ไทยจะ ‘ทะเยอทะยาน’ เป็น Peace Broker พม่าอย่างไร?

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

ไทยจะ ‘ทะเยอทะยาน’

เป็น Peace Broker พม่าอย่างไร?

 

ประเทศไทยเป็น Peace Broker หรือเป็น “โบรกเกอร์สันติภาพ” ให้เมียนมาได้ไหม?

หลายคนบอกว่าควรทำ

แต่ต้องทำตัวให้พร้อม

เพราะวิกฤตพม่ามีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่จะเพียงแต่อาศัย “บุญเก่า” ของเราในการพยายามจะช่วยเพื่อนบ้านและอาเซียนสร้างสันติภาพ

เพราะที่สำคัญ การจะเป็น Peace Broker เฉยๆ ไม่ได้ ต้องมีคุณสมบัติพิเศษคือต้องเป็น Honest Peace Broker

คือต้องเป็น “คนกลาง-นักไกล่เกลี่ย” ที่ “ซื่อสัตย์”

หมายความว่าจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

ไม่ “รับงาน” ใครมา

การจะเป็น Honest Peace Broker นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรามุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงใจและจริงจังเท่านั้น

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการตั้งใจจริงก็คือการจะต้องทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่าเรา “ตรงไปตรงมา” ด้วย

ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

ทั้ง on the record และ off the record

ทั้งของจริงจากข้างในและความประทับใจจากข้างนอก

คือทั้ง Reality และ Perception

ตอนนี้ไทยเรายังไม่ได้ทั้งสองอย่าง

 

ในแง่เนื้อหาสาระของการจะทำให้เรามีบทบาทเป็น “โบรกเกอร์สันติภาพ” จริงยังมีการบ้านต้องทำอีกมากนัก

เพราะเราต้องสามารถเชื่อมต่อกับทุกฝ่าย

อย่างน้อยก็มีตัวละครหลักๆ ภายในประเทศเมียนมาเอง 3 กลุ่ม

คือ SAC, NUG และ EAOs

กลุ่มแรกคือกองทัพพม่า State Administration Council ภายใต้มิน อ่อง ลาย ที่ปกครองประเทศอยู่ขณะนี้หลังก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีก่อน

NUG คือ National Unity Government หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งก็คือรัฐบาลพลัดถิ่นที่ส่วนใหญ่มาจากนักการเมืองพรรค NLD ของออง ซาน ซูจี ที่ถูกโค่นอำนาจไปทั้งๆ ที่ได้รับเลือกจากประชาชนอย่างท่วมท้น

กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ หรือ Ethnic Armed Organizations (EAOs) มีหลากหลายกลุ่มที่อาจจะไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุกๆ เรื่อง

และเผลอๆ บางครั้งก็ยังมีทั้งการแข่งขันและความขัดแย้งกันอยู่เป็นเนืองๆ

อีกทั้ง NUG กับ EAOs ต่างๆ ก็มิใช่ว่าจะมีความเป็นเอกภาพเสมอเหมือนกัน

แถมยังอาจจะมีเรื่องไม่ลงรอยกันในหลายๆ ประเด็นด้วยซ้ำ

นี่คือ “สามก๊ก” ที่อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ระบุว่ามีความสำคัญที่ไทยเราจะต้องสามารถเข้าถึง, เชื่อมต่อ และสร้างความเชื่อมั่นให้ได้…หากเราต้องการจะมีบทบาทในการสร้างสันติภาพ

 

ที่ท้าทายสำหรับภารกิจของ “โบรกเกอร์สันติภาพ” ไม่ได้จำกัดแค่ 3 กลุ่มนี้เท่านั้น

ตัวละครข้างนอกโดยเฉพาะที่เป็นเพื่อนบ้านของเมียนมาเหมือนไทยเราก็มีประเทศยักษ์ๆ ของเอเชีย

คือจีนและอินเดีย

รวมถึงบังกลาเทศและ สปป.ลาว (ซึ่งปีนี้เป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนด้วย)

และต้องไม่ลืมว่าไทยเราจะเดินเรื่องนี้โดยไม่ชูธงของอาเซียนไม่ได้เลย

โดยเฉพาะ “ฉันทามติ 5 ข้อ” หรือ 5-Point Consensus ที่จะต้องเป็น “เสาหลัก” ที่จะต้องเป็นแกนสำคัญของการแสวงหาทางออกให้กับเมียนมา

หากไทยจะเป็น “คนกลาง” อย่างแข็งขัน (แม้จะไม่ต้องประกาศอย่างเป็นทางการ) ก็ต้องเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านของพม่าทั้งหมดให้เห็นพ้องต้องกันที่จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน

ตัวละครนอกภูมิภาคที่มองข้ามไม่ได้คือสหรัฐและสหภาพยุโรป (ซึ่งยังมีมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าที่ไม่ผลกระทบต่อเราทั้งทางตรงและทางอ้อม)

และที่ลืมไม่ได้เป็นอันขาดคือรัสเซียซึ่งมีความสนิทแน่นแฟ้นไม่น้อยกับรัฐบาลทหารพม่าวันนี้

ล้วนคือ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ที่สำคัญสำหรับสูตรสันติภาพใดๆ ที่จะเกิดขึ้น

ความจริงรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว เจ็ก ซัลลิแวน ก็มาพบกันอย่างไม่เป็นทางการที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

หนึ่งในหัวข้อที่ได้แลกเปลี่ยนกับนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และรองนายกฯ กับรัฐมนตรีต่างประเทศไทย ปานปรีย์ พหิทธานุกร คือเรื่องพม่า

หากไทยเราวางตำแหน่งให้ถูกต้อง น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของ 2 มหาอำนาจระดับโลก ก็น่าที่เราจะเล่นบท “ผู้อำนวยความสะดวก” (Facilitator) ในกระบวนการแสวงหาสันติภาพได้

 

เหล่าบรรดา “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” หรือ Stakeholders เหล่านี้ย่อมเห็นตรงกันประเด็นหนึ่งว่าไทยเป็น “ด่านหน้า” ของวิกฤตพม่า

นอกจากจะมีเส้นพรมแดนร่วมกับพม่ายาวกว่า 2,400 กิโลเมตรแล้ว ไทยกับเมียนมาก็ยังมีความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ อย่างลึกซึ้ง, กว้างขวางและซับซ้อนกว่าเพื่อนบ้านอื่นใด

เราคือ “ผู้มีส่วนเสีย…มากกว่าส่วนได้” หากวิกฤตนี้ยังลากยาวต่อไปโดยไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร

หรือจะกลายเป็น “ระเบิดลูกใหญ่” ที่จะสร้างความเสียหายให้กับภูมิภาคนี้มากกว่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้หรือไม่อย่างไร

แต่การจะเล่นบทบาทเป็น “โบรกเกอร์สันติภาพ” ได้นั้น ไทยต้อง “จัดบ้านตัวเอง” ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเสียก่อน

เพราะวันนี้ ภายในบ้านเราเองยังไม่รู้ว่ารัฐบาลเศรษฐามีนโยบายต่อพม่าที่เป็นรูปธรรมอย่างไร

 

แนวทางส่วนใหญ่ที่จับต้องได้ก็ยังมีความละม้ายกับของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งต้องถือว่าล้มเหลว

เพราะเพียงแค่ถูกมองว่ากองทัพไทยกับกองทัพพม่าของมิน อ่อง ลาย มีความสนิทชิดเชื้อกันเป็นพิเศษ

และทุกรายละเอียดของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศถูกพิจารณาจากแง่มุมทางทหารและความมั่นคงเป็นหลักโดยที่การทูตในยุคนั้นกลายเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลที่เน้นหนักไปในมิติทางทหารเท่านั้น

ซ้ำร้าย เพื่อนของเราในอาเซียนบางประเทศโดยเฉพาะอินโดนีเซีย, มาเลเซียและสิงคโปร์กับฟิลิปปินส์มองว่าไทยเรา “ถูกมิน อ่อง ลาย ใช้เป็นเครื่องมือ” สร้างความชอบธรรมให้กับการก่อรัฐประหาร

ความน่าเชื่อถือของไทยก็ถูกจัดอยู่ในลำดับ “ติดลบ” ขึ้นมาทันที

 

วันนี้ยังไม่แน่ชัดว่ากระทรวงการต่างประเทศภายใต้การนำของคุณปานปรีย์ได้เรียกฟื้นคืนความเป็นตัวของตัวเองในสมการแห่งการกำหนดนโยบายต่อเพื่อนบ้าน, อาเซียนและระดับสากลได้มากน้อยเพียงใด

เพราะตราบเท่าที่โครงสร้างของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยังหนักไปทางด้านตัวแทนจากความมั่นคงเท่านั้นก็ยังหวังไม่ได้เราจะมีกลไกการวิเคราะห์, ประเมินสถานการณ์ และการระดมความคิดอ่านที่กว้างขวางและครอบคลุมมากเพียงพอที่จะทำให้ทุกองคาพยพของรัฐบาลเดินไปในทิศทางยุทธศาสตร์เดียวกันได้

เมื่อเราไม่เห็นนายกฯ เศรษฐาให้ความสนใจประเด็นการเมืองและความมั่นคงรอบบ้านเราเพียงพอ

และเมื่อรัฐบาลดูเหมือนจะหวาดหวั่นต่อการ “ปฏิรูป” กลไกรัฐเราจึงยังไม่อาจจะหวังว่าเราจะได้เห็นการ “จัดระเบียบบ้านใหม่” เพื่อให้เรา “กลับสู่เรดาร์โลก” อย่างแท้จริง

เพราะการที่เราจะสามารถมีบทบาทโดดเด่นในเวทีการทูตได้นั้น ไทยต้องยึดหลักของการเป็นประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, นิติรัฐ, ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกและก้าวทันความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจัง

 

ทุกวันนี้เรามีนโยบายเหล่านี้บนกระดาษเท่านั้น แต่ยังไม่เห็นการกระทำที่เป็นรูปธรรมในระดับชาติ (ไม่ต้องเอ่ยถึงระดับสากล)

ไทยเราเคยมีประวัติของการเป็น Peace Broker ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

ที่เห็นชัดๆ คือการเป็น “คนกลาง” ลดความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซีย…จนนำไปสู่การก่อตั้งอาเซียนในปี 1967 ที่กรุงเทพฯ

และอีกครั้งหนึ่งที่เราแสดงความเป็นผู้นำทางด้านการทูตเชิงรุกคือการประสานกับ “เขมร 3 ฝ่าย” ที่นำไปสู่การเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสในปี 1991

ใน พ.ศ.นี้ไทยจะสามารถดำเนินนโยบายที่สร้างสันติภาพในประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ด้วยการประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในฐานะของ “คนกลางที่ไร้วาระซ่อนเร้นและปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน” ได้หรือไม่

เป็นบททดสอบฝีมือทางการทูตไทยครั้งสำคัญแห่งยุคเลยทีเดียว

เพราะ “ความทะเยอทะยาน” กับ “ความสำเร็จ” นั้นบางทีก็ห่างกันฟ้ากับเหว

หากเราไม่มี “แผนปฏิบัติการ” ที่นำไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงได้!