ปลัดกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ ร่วมให้การต้อนรับ คุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในโอกาสชื่นชมพระอัจฉริยภาพ

ปลัดกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ ร่วมให้การต้อนรับ คุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในโอกาสชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในนิทรรศการ “Sustainable Fashion” ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง

วันนี้ (17 เม.ย. 67) เวลา 14.30 น. ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ให้การต้อนรับคุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert พร้อมด้วย Mr. Laurent Dhennequin ผู้อำนวยการคณะกรรมการ Comité Colbert สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายบุญญฤทธิ์ วิเชียรพันธุ์ อัครราชทูต ณ กรุงปารีส และนายณัฐพงศ์ โชติกเสถียร ผู้อำนวยการวิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ ในโอกาสเยี่ยมชมนิทรรศการ “Sustainable Fashion” โครงการตามแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และคณะ ร่วมให้การต้อนรับ

“นับเป็นโอกาสดีที่ชาวมหาดไทยได้ร่วมกันต้อนรับคุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert และคณะ ในการเข้าชมนิทรรศการ “Sustainable Fashion” โครงการตามแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นนิทรรศการสะท้อนพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เกิดจากพระกตเวทิตาคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทั้งนี้ การเยี่ยมชมนิทรรศการฯ ของ Comité Colbert ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เป็นตัวแทนส่งเสริมและรักษาผลประโยชน์ของแบรนด์สำคัญ ๆ ของฝรั่งเศส โดยสมาชิกของ Comité Colbert ประกอบด้วยสมาชิกประเภทเเบรนด์สินค้าชั้นนำ 93 เเบรนด์ สถาบันทางวัฒนธรรม 18 สถาบัน และแบรนด์สินค้าชั้นนำจากประเทศอื่นในยุโรป 6 แบรนด์ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนางานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้วยการสนองพระมหากรุณาธิคุณในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณีกิจในด้านการส่งเสริมงานหัตถศิลป์หัตถกรรมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการทรงลงมาปฏิบัติภารกิจงานด้านศิลปาชีพและดูแลการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา โดยทรงนำความรู้ด้านผ้าและเครื่องแต่งกายตลอดจนประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นมาพัฒนาการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ผ้า ฯ ซึ่งพระองค์ทรงเอาพระทัยใส่รายละเอียดในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อให้นิทรรศการออกมางดงามสมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มากที่สุด สะท้อนผ่านพระดำรัสตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าของข้าพเจ้า ในการเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงศักยภาพในการถักทอผืนผ้าและสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์พื้นถิ่นตามภูมิปัญญาบรรพบุรุษของขาวนาชาวไร่ จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการสนับสนุนให้เป็นอาชีพเสริมยามว่างเว้นจากฤดูการเกษตร โดยเฉพาะงานสร้างสรรค์เครื่องจักสาน ที่นำวัสดุพื้นบ้านมาสร้างสรรค์ให้เป็นงานหัตถศิลป์ชิ้นงาม พระองค์ได้ทรงจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้และฝึกฝนการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องจักสานไทยอันทรงคุณค่าที่จัดเป็นมรดกของชาติมิให้เสื่อมสูญไปตามกาลเวลา”
.
“ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตระหนักว่าในยุคปัจจุบันงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทรงคุณค่าได้รับผลกระทบจากกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ ทำให้งานหัตถศิลป์ที่ทรงคุณค่าของชาติมีบทบาทลดน้อยลง ภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่จัดเป็นความคิดทางสังคมได้ถูกละเลย สะท้อนผ่านใจความตอนหนึ่งของพระนิพนธ์คำนำในหนังสือตามแนวพระดำริผ้าไทยใส่ให้สนุก และ Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน “เครื่องสานไทย : Wicker Wonder” ความว่า “ภูมิปัญญาเครื่องจักสานไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เป็นเครื่องบ่งชี้เอกลักษณ์และเป็นเครื่องชี้วัดความเจริญและพัฒนาการของชาติ เพราะภูมิปัญญานี้เป็นสิ่งละเอียดอ่อน มีเพียงแต่ชาติที่เจริญแล้ว มีสังคมที่เป็นอิสระและสงบสุขร่มเย็นเท่านั้น จึงจะสามารถสร้างสรรค์และสั่งสมภูมิปัญญาเฉพาะตนขึ้นมาได้” ทั้งนี้ เครื่องจักสาน เป็นงานหัตถกรรมที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นจากการสั่งสมและถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นถิ่นมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน สะท้อนองค์ความรู้ ความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ด้วยการนำทรัพยากรทางธรรมชาติใกล้ตัวมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งของเครื่องใช้ เริ่มจากกระบวนการที่เรียบง่ายสู่ความละเอียดประณีต อาทิ ภูมิปัญญาการสานเชือกกล้วย การสานเส้นใยตาลโตนด การสานเสื่อกระจูด การสานเสื่อต้นแหย่ง การสานย่านลิเภา การสานไม้ไผ่ การสานต้นกก การสานใบตาล การสานเส้นใยผักตบชวา การสานหวาย และการสานใบลาน ซึ่งล้วนสะท้อนคุณค่าทั้งทางด้านความงดงามในเชิงศิลปะและประโยชน์ใช้สอย สร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนและชุมชน ตลอดจนถึงระดับประเทศ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
.
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตระหนักถึงความสำคัญของคำว่า “Sustainable Fashion” ด้วยการพระราชทานพระดำริให้กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยร่วมกับคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกเพื่อมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้นำองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จักสานสู่เชิงพาณิชย์จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วมที่สามารถสร้างพลังสร้างสรรค์หรือ Soft Power ซึ่งจะนำไปสู่การส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพราะงานจักสานไทยผลิตจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยทุกผลงานของผู้ประกอบการอันเกิดจากแนวพระดำริที่ได้นำมาจัดแสดงในวันนี้ล้วนได้รับเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion: แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” เป็นเครื่องหมายที่ทรงออกแบบเครื่องหมายเป็นภาพตัวอักษร S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระผู้ทรงเป็นดั่งแสงสว่างบนเส้นทางแห่งการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์ไทย และยังหมายถึง Sustainable คือ แนวพระราชดำริแห่งความยั่งยืนในทุกมิติ ที่สร้างชีวิตที่ดีให้แก่ราษฎร ทรงออกแบบ ให้มีตัวอักษรข้อความ Sustainable Fashion ล้อไปกับตัวอักษร S หมายถึงแนวพระราชดำริ “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ที่ทุกกระบวนการสร้างสรรค์ผืนผ้า และงานหัตถกรรมล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบเดียวของเรา และทรงออกแบบรูปหัวใจประดับไว้ที่ส่วนต้น กลาง และปลาย ของข้อความ Sustainable Fashion ด้วยทรงปรารถนาให้ผู้สร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมนำแนวพระดำรินี้ ไปต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

“กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทยได้น้อมนำแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตราชกัญญา ขยายผลขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน ให้ตระหนักถึงคุณค่าของการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญา “เครื่องจักสานไทย” ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน จึงได้จัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมชุมชนจักสานสู่ตลาดสากล ภายใต้โครงการตามแนวพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ การออกแบบผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมจักสานให้กับพี่น้องประชาชน มีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลัก และได้รับการอนุเคราะห์สนับสนุนจากคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริฯ ที่ประกอบด้วย นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา มาร่วมพัฒนาวิธีการผลิตชิ้นงานจักสาน ทั้งเทคนิคการสาน การย้อมสี การขึ้นรูป และการประกอบรูปทรงที่แตกต่างในงานหัตถกรรมจักสาน ผสมผสานกับแนวคิดและวิธีการผลิตของศิลปินท้องถิ่นที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อันจะนำไปสู่การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์งานจักสานไทยที่ร่วมสมัย ตรงใจกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นแรงบันดาลใจให้กับช่างหัตถกรรมและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ ในการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมอันทรงคุณค่าได้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของงานหัตถกรรมไทยที่มีต่อวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพระกรุณาคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีต่อปวงพสกนิกรชาวไทย ที่พวกเราทุกคนขอน้อมนำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนตลอดไป” ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน คุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์หัตถกรรมประเทศไทย อาทิ “ความท้าทายในการเพิ่มมูลค่าให้กับงานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย” ด้วยการค้นหาความเชี่ยวชาญในพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นสินค้าและต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ให้กับสินค้า “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ประกอบการ” ในการทำให้สินค้าหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยสามารถรักษาคุณภาพและพัฒนามาตรฐาน เพื่อคงไว้ซึ่งสถานะของการเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ตลอดไป “การรักษาคุณภาพของสินค้าให้อยู่ในระดับที่สูงที่สุดเท่านั้น” และ “การพัฒนามาตรฐานให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ด้วยการพัฒนาเทคนิคการผลิตตามการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานให้เป็นที่หนึ่งตลอดไป