เสียงเตือนจาก ‘แบงก์โลก’

(Photo by Andrew CABALLERO-REYNOLDS / AFP)

ทั้งที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์โงหัวไม่ขึ้น สวนทางกับความเป็นไปของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่เริ่มฟื้น และพุ่งขึ้นแล้วจากช่วงที่กระทบด้วยสถานการณ์โควิด

เช่นเดียวกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังกระอักเลือด และผลประกอบการของธุรกิจโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ทรุดลงไปเรื่อย

แต่องค์กร หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นกลับมองกันคนละทิศ เห็นกันคนละทาง ก่อปัญหาขัดแย้งทำให้เหมือนขัดขาขัดแข้งให้เดินหน้าไม่ได้

รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นไปทุกด้าน ยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “ประเทศอยู่ในวิกฤต” จำเป็นต้องใช้ยาแรง ด้วยการเร่งนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

นายกรัฐมนตรี-เศรษฐา ทวีสิน เอาเป็นเอาตายกับการหาหนทางให้เงินไหลเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เข้ามา และเดินทางไปพบนักลงทุนทั่วโลกเชิญชวนให้เข้ามาลงทุน

เหมือนนายกรัฐมนตรีรู้ดีว่าหากยังสร้างกำลังซื้อให้กับประเทศไม่ได้ เศรษฐกิจจะทรุดลงและโอกาสฟื้นตัวจะยากขึ้นเรื่อยๆ

แต่หน่วยงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบโดยตรงกับประเทศ เพราะมีหน้าที่ในการตรวจสอบและควบคุมต่างมองไปอีกมุม โดยเห็นว่าประเทศยังไม่วิกฤตจนจำเป็นต้องทำอย่างที่รัฐบาลทำ นโยบายสำคัญของรัฐบาลจึงถูกสกัดให้เดินหน้าไม่ได้

ประเด็นคือ จริงๆ แล้วเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรกันแน่

 

ในเรื่องนี้ ธนาคารโลกเพิ่งทำรายงานที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยมา 2 ฉบับเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ฉบับแรก เป็นรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิกเดือนเมษายน 2024 มีการปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2.8 ตํ่าสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งรายงานถึงความอ่อนแอถูกประเทศที่เคยตามเราแซงหน้า ขยายตัวดีกว่า ฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 5.6 อินโดนีเซียร้อยละ 5 เวียดนามร้อยละ 5 ล้วนสูงกว่าไทยถึง 3 เปอร์เซ็นต์

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากโควิดช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านถึง 14 เปอร์เซ็นต์ในแง่ระดับการผลิต

ฉบับที่สอง “เปลี่ยนเกียร์ไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและความมั่งคั่งที่ทั่วถึง” (Shifting Gears : Toward Sustainable Growth and Inclusive Prosperity)

เป็นรายงานเฉพาะประเทศไทย แบบเจาะลึกปัญหาเชิงโครงสร้างและชี้ถึงความจําเป็นที่ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อปูทางไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและทั่วถึง

ธนาคารโลกให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าสุดในภูมิภาค เพราะพึ่งการท่องเที่ยวและการส่งออกมาก ขณะที่การลงทุนในประเทศ ความสามารถหรือผลิตภาพการผลิตของประเทศลดลง ซํ้าเติมด้วยปัญหาสังคมสูงวัย

ทําให้ความอ่อนแอได้ผ่านมาถึงจุดที่จะรุนแรงมากขึ้น จากนี้ไปเศรษฐกิจไทยจะเป็นขาลงต่อเนื่อง

ธนาคารโลกชี้ว่าทางออกคือการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อดึงเศรษฐกิจกลับสู่เส้นทางการขยายตัวที่เข้มแข็ง

 

รายงานนี้ ธนาคารโลกแนะให้จัดการ 5 เรื่อง

1. การศึกษา ต้องสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะและความรู้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

2. สร้างภาคการผลิตที่เข็มแข้ง ในนวัตกรรมและเทคโนโลยี

3. สิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อเศรษฐกิจ โดยเน้นความยั่งยืนของภาคเกษตรและการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบ

4. ภาวะโลกร้อน โดยใช้พลังงานและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

5. ปฏิรูประบบราชการเพื่อให้ประเทศสามารถเผชิญกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้ง 5 เรื่องที่ธนาคารโลกแนะนำให้ทำนี้ ล้วนแล้วแต่จำเป็น ต้องเป็นการจัดการกับโครงสร้างอำนาจ เพราะที่เป็นอยู่ไม่มีทางที่จะจัดการเรื่องเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงจัง

ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย สำหรับรัฐบาลผสมที่ถูกกำหนดให้ทำงานโดยไม่แตะโครงสร้างอำนาจ และต้องไม่แก้ไขกติกาที่ระบบสืบทอดอำนาจออกแบบไว้

และนี่คือความยุ่งยาก เนื่องจากเป็นต้นเหตุการเดินไปคนละทางของหน่วยงานที่ต้องจัดการปัญหาประเทศ