บ๊ายบาย ฟิตเนส กินยาเม็ดก็ฟิตได้

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

บ๊ายบาย ฟิตเนส

กินยาเม็ดก็ฟิตได้

 

“การออกกำลังแค่เพียงไม่ถึงชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงโรคร้าย อย่างเช่น มะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้อย่างเห็นได้ชัด…”

โซเรน แบรจ (Soren Brage) นักสถิติมือฉมังจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (MRC Epidermiology Unit, University of Cambridge) สรุปในเปเปอร์ของเขาที่เผยแพร่ออกมาในวารสาร British Journal of Sport Medicine ในปี 2023

ในงานนี้ โซเรนและทีมรวบรวมข้อมูลจากผลงานวิจัยที่เคยตีพิมพ์มาเกือบ 200 เรื่อง จากกลุ่มอาสาสมัครเกือบร้อยกลุ่ม รวมกว่า 30 ล้านคน และนำมาวิเคราะห์ใหม่อย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจว่าการออกกำลังกายนั้นป้องกันโรคเรื้อรังได้จริง…

“กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ฮ้าไฮ้ ฮ้าไฮ้”

ทันทีที่ผมได้เห็นเปเปอร์ของโซเรน เนื้อเพลง “กราวกีฬา” ก็แว้บเข้ามาในหัวของผม…

“ร่างกายกำยำ ล้ำเลิศ กล้ามเนื้อก่อเกิดทุกแห่งหน แข็งแรงทรหด อดทน ว่องไวไม่ย่นระย่อใคร ฮึม ฮึม ฮึม ฮึม”

สำหรับผมที่อวบระยะสุดท้าย ถามว่าอยากมีมั้ยร่างกายที่กำยำสมส่วน

คำตอบคือ “อยากมากอย่างที่สุด” แม้สังขารและเวลาอาจจะไม่ค่อยเอื้ออำนวยเท่าไรนัก…

แน่นอน นี่อาจจะเป็นแค่ข้ออ้าง แต่เป็นที่รู้กันครับ… “ร่างกายกำยำ กล้ามเนื้อฟิตปั๋ง” ยังไง ก็ไม่มีขาย อยากมี อยากได้ ก็ต้องทำเอาเอง… ถ้าจะเอาให้ได้ ถึงขั้นนี้แล้ว… เทรนเนอร์ต้องมา… วินัยต้องมี

แต่จะดีแค่ไหน ถ้ามียาวิเศษที่กินเข้าไปแล้ว ให้ผลดึ๋งดั๋ง ปึ๋งปั๋งเทียบเท่าการออกกำลังกายในฟิตเนสเซ็ตใหญ่ ราคาพอจ่ายได้ ไม่ดุเดือด… คำถามคือจะยอมควักกระเป๋าจ่ายมั้ย…??

สำหรับคนขี้เกียจหลายคน (รวมทั้งผมด้วย) ผมเชื่อว่า คำตอบคือ…”จะรออะไรอยู่ เตรียมฉีกกระเป๋ารอแล้วววว”

ว่าแต่ยาแทนการออกกำลังกาย…มีได้…จริงหรือ?…จากเปเปอร์ที่เคยออกมามากมายในอดีต คำตอบคือเป็นไปได้ ทว่า ส่วนใหญ่ยังไม่มีตัวไหนที่เห็นผลชัดแบบไม่มีผลข้างเคียงให้อึดอัดเวลาจะเอาไปใช้

ภาพสร้างจาก Bing AI

แต่ล่าสุด มีงานวิจัยใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวขึ้นมาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2024 ในงานประชุมฤดูใบไม้ผลิของสมาคมเคมี สหรัฐอเมริกา (American Chemical Society) ที่อาจจะสะเทือนวงการฟิตเนสทั่วโลก

บาฮา เอลเกนดี (Bahaa Elgendy) นักเคมีเภสัชจากโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนหลุยส์ (Washington University School of Medicine in St. Louis) เผยว่าเขาและทีมได้พยายามศึกษาวิจัยยาทดแทนการออกกำลังกาย (Exercise mimetic) มาแล้วกว่าทศวรรษ

จุดมุ่งหมายก็คือเพื่อเฟ้นหายาวิเศษที่นอกจากจะช่วยเพิ่มสมรรถนะให้กล้ามเนื้อแล้ว ยังช่วยกระตุ้นกระบวนการเมทาโบลิซึ่ม (metabolism) และการเจริญเติบโตของเซลล์กล้ามเนื้อได้ไม่ต่างจากการเข้ายิม

แต่ที่ต่างคือไม่ต้องไปยิม และไม่ต้องออกกำลังกายเท่านั้นเอง…

“ผมไม่ได้บอกว่าเราจะทดแทนการออกกำลังกายไปเลยได้ เพราะในความเป็นจริง การออกกำลังกายมีความสำคัญมากในทุกระดับ คือถ้าผมสามารถที่จะออกกำลังกายได้ ผมก็ควรหากิจกรรมอะไรสักอย่างทำเพื่อเป็นการออกกำลังกาย”

กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ฮ้าไฮ้ ฮ้าไฮ้ กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ…

ทว่า ก็มีหลายกรณีที่การออกกำลังกายนั้นอาจทำไม่ได้ง่ายๆ (อาทิ ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงผู้เฒ่าผู้แก่ที่ร่างกายเริ่มอ่อนระโหยโรยรา ซึ่งการออกกำลังกายสำหรับพวกเขาเหล่านี้ อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากจนถึงขั้นที่เรียกว่าท้าทาย) แต่แน่นอนว่าถ้าหากทำได้ การออกกำลังกายนั้นจะมีประโยชน์กับพวกเขาอย่างมหาศาล

แต่ในกรณีนี้ ที่ “ยาวิเศษ” ขนานที่เรียกว่า “กีฬา” และ “การออกกำลังกาย” ใช้ไม่ได้… การเฟ้นหา “ยาวิเศษ” ขนานใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพ กระตุ้นเมตาโบลิซึ่ม อีกทั้งยังช่วยรักษามัดกล้ามเนื้อให้ยังคงอยู่และมีเรี่ยวมีแรง ไม่เหี่ยวฝ่อไปจนหมดสิ้นนั้น จึงเป็นทางเลือกที่ยังไงก็ต้องเลือก

“ยานี้เป็นความหวังที่จะช่วยพวกผู้คนที่ไม่สามารถที่จะออกกำลังกายได้ และในขณะเดียวกันก็อาจจะเอามาใช้เสริมโปรแกรมการออกกำลังกายในผู้ป่วยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยก็ยังได้” บาฮากล่าว “ชัดเจนว่าหากว่ามียาที่ทดแทนการออกกำลังกายได้ จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลในวงการแพทย์”

แล้วถ้าเราจะกระตุ้นกลไกการตอบสนองต่อการออกกำลังกาย โดยใช้ยา เราจะเริ่มยังไง?

ภาพสร้างจาก Bing AI

บาฮาเผยว่าการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเมตาโบลิซึ่มโดยเริ่มจากการกระตุ้นการทำงานของ “โปรตีนตัวรับที่เกี่ยวข้องกับเอสโตรเจน (estrogen-related receptors)” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ERRs อยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ERR?, ERR? และ ERR?

โปรตีน ERRs ทั้งสามชนิดจะมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเปิดปิดสวิตช์ของกระบวนการเมตาโบลิซึมที่สำคัญในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่ใช้พลังงานสูงอย่างเช่น สมอง

ซึ่งหลังจากที่เฝ้าสกรีน เฝ้าเฟ้นหาสารออกฤทธิ์อย่างทุ่มเทมากว่าสิบปี ในที่สุด บาฮาและทีมก็พบสารยาที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของ ERRs ทั้งสามตัวได้เป็นผลสำเร็จ พวกเขาตั้งชื่อสารนั้นว่า SLU-PP-332

บาฮาเผยว่า ความยากที่สุดของกระบวนการหาสารออกฤทธิ์ก็คือการกระตุ้นการทำงานของ ERR? ซึ่งหายากมาก กว่าที่จะเจอ

ERR? ทำหน้าที่ในการควบคุมกระบวนการทางชีวเคมีในการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความเครียดที่เกิดจากการออกกำลังกายในเซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งหากกระตุ้นได้สำเร็จ เซลล์กล้ามเนื้อของเราก็จะเชื่อว่าร่างกายของเราผ่านการออกกำลังกายมาแล้วอย่างหนักหน่วง แม้ว่าเราจะไม่ได้ออกกำลังกายอะไรเลยแม้แต่น้อย

ซึ่งเซลล์กล้ามเนื้อก็จะมีกลไกเพื่อปรับตัว ทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เพิ่มอัตราเมตาโบลิซึ่ม สลายมวลไขมัน เพิ่มความไวต่ออินซูลิน (ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด) เพื่อจัดการกับความเครียดที่สะสมมาจากการออกกำลัง (แบบปลอมๆ ) ให้ได้

และเพื่อพิสูจน์ให้ชัดว่า SLU-PP-332 ของเขานี้ได้ผล บาฮาทดลองยานี้กับหนู และสิ่งที่เขาพบก็คือหนูที่ได้ยา SLU-PP-332 นั้นมีเส้นใยกล้ามเนื้อที่สามารถต้านทานภาวะอ่อนแรงมากขึ้น

อีกทั้งยังมีสมรรถนะและความทรหดในการวิ่งบนรางสูงในระดับที่หนูธรรมดาที่ไม่ได้รับยาไม่สามารถเทียบชั้นได้อีกด้วย

 

สําหรับหลายๆ คน แค่ผลการทดลองยา SLU-PP-332 ก็น่าประทับใจแล้ว แต่เพื่อต่อยอด บาฮาเล่าว่าทีมของเขาได้วิเคราะห์โครงสร้างสามมิติของโปรตีน ERRs ทั้งสามในขณะที่จับอยู่กับ SLU-PP-332 อย่างละเอียด เพื่อให้เข้าใจอันตรกิริยา (interaction) ที่จำเป็นในการกระตุ้นการทำงานของ ERRs ให้ได้อย่างถ่องแท้

หลังจากนั้นพวกเขาได้ออกแบบสารยาตัวใหม่ที่บาฮาและทีมมั่นใจว่าจะจับกับ ERRs ได้แน่นกว่า SLU-PP-332 และกระตุ้นการทำงานของ ERRs ได้ดีกว่า

ซึ่งสารนี้ ทางทีมมีแผนที่จะเอาไปจดสิทธิบัตรในอนาคต ในเรื่องของรายละเอียด ก็เลยยังไม่ได้เปิดเผยอะไรออกมามาก

“คือยังไง ERRs ก็ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่มีบทบาทอย่างมาก และถ้าคุณมีสารเคมีที่สามารถกระตุ้นพวกมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณก็จะสามารถสร้างผลกระทบที่เป็นคุณูปการณ์ต่อร่างกายได้อย่างเด่นชัด” บาฮากล่าว

“แม้จะมุ่งเป้าไปที่ ERRs เหมือนกัน แต่สารยานี้ถูกออกแบบให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นยาให้มากขึ้น เช่น ละลายน้ำได้ดีขึ้น มีความเสถียรมากขึ้น และมีความเป็นพิษลดน้อยลง”

ทางทีมได้ลองเอายาใหม่นี้ไปทดสอบดูแล้วกับกล้ามเนื้อหัวใจหนู แล้วตรวจวัดปริมาณการแสดงออก (สร้างอาร์เอ็นเอ) ของยีนที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย พบว่าอาร์เอ็นเอของยีนเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเด่นชัดเมื่อมีการใช้ยา

ซึ่งตีความได้ว่าสารยาใหม่น่าจะกระตุ้นให้เกิดผลของการออกกำลังกาย (แบบปลอมๆ ) ขึ้นมาก็เป็นได้

 

ผลที่ได้ทำให้พวกเขาตื่นเต้นมาก ในเวลานี้ ทีมบาฮามีแผนจะเริ่มการทดลองในสัตว์ทดลองอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนู (เดาว่าน่าจะเป็นลิง) ในเร็วๆ นี้ โดยจะขอทดลองผ่านทาง “เพลากอส ฟาร์มาซูติคัล (Pelagos Pharmaceuticals)” บริษัทสตาร์ตอัพที่พวกเขาตั้งขึ้น

และในขณะที่ผมกำลังอินกับสตอรี่และยาวิเศษแทนกีฬาของบาฮา… ทันใด เสียงไลน์ก็เด้ง ใครไม่รู้ส่งข้อความมาให้…

“เข้ามาฟิตเนสมั้ยครับ…วันนี้ มา weight training กันนะครับ…” เฮือกกกกก! นึกว่าใคร ที่แท้ ข้อความจากเทรนเนอร์… สำหรับคนที่ไม่พิศวาสการออกกำลังกายเช่นผม แค่เห็นก็สะท้านใจ ในใจเริ่มคิดข้ออ้าง อยากให้มียาวิเศษ…กินแล้วฟิตปั๋ง มีกล้ามเนื้อ มีพลัง แบบไม่ต้องออกกำลังกายให้ทรมานสังขาร

หยิบเปเปอร์บาฮามาส่องอีกที…เสียงเพลงกราวกีฬาผุดขึ้นมาอีกแว้บ “กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ฮ้าไฮ้ ฮ้าไฮ้ กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน”

คิดแล้วก็อยากเป็นกำลังใจช่วยลุ้นให้ทีมบาฮา… อยากกระซิบบอกว่าให้รีบพัฒนามาไวๆ คนทางนี้เป็นกำลังใจให้ เตรียมควักกระเป๋ารอแว้ววว…