นักเรียนใช้ AI เขียน ครูก็ใช้ AI ตรวจ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

นักเรียนใช้ AI เขียน

ครูก็ใช้ AI ตรวจ

 

ตอนที่ ChatGPT เริ่มได้รับความนิยมในช่วงแรกๆ ผู้คนในแวดวงการศึกษาทั่วโลกก็ถกกันเคร่งเครียดว่าเทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนหนังสือของเด็กรุ่นใหม่ไปทางไหนบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาที่ต้องอาศัยการเขียนซึ่งเป็นสิ่งที่ AI ประเภทนี้ช่ำชอง

การใช้ AI ช่วยทำงานส่งครูนั้นสิ่งที่ต้องระวังคืองานที่ AI สร้างไม่ได้รับประกันว่าข้อมูลจะถูกต้องแม่นยำทั้งหมด

หรือข้อมูลที่ AI หยิบมาใช้อาจเป็นการหยิบฉวยผลงานของคนอื่นมาผลิตซ้ำแบบไม่ได้รับความยินยอม ไปจนถึงการตั้งคำถามเรื่องความซื่อสัตย์ของนักเรียนด้วย

ในตอนนั้นก็มีข้อเสนอที่หลากหลายว่าสถาบันการศึกษาควรจะประกาศใช้นโยบายอะไรบ้างเพื่อรับมือกับการที่นักเรียนจะใช้ ChatGPT มาทำงานส่งครู

บางโรงเรียนก็ออกกฎห้ามใช้ AI ในขณะที่บางโรงเรียนก็เชื่อว่าห้ามไม่ได้และพยายามหาวิธีที่จะพบกันครึ่งทาง

เมื่อเวลาผ่านไป เราก็ได้เห็นว่านักเรียนนักศึกษาใช้ ChatGPT หรือ AI จากค่ายอื่นๆ มาช่วยทำงานส่งครูกันจริงๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่พบได้ในโรงเรียนทุกแห่ง

แต่ก็มีอยู่สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่ทันได้คิดเผื่อเอาไว้ล่วงหน้าก็คือ ครูเองก็ลงเอยด้วยการใช้ ChatGPT มาทำงานแทนด้วยเหมือนกัน

 

CNN รายงานประเด็นเรื่องนี้ว่าครูยุคใหม่เริ่มใช้ ChatGPT เข้ามาช่วยทำหน้าที่หลายๆ อย่างแทนแล้ว อย่างเช่น การให้ AI ช่วยตรวจงานเขียนของนักเรียน ช่วยให้คะแนน ตัดเกรดงานที่นักเรียนส่งมา ไปจนถึงช่วยตรวจแก้ข้อผิดพลาดของนักเรียนด้วย

จนทำให้เกิดคำถามว่าถ้านักเรียนใช้ AI เขียนงานมาส่ง แล้วครูก็ใช้ AI ตรวจงานกลับไป ระบบการศึกษาที่วนลูปแบบนี้จะเวิร์กหรือไม่

นอกจากการให้ AI ช่วยตรวจงานและตัดเกรดให้แล้ว ครูก็ยังใช้ AI มาช่วยในการวางแผนการสอน ช่วยคิดโจทย์ คิดการบ้าน และช่วยสร้างสื่อการเรียนการสอน อย่างเช่น ข้อสอบ โพล หรือวิดีโอ เพื่อทำให้ห้องเรียนเข้ากับโลกในยุคใหม่มากขึ้น

ข้อดีของการที่ครูมี AI มาช่วยตรวจการบ้านและให้คะแนนก็คือ AI สามารถตรวจงานได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว โดยไม่มีความเบื่อหน่ายหรือเหน็ดเหนื่อย ซึ่งหากดูเฉพาะภารกิจของการตรวจงานและให้คะแนนนั้น AI อาจจะสามารถทำได้ดีกว่าครูที่เป็นมนุษย์เสียอีก

อย่างไรก็ตาม การที่มันทำได้ดีกว่า เร็วกว่า ไม่ได้แปลว่าเราควรให้ AI เข้ามารับหน้าที่นี้แทนไปเลย เพราะมันอาจจะเหมาะสำหรับบางสถานการณ์และไม่เหมาะสำหรับบางสถานการณ์ก็ได้

 

ตัวอย่างเช่น ห้องเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาจำนวนมาก ข้อสอบหรืองานที่ครูสั่งมีความตรงไปตรงมา มีเฉลยผิดถูกที่ชัดเจน การใช้ AI มาช่วยตรวจอาจจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

ในขณะที่ห้องเรียนที่มีขนาดเล็กกว่า หรือชิ้นงานที่ครูสั่งให้ทำไม่ได้มีคำตอบชัดเจนว่าตอบผิดหรือตอบถูก แต่เป็นคำตอบที่ต้องการการตีความ การให้ AI ช่วยตรวจให้คะแนนก็จะไม่เหมาะเลย ครูควรจะได้อ่านและทำความเข้าใจชิ้นงานของนักเรียนแต่ละคนเพื่อที่จะให้ฟีดแบ็กได้ตรงจุด และได้ติดตามพัฒนาการของนักเรียนไปเรื่อยๆ ในขณะที่นักเรียนก็จะได้ประโยชน์จากฟีดแบ็กที่เหมาะสมกับงานของตัวเองจริงๆ เพื่อนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น

หนึ่งในครูที่ CNN สัมภาษณ์เสนอว่าครูน่าจะสามารถใช้ AI มาช่วยตรวจงานในบางหัวข้อได้ อย่างเช่น การตรวจไวยากรณ์ การใช้คำผิดหรือถูก และโครงสร้างประโยค แต่เมื่อต้องให้คะแนนด้านอื่นๆ อย่างเช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความสดใหม่ หรือการลงลึกในรายละเอียด ครูควรจะเป็นคนตรวจและให้คะแนนด้วยตัวเอง

ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่ต้องระวังในกรณีที่ครูอยากใช้ AI มาช่วยตรวจงานของลูกศิษย์ อย่างเช่น ลิขสิทธิ์ทางปัญญา

เนื่องจากการใช้ AI ตรวจงาน ครูก็จะต้องอัพโหลดงานของนักเรียนเข้าไปใน AI อย่าง ChatGPT จึงไม่เหมาะสำหรับการตรวจงานระดับวิทยานิพนธ์เพราะนักศึกษาอาจจะต้องนำไปเผยแพร่ในภายหลัง

ถ้าต้องการใช้ AI มาช่วยตรวจจริงๆ ก็ควรจะแจ้งให้เจ้าของชิ้นงานได้ทราบและให้ความยินยอมก่อน

สถาบันศึกษาหลายแห่งพยายามคิดหานโยบายที่เหมาะสมที่สุดที่จะตอบรับการใช้งาน AI จากทั้งฝั่งของครูและลูกศิษย์

แต่เนื่องจากการใช้เครื่องมือ AI แบบนี้ยังถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มาก ผู้เชี่ยวชาญจึงเตือนว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะออกนโยบายในตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนออกนโยบายไม่ใช่ครูที่สอนในห้องเรียนเอง นโยบายที่ออกมาก็อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลยก็ได้

ถ้าหากต้องการจะเขียนนโยบายก็อาจจะเริ่มจากการกำหนดว่าพฤติกรรมการใช้งานแบบไหนบ้างที่เข้าข่ายใช้ AI ในทางที่ไม่ควร แล้วค่อยๆ ขยายออกไปเป็นนโยบายอื่นๆ

 

สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับการเขียนคู่มือการใช้งาน AI ในภาคการศึกษาก็คือจะต้องเริ่มต้นที่ความโปร่งใส ครูผู้สอนรู้ว่านักเรียนผลิตชิ้นงานนี้โดยใช้ AI เข้ามาช่วย ในขณะเดียวกันนักเรียนก็รู้ว่าผลงานที่ส่งไปจะถูกตรวจจากทั้งครูและ AI

เมื่อทุกคนมีข้อมูลครบ ทุกอย่างถูกเอามาวางไว้อย่างโปร่งใส คนที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถตัดสินใจได้ว่าอะไรเหมาะสมกับตัวเองที่สุด โดยที่ไม่ปิดกั้นการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย

อีกหนึ่งเรื่องที่ฉันคิดว่าควรต้องระมัดระวังเพิ่มเติมในกรณีที่ครูตัดสินใจใช้ AI มาช่วยตรวจงานด้วยก็คือครูจะต้องไม่เชื่อ AI แบบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ คือมีพื้นฐานความคิดไว้เสมอว่า AI ก็มีโอกาสผิด หรือ ‘หลอน’ สร้างข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงได้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น จึงไม่ควรยกหน้าที่การตรวจให้เป็นของ AI ไปทั้งหมด แต่จะต้องคอยตรวจทาน AI ไปด้วยอีกที

ส่วน AI จะเปลี่ยนรูปแบบทั้งการเรียนและการสอนในอนาคตอันใกล้ไปทางไหนอีกบ้างนั้น ฉันคิดว่ารออีกสักนิด เดี๋ยวก็น่าจะค่อยๆ เห็นชัดขึ้นแน่นอน