ส.ว.67 เป็นตัวแทนของอะไร เจตจำนงของกลุ่มใด ปากเสียงของใคร แล้วเลือกไขว้ไปเพื่ออะไร | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

ส.ว.67 เป็นตัวแทนของอะไร เจตจำนงของกลุ่มใด ปากเสียงของใคร แล้วเลือกไขว้ไปเพื่ออะไร

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ได้คลอดทายาทออกมามากมาย หนึ่งในนั้นคือระบบการเลือกสรรสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ในปี 2567 นี้

ระบบการเลือกสรร ส.ว.แบบใหม่มีความแปลกใหม่อย่างยิ่ง ซับซ้อน ประหลาด และพิสดาร นำมาซึ่งเสียงโจษจันมากมายให้เห็นตามโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน

ลักษณะที่เด่นชัดของวิธีเลือก ส.ว.67 คือการแบ่งกลุ่มอาชีพและเลือกกันเองทั้งภายในกลุ่มและไขว้กันไปมาภายนอกกลุ่ม แบ่งเป็น 3 ระดับ เริ่มต้นกระบวนการจากระดับอำเภอ จากนั้นก็ไปสู่ระดับจังหวัด และสิ้นสุดที่ระดับประเทศเป็นขั้นสุดท้าย

บทความนี้หยิบยกตัวอย่างปัญหาบางประการของระบบการเลือกสรร ส.ว.ครั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นจุดบกพร่องหลักว่ามีปัญหาเรื่องการเป็นตัวแทนเจตจำนงของกลุ่มอาชีพหรือปากเสียงของวิชาชีพอย่างไรบ้าง

 

1. ส.ว.เป็นตัวแทนของใคร?

ผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ในปี พ.ศ.2567 นี้ต้องสมัครเข้ามาในฐานะที่เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ ซึ่งได้มีการแบ่งกลุ่มอาชีพไว้ทั้งหมด 20 กลุ่ม เช่น กลุ่มการศึกษา, กลุ่มการสาธารณสุข, กลุ่มอาชีพทำนาทำไร่, กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน, กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดง บันเทิง และกีฬา เป็นต้น ซึ่งมีข้อกังขา ดังนี้

1.1 กลุ่มอาชีพต่างๆ มีมากมาย เหตุใดจึงเลือกมาเพียง 20 กลุ่มนี้ แล้วกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในนี้จะไปอยู่ตรงไหน การแบ่งเช่นนี้จะไม่ทำให้เกิดอภิสิทธิ์แก่บางอาชีพมากกว่าอาชีพอื่นหรือ?

1.2 หากกลุ่มอาชีพใดที่ไม่อยู่ในกลุ่มอาชีพที่กำหนดมานี้ก็ให้ไปลงสมัครในฐานะ “กลุ่มอื่นๆ” ซึ่งเปิดช่องให้ไม่ว่าจะทำอาชีพใดก็มาสมัครได้ แต่ปัญหาคือจำนวนของคนในบางอาชีพมีมหาศาล ในขณะที่บางอาชีพก็จะมีเพียงน้อยนิด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องสัดส่วนของตัวแทนประชาชน

1.3 ถ้ากำหนดให้ผู้สมัครเข้ามาเป็นตัวแทนวิชาชีพ แล้ว “กลุ่มอื่นๆ” เป็นตัวแทนของอาชีพอะไร มีลักษณะเฉพาะอย่างไร เป็นตัวแทนเจตจำนงของวงวิชาชีพใดกัน?

1.4 หากต้องการให้ ส.ว.เป็นตัวแทนเสียงจากหลากหลายอาชีพ หลากหลายมุมมอง เหตุใดจึงไม่ให้องค์กรวิชาชีพหรือสมาคมวิชาชีพนั้นเป็นผู้คัดสรรกันเองไปเลย ซึ่งจะทำให้ได้คนที่เป็น “ตัวแทนเจตจำนงของวิชาชีพ” และ “ตัวแทนปากเสียงจากวิชาชีพ” นั้นจริงๆ โดยไม่ต้องเสียงบประมาณมหาศาลในการจัดเลือกตั้งหรือเลือกสรรขึ้นมาใหม่ทั้งหมดด้วย

องค์กรวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพ และสภาวิชาชีพที่มีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น แพทยสภา สภาทนายความ สภาการพยาบาล คุรุสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาวิชาชีพบัญชี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้กระบวนการเลือกสรรจากสมาคมวิชาชีพเองยังทำให้เกิดการตรวจสอบควบคุมภายในอาชีพนั้น เนื่องจากสมาคมวิชาชีพเป็นองค์กรเดิมที่มีอยู่แล้ว มีงบประมาณเป็นของตัวเอง มีบอร์ดบริหารและบุคลากรอยู่แล้ว มีระบบและกลไกภายในองค์กร มีมาตรฐานวิชาชีพของตัวเอง มีกฎและระเบียบอยู่แต่เดิม รวมทั้งมีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องในระยะยาวด้วย

ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการตรวจสอบรับรองคุณสมบัติทางวิชาชีพว่าบุคคลผู้นั้นประกอบวิชาชีพดังกล่าวจริงหรือไม่ มีผลงานและความสามารถเป็นอย่างไร

 

2. ส.ว.จะเลือกไขว้ไปเพื่ออะไร?

หากต้องการตัวแทนจากวิชาชีพต่างๆ ก็ควรใช้บุคลากรในวิชาชีพนั้นเป็นผู้พิจารณากันเอง เพราะแต่ละวิชาชีพต่างก็มี “โลกของกลุ่มตัวเอง” ที่คนภายนอกไม่เข้าใจหรือไม่มีความเข้าใจเท่ากับคนในวงวิชาชีพนั้น

ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ที่ผ่านการฝึกฝนร่ำเรียนมา ระดับชั้นของมาตรฐานที่ผ่านการทดสอบ สภาพแวดล้อมของการทำงานและปัญหาเฉพาะตัวของอาชีพนั้น รายได้ รายจ่าย กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ตลอดจนลักษณะนิสัยของแต่ละคน ชื่อเสียงและชื่อเสียของคนในแวดวงซึ่งบุคคลภายนอกไม่ล่วงรู้

แง่มุมต่างๆ เหล่านี้มีแต่ “คนในแวดวง” เท่านั้นที่เหมาะสมจะเป็นผู้ออกความเห็นและประเมิน ไม่ใช่ให้ใครก็ได้มาออกเสียง

การที่ระบบเลือกสรร ส.ว. กำหนดให้มีการเลือกไขว้ข้ามกลุ่มอาชีพ ทำให้คนที่ไม่มีความรู้ในแวดวงอาชีพหนึ่งต้องไปตัดสินคนในแวดวงอาชีพนั้น จึงเกิดการพิจารณาที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่น่าเชื่อถือ และไม่ได้เป็นตัวแทนของวิชาชีพเลย

ถ้าหากจะเอาคนอาชีพ ก มาเลือกคนอาชีพ ข แล้ว จะให้พวกเขาสมัครเข้ามาในนามของอาชีพ ก หรือ ข ไปทำไม?

อย่างนั้นก็สมัครเข้ามาในฐานะประชาชนเฉยๆ ไม่ต้องแบ่งกลุ่มอาชีพเสียตั้งแต่ต้นก็ได้ ไม่มีประโยชน์

การเลือกไขว้นี้นอกจากไม่จำเป็นแล้ว ยังไม่มีเหตุผลรองรับอันสมควร และสร้างความเสียหายอย่างมาก มีอย่างที่ไหนให้หมอไปเลือกชาวนา แล้วหมอจะไปรู้เรื่องของชาวนามากกว่าชาวนาได้อย่างไร ให้ชาวนาไปเลือกหมอ ชาวนาจะรู้เรื่องหมอมากกว่าคนอื่นอย่างนั้นหรือ

ระบบการเลือกไขว้นี้ได้ทำให้ใครก็อาจไปเลือกใครก็ได้ ให้ชาวนาไปเลือกครู ให้ครูไปเลือกผู้ใช้แรงงาน ให้ผู้ใช้แรงงานไปเลือกศิลปิน เพื่อ???

 

3. มีเหตุผลอะไรที่ใช้แบ่งกลุ่มวิชาชีพเช่นนี้

การกำหนดให้ 20 กลุ่มอาชีพถูกแบ่งออกมาเป็นเช่นนี้ก็มีปัญหามาก โดยเฉพาะบางกลุ่มอาชีพที่ไม่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน

ขณะเดียวกันบางกลุ่มอาชีพกลับรวบรวมกลุ่มที่มีความขัดกันทางอุดมการณ์และผลประโยชน์เข้ามาอยู่ด้วยกัน และเข้ามาอยู่รวมกันแบบไม่ได้สัดส่วนอีกด้วย

ทำให้การกำหนด 20 กลุ่มอาชีพถูกตั้งคำถามและได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มาก

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่นๆ ที่กล่าวมานี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่กลุ่มผู้สูงอายุกับกลุ่มขาติพันธุ์ไปเกี่ยวอะไรกัน? กลุ่มคนพิการไปเกี่ยวอะไรกับกลุ่มชาติพันธุ์?

จะเห็นว่าแต่ละกลุ่มย่อยนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยตรงเหมือนวิชาชีพแบบที่พยาบาลก็เป็นพยาบาลเหมือนกัน แล้วอย่างนี้จะรวบกลุ่มย่อยเหล่านี้เข้ามาอยู่ในกลุ่มเดียวกันได้อย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร

ยังไม่ต้องไปกล่าวถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ อีก อย่างเช่น ขอบเขตและการนิยามที่แน่ชัด กลุ่มอัตลักษณ์คือใคร มีลักษณะอย่างไร ใครเข้าข่ายบ้าง ตรงนี้จะจะขีดเส้นแบ่งอย่างไรก็ยังไม่รู้

หรืออย่างเช่น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน กลุ่มย่อยเหล่านี้ถูกจับรวมเข้ามาเป็นกลุ่มเดียวกัน ทั้งๆ ที่ต่างก็ขัดแย้งกันทั้งในเชิงโลกทัศน์ อุดมคติ และผลประโยชน์

ผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อมก็มีเป้าหมายเพื่อปกปักรักษา ฟื้นฟู ทำนุบำรุงสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหามลพิษ ซึ่งย่อมไปขัดกับผู้ประกอบการด้านพลังงานได้โดยง่าย รวมทั้งมีแนวโน้มไม่ลงรอยกับผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วย

การจับทั้งหมดนี้มามัดรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกันจึงไม่เหมาะสม เพราะนอกจากจะไม่ได้เป็นตัวแทนเจตจำนงหรือปากเสียงของกลุ่มอาชีพเดียวกันแล้ว ยังทำให้เสียงของบางกลุ่มหายไปอีกด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มที่มีจำนวนคนมากกว่า มีปริมาณมากกว่า มีกำลังทรัพย์มากกว่าก็จะส่งตัวแทนออกมาได้ ในขณะที่กลุ่มที่มีสัดส่วนน้อยกว่าก็จะหายไป ไม่มีใครได้ขึ้นมาเป็นตัวแทนเลย ทำให้เกิดการตัดกลุ่มบางกลุ่มออกไปโดยปริยาย

ลองจินตนาการหรือกะคำนวณคร่าวๆ ดูว่าบุคคลที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน ตัวเลือกไหนมีมากสุด ตัวเลือกไหนมีน้อยสุด

ไม่ว่าจะเป็นใครก็คงประมาณสัดส่วนได้ว่าสิ่งแวดล้อมคงมีน้อยสุดแน่ๆ การแบ่งกลุ่มแบบนี้จึงอาจมองได้ว่าคือการตัดกลุ่มบางกลุ่มทิ้งหรือทำให้หายไปได้แบบเนียนๆ

 

4. ส.ว.จะเลือกผ่านเป็นด่านๆ ไปทำไม

ในเมื่อกำหนดให้มีการสมัครในฐานะที่เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพแล้ว เช่นนั้นจะให้มีการเลือกเป็นด่านๆ จากล่างขึ้นบนไปทำไม ในเมื่อผู้ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนั้นหรือมีบทบาทสำคัญในอาชีพนั้นมักกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลางเสียมากกว่า

การเลือกเป็นด่านๆ ไปจากระดับอำเภอขึ้นไปสู่ระดับประเทศนี้อาจพอทำได้ในบางกลุ่มอาชีพที่กระจายตัวไปทั่วประเทศ อย่างเช่น ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ฯลฯ

แต่อาชีพพวกนี้ก็ไม่มีการกระจายตัวที่ใกล้เคียงกันอยู่ดี คือมีมากในบริเวณหนึ่ง และมีน้อยในอีกบริเวณหนี่ง

แม้กระทั่งจังหวัดที่ชิดติดกันก็ยังต่างกันมากเนื่องจากสภาพภูมิประเทศ

เช่น พระนครศรีอยุธยาที่เต็มไปด้วยชาวนา แต่หาชาวไร่ได้น้อย ในขณะที่สระบุรีที่อยู่ติดกันมีชาวไร่มากกว่า แต่มีชาวนาอยู่ประปราย เป็นต้น

หรือกลุ่มอาชีพสื่อสารมวลชน นักเขียน ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างหนาแน่น แต่แทบไม่มีอยู่เลยในพื้นที่ห่างไกล อย่างเช่น แม่ฮ่องสอนหรืออำนาจเจริญ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนที่ไม่ได้น้ำหนักนี้แล้ว การกำหนดให้เลือกกันเป็นชั้นๆ ไปจากระดับอำเภอไปสู่จังหวัด และจากจังหวัดไปสู่ประเทศจึงไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการเป็นตัวแทนเจตจำนงของกลุ่มอาชีพเท่าที่ควร

แต่กลับทำให้เกิดการเลือกมั่วไปเรื่อยตามตัวเลือกเท่าที่มีอยู่โดยไม่รู้จักกันอย่างแท้จริง

ซึ่งไม่ได้สะท้อนเจตจำนงทั้งในด้านการเป็นตัวแทนและในด้านคุณภาพ