8 ด้าน
ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งมีหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าเป็นทิศที่เกี่ยวข้องกับความตาย (ที่ชวนให้นึกถึงคติการสร้างปราสาทเป็นมฤตกาลัย) ผนังระเบียงคตทางด้านหน้าของปราสาทจึงเป็นผนังทางด้านตะวันตกทั้ง 2 ผนังคือ ผนังมุมทางด้านทิศเหนือ และผนังมุมทิศใต้ ที่สลักรูปสงครามในอวตารครั้งสำคัญของพระนารายณ์ อันได้แก่ สงครามบนเกาะลงกาของพระราม ในมหากาพย์รามายณะ และสงครามในทุ่งกุรุเกษตร ในมหากาพย์มหาภารตะ ที่พระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะ ตามลำดับ
ถัดจากนั้นเป็นภาพสลักผนังทางด้านทิศใต้ที่มุมด้านทิศตะวันตกสลักเป็นรูปริ้วขบวนทหารของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ส่วนผนังมุมด้านทิศตะวันออกสลักรูปนรก-สวรรค์ ก่อนจะไปสิ้นสุดลงที่ภาพสลักที่ผนังทิศตะวันออก มุมด้านทิศใต้ที่สลักรูปการกวนเกษียรสมุทร
(ผนังด้านถัดจากนี้ก็มีที่สลักลวดลาย แต่เป็นงานสลักในชั้นหลังจากสมัยแรกสร้างนครวัด คือสลักในสมัยรัชสมัยของกษัตริย์เขมรยุคหลังเมืองพระนคร ที่มีพระนามว่า นักองค์จันท์ โดยสลักเสร็จเมื่อราว พ.ศ.2105 ดังนั้น ภาพสลักกลุ่มที่ถูกเพิ่มเติมขึ้นในยุคหลังนี้ จึงไม่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในลัทธิเทวราชเมื่อคราวสร้างปราสาทนครวัด และจะขอไม่กล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้)
จะเห็นได้ว่าภาพสลักเฉพาะในส่วนที่ถูกสร้างขึ้นในยุคแรกสร้างปราสาทนั้น ดูจะเข้ากันกับการสร้างปราสาทขึ้นเพื่อเป็น “บรมวิษณุโลก” คือ “โลกของพระวิษณุ” หรือพระนารายณ์ ที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จะเข้าไปรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหลังจากสิ้นพระชนม์แล้วที่นี่ โดยเฉพาะภาพของนรก-สวรรค์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของสภาวะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญอีกภาพหนึ่งคือภาพ “การกวนเกษียรสมุทร” เพื่อให้ได้มาซึ่ง “น้ำอมฤต” คือน้ำที่เชื่อกันว่าดื่มแล้วทำให้เป็นอมตะ ตามปรัมปราคติของพวกพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับสภาวะที่เกี่ยวข้องกับความตายด้วยเช่นกัน โดยมีหลักฐานด้วยว่าในอุษาคเนย์นั้นมีการจำลองการกวนน้ำอมฤตอย่างนี้ ออกมาเป็นพิธีด้วยการให้เจ้าหน้าที่มาแต่งตัวเป็นเทวดา และอสูรแล้วช่วยกันกวนเกษียรสมุทร
พิธีทำนองนี้มีชื่อปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ของกรุงศรีอยุธยาว่า “ชักนาคดึกดำบรรพ์” โดยคำว่า “ดึกดำบรรพ์” ในที่นี้ ไม่ได้แปลว่า เก่าแก่ หรือโบร่ำโบราณ แต่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตึ้กตะบัล” ในภาษาเขมร
“ตึ้ก” แปลตรงตัวว่า “น้ำ” ส่วน “ตะบัล” แปลว่า “ตำ” รวมความแปลว่า “ตำน้ำ”
รวมความแล้ว การชักนาคดึกดำบรรพ์ก็คือ การ “ชักนาคตำน้ำ” เป็นการจำลองเรื่องเล่าเทพปกรณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเรื่อง ‘การกวนเกษียรสมุทร’ ที่เทวดา และอสูรมาช่วยกันกวนทะเลน้ำนม (คือเกษียรสมุทร) เพื่อให้ได้น้ำอมฤตดังกล่าวนั่นแหละนะครับ เหมือนอย่างในภาพสลักที่ระเบียงคตของปราสาทนครวัดนั่นแหละครับ
ดังนั้น ถ้าในสมัยที่มีการสร้างปราสาทนครวัดจะมีการทำพิธีอย่างนี้ก็ไม่เห็นจะแปลก และถ้าในสมัยนั้นจะมีการทำพิธีการกวนเกษียรสมุทรเพื่อนำน้ำอมฤตมาให้ใครดื่มแล้ว ใครคนนั้นก็ย่อมต้องเป็นพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัดแน่
ภาพสลักอีก 2 ภาพคือภาพรามายณะ และมหาภารตะ นั้นหมายถึง วีรกรรมของพระราม และพระกฤษณะ ซึ่งต่างก็เป็นทั้งอวตารของพระนารายณ์ และตัวอย่างของกษัตริย์ที่มากด้วยบุญญาบารมีแน่ เมื่อพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายในการสร้างปราสาท ให้เป็นโลกที่กษัตริย์ผู้สร้างคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ไปรวมเข้ากับพระนารายณ์หลังสิ้นพระชนม์ ตามความเชื่อในลัทธิเทวราช
จะเหลือก็แต่ภาพขบวนทหารของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่ดูจะใช่ภาพสลักที่มีที่มาจากปรัมปราคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เหมือนอย่างภาพสลักอื่นๆ บนระเบียงคตของปราสาทหลังเดียวกันนี้
โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะอธิบายกันมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมแล้วว่า ภาพสลักดังกล่าว คือภาพขบวนทหารของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 โดยมักจะสันนิษฐาน (ศัพท์วิชาการของคำว่า เดา) กันต่อไปด้วยว่าเป็นขบวนสงครามไปรบกับพวกจาม
อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยสันนิษฐานไว้ว่า ภาพสลักนี้ เป็นหมู่ขบวนทหารจากเจ้าเมืองเครือญาติต่างๆ ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่มาเข้าร่วมพิธีกวนน้ำอมฤต ดังปรากฏในภาพการกวนเกษียรสมุทร ที่อยู่ท้ายสุดของระเบียงคต
เมื่อพิจารณาจากจุดมุ่งหมายในการสร้างปราสาทขึ้นตามคติในลัทธิเทวราชแล้ว ผมออกจะเห็นด้วยกับคำอธิบายของคุณสุจิตต์มากกว่าชุดคำอธิบายที่มีตั้งแต่ยุคอาณานิคม
แต่ผมอยากจะเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ไม่ว่าภาพสลักรูปนี้จะหมายถึงเหตุการณ์ตอนใดในช่วงชีวิตของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ก็ตาม จุดมุ่งหมายในการสลักภาพนี้สมควรเป็นไปเพื่อยกสถานะของกษัตริย์พระองค์นี้ให้เทียบเท่ากับพระราม และพระกฤษณะ กษัตริย์ที่มากด้วยบารมีและเป็นอวตารของพระนารายณ์ทั้งสอง ซึ่งถูกสลักไว้บนผนังระเบียงคตด้านก่อนหน้านี้
หมายความว่า การสลักรูปริ้วขบวนทหารของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่ปราสาทนครวัด ร่วมกับเกียรติภูมิในสงครามของพระราม และพระกฤษณะ เป็นการยกเกียรติยศของพระองค์ ให้เป็นอวตารของพระนารายณ์เช่นเดียวกัน และจะกลับไปรวมเข้ากับพระนารยณ์หลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่ต่างอะไรกับพระราม หรือพระกฤษณะ
และนั่นจึงหมายความด้วยว่า ภาพที่สลักอยู่บนผนังระเบียงคต อาจจะไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ต่างกับสงครามในปรัมปราคติบนเกาะลงกา และทุ่งกุรุเกษตร แต่เป็นภาพสลักที่มีจุดมุ่งหมายในเชิงพิธีกรรมเป็นสำคัญมากกว่า
เอาเข้าจริงแล้ว การแปลความภาพสลักที่ระเบียงคตปราสาทนครวัด ซึ่งไม่ควรมองแยกโดดๆ ขาดจากกันในแต่ละภาพ เพราะเมื่อพิจารณาจากจุดมุ่งหมายของการสร้างปราสาทในลัทธิเทวราชแล้ว ภาพสลักเหล่านี้มีความหมายในเชิงพิธีกรรม ที่จะยกพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ให้เป็นหนึ่งในอวตารของพระนารายณ์ และจะรวมเข้ากับพระนารายณ์หลังสิ้นพระชนม์ที่บรมวิษณุโลก คือปราสาทนครวัดนั่นเอง •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022