ปัญหาการจำกัดสิทธิและขยายสิทธิ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในระบบการเลือกสรร ส.ว. 2567

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

สัปดาห์ที่แล้วผมได้เขียนบทความลงในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 2278 เรื่อง “ส.ว.67 เป็นตัวแทนของอะไร เจตจำนงของกลุ่มใด ปากเสียงของใคร แล้วเลือกไขว้ไปเพื่ออะไร” โดยชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของระบบการเลือกสรร ส.ว.67 ว่ามีปัญหาเรื่องการเป็นตัวแทนเจตจำนงของกลุ่มอาชีพอย่างไรบ้าง

ตามลิงก์ https://www.matichonweekly.com/column/article_761355

สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงปัญหาของการจำกัดสิทธิและการขยายสิทธิที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยสมัยใหม่ (Modern Democracy) ได้รวมเอาแนวคิดของเสรีนิยมเข้ามาด้วย ทำให้เกิดเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบเสรี (Liberal Democracy) อย่างที่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งแยกย่อยได้อีกหลายประเภท

แต่ไม่ว่าประเภทใดก็ล้วนแล้วแต่วางอยู่บนหลักการพื้นฐานร่วมกันอยู่ 2 ประการ คือ

(1) หลักเสรีภาพ (Liberty) ประชาชนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้

และ (2) หลักเสมอภาค (Equality) ประชาชนมีสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามีตำแหน่งทางการเมืองเหมือนกัน แต่มีสิทธิในการออกเสียงที่เท่ากัน หรือ “1 สิทธิ 1 เสียง” (one man, one vote)

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าระบบการเลือกสรร ส.ว.67 ได้วางกติกาที่ละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตยในหลายแง่มุม

ดังต่อไปนี้

 

1. ทำไมต้องกำหนดอายุผู้สมัครให้ไม่ต่ำกว่า 40 ปี

การกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัครและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นสิ่งที่มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เช่น ส.ส.ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี รัฐมนตรีต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปี หรือแม้กระทั่งผู้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี เป็นต้น

ฉะนั้น การกำหนดอายุขั้นต่ำไว้เป็นคุณสมบัติจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะระบุตัวเลขออกมาเป็นอย่างไรก็ได้ แต่ต้องมีเหตุผลรองรับด้วย

ลำพังการกำหนดคุณสมบัติไม่สามารถอ้างความชอบธรรมได้โดยอัตโนมัติ หากไม่มีเหตุผลอันมีน้ำหนักมาอธิบายว่าเพราะอะไรถึงกำหนดตัวเลขอายุขั้นต่ำเช่นนั้น

แล้วระบบเลือกสรร ส.ว.ครั้งนี้มีเหตุผลใดในการกำหนดอายุผู้สมัครให้เป็นอย่างน้อย 40 ปี

ส.ว.มีบทบาท อำนาจ หน้าที่พิเศษกว่าตำแหน่งทางการเมืองอื่นอย่างไรจึงต้องการคนที่มีอายุมากกว่าตำแหน่งอื่น

ทำไมถึงต้องเพิ่มเกณฑ์อายุที่มากกว่า ส.ส. และรัฐมนตรี

เหตุผลข้อนี้จำเป็นต้องอธิบายและชี้แจงให้กระจ่าง มิฉะนั้นก็อาจเป็นการลิดรอนหรือจำกัดสิทธิทางการเมืองของประชาชนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรได้

 

2. ทำไมต้องเก็บเงินค่าสมัครและทำไมค่าสมัครต้องเป็น 2,500 บาท

คำถามที่ว่าทำไมต้องเก็บค่าสมัครอาจไม่ใช่ปัญหาเท่าใดนัก เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีการเก็บค่าสมัครในตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ อยู่แล้ว

เช่น ส.ส. 10,000 บาท, ผู้ว่าฯ กทม. 50,000 บาท, นายก อบจ. 30,000 บาท, นายกเทศมนตรีนคร 10,000 บาท, นายกเทศมนตรีเมือง 8,000 บาท, นายกเทศมนตรีตำบล 5,000 บาท, นายก อบต. 2,500 บาท, สมาชิกสภา อบจ. 2,000 บาท, สมาชิกสภา อบต. 1,000 บาท เป็นต้น

เมื่อเทียบกับตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติเหมือนกัน การกำหนดอัตราค่าสมัคร ส.ว. 2,500 บาท จึงดูไม่แพงและไม่น่าเป็นประเด็นให้ถกเถียงมากมาย

แต่ตำแหน่ง ส.ส.นั้นมาจากการเลือกตั้งทั่วไปจากประชาชน อัตราค่าสมัคร ส.ส. แม้สูงกว่าค่าสมัคร ส.ว.ก็จริง ทว่า ไม่ได้ทำให้สิทธิทางการเมืองของประชาชนสูญเสียไปด้วย

ผู้สมัคร ส.ส.นั้นอาสามาเป็นตัวแทนของประชาชน ส่วนประชาชนที่ไม่ได้เสนอตัวเข้ามาทำงานก็ยังคงมีสิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส.อยู่ ดังนั้น สิทธิทางการเมืองของประชาชนในการร่วมพิจารณาตัวแทนของตนในตำแหน่งนี้จึงไม่ได้หายไปไหน

ต่างกับการสรรหา ส.ว.67 ที่ผู้ไม่ได้ลงสมัคร ส.ว. จะไม่มีสิทธิเลือก ส.ว. และไม่มีแม้กระทั่งสิทธิในการเข้าไปสังเกตการณ์การนับคะแนนด้วย

เท่ากับเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองของประชาชนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

การสมัคร ส.ว.นั้นจะกำหนดค่าสมัครเป็นกี่บาทก็ตาม สิทธิของประชาชนในการเลือกผู้แทนของตนจะต้องไม่หายไป หากมีค่าสมัคร สิทธิการเลือกตั้งของประชาชนต้องไม่หาย แต่ถ้าจำกัดหรือระงับสิทธิการเลือกตั้งของประชาชน เงินค่าสมัครจะไปเก็บไม่ได้

กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ หากกำหนดให้มีแต่เพียงผู้สมัคร ส.ว.เท่านั้นที่มีสิทธิเลือก ก็ไม่อาจเก็บเงินค่าสมัคร ส.ว. เนื่องจากสิทธิในการออกเสียงเพื่อส่งตัวแทนของตนเข้าไปในรัฐสภาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่ว่าสูงต่ำดำขาว ยากดีมีจนอย่างไรก็ต้องมีอยู่อย่างเสมอหน้า มิใช่กันไว้แต่เพียงคนที่มีกำลังทรัพย์เท่านั้น

การกำหนดค่าสมัคร ส.ว.เช่นนี้จึงจำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับที่มีน้ำหนักเพียงพอและสามารถอธิบายให้เกิดการยอมรับ มิฉะนั้นก็ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมทางการเมืองได้

 

3. เพราะอะไรจึงกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเช่นนี้ และเหตุใดจึงมีแต่ผู้สมัครเท่านั้นที่มีสิทธิเลือก

นอกจากการจำกัดสิทธิของประชาชนผ่านทางการจ่ายเงินค่าสมัครแล้ว ยังมีการจำกัดสิทธิผ่านการกำหนดคุณสมบัติให้ไม่สามารถลงสมัครได้อีกด้วย

ลักษณะเช่นนี้มีปรากฏให้เห็นอยู่หลายข้อ เพียงแต่ว่าในส่วนนี้อาจไม่เป็นประเด็นปัญหามากนัก เพราะดูจะมีเหตุผลรองรับที่เข้าใจได้

แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงทิ้งปมบางประการไว้อย่างน่าฉงนอยู่ดี

เช่น การห้ามข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจลงสมัคร

หากต้องการลงสมัครต้องลาออกก่อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเมื่อคุณสมบัติข้อนี้ไปบวกกับคุณสมบัติเรื่องอายุขั้นต่ำ ก็ทำให้บุคลากรภาครัฐเกือบทั้งหมดไม่สามารถลงสมัครได้

เนื่องจากวัย 40-60 ปี ซึ่งเป็นช่วง 20 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุนั้น บทบาทหน้าที่การงานของแต่ละคนจะขึ้นไปสูงจนแทบไม่มีใครกล้าลาออกเพื่อสมัคร ส.ว. หรือมาเสนอตัวในสนามที่หาความแน่นอนไม่ได้

สิ่งที่ตามมาก็คือ ทำให้กลุ่มที่มีความพร้อมในด้านศักยภาพและประสบการณ์จำนวนมหาศาลถูกตัดออกไปจากระบบทั้งในฐานะการเป็นผู้สมัครและในฐานะของผู้มีสิทธิออกเสียง

เหลืออยู่แต่ผู้ที่เกษียณอายุไปแล้วซึ่งอาจมีสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวยนัก และกลุ่มอื่นๆ ที่เหลืออีกเพียงเล็กน้อย

เพราะคนวัยทำงานช่วง 40-60 ปีถูกกันออกไป ส่วนช่วงอายุที่ต่ำกว่านี้ก็เพิ่งทำงานมาได้ไม่นานจึงอาจมีประสบการณ์ไม่มากพอ

หรือไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเรื่องการมีประสบการณ์ในกลุ่มอาชีพนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ปี

หรืออย่างคุณสมบัติข้ออื่น เช่น การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การถือหุ้นสื่อ ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ หลายตำแหน่งด้วย แต่มีรายละเอียดที่ต่างกันออกไปตามบทบาทหน้าที่

อาทิ ผู้สมัคร ส.ส. จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ขณะที่ผู้สมัครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมิได้ ส่วน ส.ว.ที่มีหน้าที่ในการพิจารณากฎหมาย องค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบต่างๆ การกำหนดคุณสมบัติว่าต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองและไม่ถือหุ้นสื่อก็สมเหตุสมผล

แต่อย่าลืมว่าสิทธิการในเลือก ส.ว. มีอยู่เฉพาะผู้ที่สมัครเท่านั้น ดังนั้น การทำให้สิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนกลายเป็นคุณสมบัติต้องห้ามในการสมัคร ก็เท่ากับนำไปสู่การจำกัดสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานของประชาชนในการออกเสียงเลือก ส.ว.ไปด้วยโดยอ้อม

แล้วจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร?

การจำกัดสิทธิของผู้สมัครซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับเรื่องต่างๆ ที่เขาต้องเข้าไปทำหน้าที่พิจารณาอันนี้เข้าใจได้

แต่การจำกัดสิทธิของผู้สมัครแล้วตีชิ่งไปจำกัดสิทธิทั่วไปของประชาชนด้วย ตรงนี้จะชี้แจงอย่างไร?

ส.ว.ซึ่งมีหน้าที่อันส่งผลไปถึงคนทุกคน ทำไมจึงกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครแบบที่นำไปสู่การจำกัดสิทธิทางการเมืองของประชาชนด้วย?

 

4. ทำไมผู้สมัครจึงมีสิทธิเลือกมากกว่า 1 เสียง

ประเด็นสุดท้ายคือข้อกังขาว่าทำไมผู้สมัคร ส.ว.จึงมีสิทธิเลือกมากกว่า 1 เสียง

เนื่องจากประเด็นที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าลำพังการที่สิทธิเลือก ส.ว. ตกอยู่แก่เฉพาะผู้สมัคร ส.ว.เท่านั้นก็เป็นเรื่องผิดปกติมากพออยู่แล้ว

แต่นี่ถึงขั้นให้สิทธิในการเลือกแก่ผู้สมัครมากกว่า 1 เสียงอีก ทำให้ยิ่งดูผิดปกติเข้าไปใหญ่

ในขณะที่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้สมัครล้วนถูกตัดสิทธิการเลือกกันถ้วนหน้า

แต่ผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่ตั้งไว้และมีทุนรอนจ่ายค่าสมัครกลับได้รับการขยายสิทธิหรือมีสิทธิเพิ่มมากเข้าไปอีก

สิทธิในการเลือกที่เพิ่มขึ้นมาเริ่มตั้งแต่ในระดับอำเภอ โดยผู้สมัครมี 2 เสียงสำหรับเลือกภายในกลุ่มอาชีพของตน และมี 3-5 เสียงในการเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม

หากผ่านรอบนี้ไป ผู้สมัครคนเดิมจะมีสิทธิเลือกภายในกลุ่มอาชีพของตนระดับจังหวัดอีก 2 เสียง และมีอีก 3-5 เสียงสำหรับการเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม

หากผ่านรอบนี้ไปอีกก็จะเข้าสู่ระดับประเทศผู้สมัครคนเดิมจะมี 10 เสียงในการเลือกภายในกลุ่มอาชีพของตน และมีอีก 15-25 เสียงสำหรับเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม

เมื่อรวมทั้ง 3 รอบคือ (2+5)+(2+5)+(10+25) แล้ว ผู้สมัคร 1 คน มี 1 สิทธิ แต่สามารถออกเสียงได้สูงสุดถึง 49 เสียงเลยทีเดียว

ตรงข้ามกับประชาชนทั่วไปที่คุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์และไม่มีเงินค่าสมัคร กลับถูกระงับสิทธิหรือถูกตัดสิทธิออกเสียงไปเกลี้ยงจนเหลือ 0

แบบนี้จะเข้ากับหลักเสมอภาค 1 สิทธิ 1 เสียงได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้หากไม่มีเหตุผลชี้แจงที่ฟังขึ้น หรือไม่มีคำอธิบายที่มีน้ำหนักพอ ก็เท่ากับว่าระบบการเลือกสรร ส.ว.67 ขาดความชอบธรรมทางการเมือง เนื่องจากขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง