ภาษาของพระเจ้า (ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค ตอนที่ 36)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

ภาษาของพระเจ้า

(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค ตอนที่ 36)

 

การได้พบปะผู้คนมากมายในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเริ่มมีอิทธิพลต่อกรอบความคิดของ Francis Collins บุรุษผู้พาโครงการจีโนมมนุษย์เข้าถึงเส้นชัย

เขาบอกว่า ความสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์นี้สามารถทลายกำแพงใดๆ ที่กั้นระหว่างคนแปลกหน้าเพื่อเปิดทางให้ “ผู้รักษา” เข้าถึงเบื้องลึก ความลับ และเรื่องราวส่วนตัวที่สุดของ “ผู้ถูกรักษา”

เขาเริ่มสังเกตว่าคนป่วยใกล้ตายหลายต่อหลายคนกลับมีความสงบทางใจจนน่าประหลาดเมื่อได้ยึดเหนี่ยวกับศรัทธาความเชื่อ

ครั้งหนึ่ง Collins ได้สนทนากับหญิงชราผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดขั้นรุนแรงรักษาไม่หาย หลังจากคุยกันหลายต่อหลายเรื่องตั้งแต่ความเจ็บป่วย ไปจนถึงเรื่องชีวิต ความตาย และศาสนา หญิงชราถามกลับตรงๆ ง่ายๆ ว่า “แล้วคุณหมอล่ะ เชื่อในสิ่งใด?”

Collins ชะงักไปพักใหญ่ก่อนจะยอมรับแบบอ้ำอึ้งว่า “ผมก็ไม่แน่ใจ”

พันธุศาสตร์การแพทย์ว่าด้วยการศึกษาความผิดปกติของดีเอ็นเอและการเกิดโรค
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

Collins ในวัยยี่สิบหกปีสลัดคำถามนี้ออกจากหัวไม่ได้ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยได้ลองพยายามตอบคำถามแบบนี้จริงจัง ยิ่งมาเรียนสายวิทยาศาสตร์คำถามเกี่ยวกับศรัทธาความเชื่อยิ่งกลายเป็นเรื่องไกลตัว

เมื่อเจอคำถามที่ตอบไม่ได้ นักวิจัยอย่าง Collins ตั้งมั่นมุ่งหน้าหาความจริงที่มีเหตุผลรองรับไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาเป็นยังไง เขาไล่ตามอ่านสรุปปรัชญาศาสนาหลักๆ แต่ยิ่งอ่านก็ยิ่งงง

Collins ลองไปปรึกษาสนทนาธรรมกับศาสนาจารย์ที่โบสถ์ใกล้ๆ ในประเด็นว่า “มีตรรกะเหตุผลใดหรือไม่ที่สนับสนุนความเชื่อศรัทธา (ในพระเจ้า)?”

ศาสนาจารย์นั่งฟังปัญหาของ Collins อย่างใจเย็น และมอบหนังสือให้เขาไปลองอ่านหนึ่งเล่มชื่อว่า “Mere Christianity” โดย C.S. Lewis

Collins เล่าว่า เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็รู้ตัวเลยว่าตรรกะเหตุผลต่างๆ ที่เขามีอยู่เป็นแค่ระดับเด็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับสิ่งที่ Lewis และนักปรัชญาศาสนาขบคิดกันมาหลายร้อยหลายพันปี

ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติและกฎแห่งศีลธรรมในฐานะหลักฐานการมีอยู่ของพระเจ้า
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

“สรวงสวรรค์เกลื่อนดาวภายนอกและกฎศีลธรรมภายใน” Collins ยกคำกล่าวของ Immanuel Kant นักปรัชญาชาวเยอรมันจากศตวรรษที่ 18 เป็นแกนหลักของข้อโต้แย้งที่พาเขาสู่เส้นทางสายศรัทธา

“สรวงสวรรค์เกลื่อนดาวภายนอก” ว่าด้วยความมหัศจรรย์ของจักรวาลที่ดูเหมือนจะถูกออกแบบมาอย่างเป็นระบบระเบียบ เหมาะเจาะและงดงาม ชวนให้คิดว่าน่าจะมีใครหรืออะไรสักอย่างที่ทรงภูมิปัญญาเป็นผู้ออกแบบไว้มากกว่าจะเกิดจากความบังเอิญ

การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดทั้งมวลตลอดหลายร้อยหลายพันปีที่ผ่านมาไม่ได้ขัดแย้งกับแนวคิดนี้ เพราะเป็นเพียงการตอบคำถามว่าจักรวาลนี้ถูกออกแบบมา “อย่างไร” ไม่ได้ตอบว่าถูกออกแบบมา “หรือไม่” และ “ทำไม”

การค้นพบวิถีการเคลื่อนของดาวเคราะห์ กฎแรงโน้มถ่วง โครงสร้างอะตอม บิ๊กแบง วิวัฒนาการ ฯลฯ คือการศึกษาผลงานอันน่าทึ่งของพระเจ้าผู้สร้าง

อันที่จริงนักวิทยาศาสตร์ดังๆ ในอดีตอย่างโคเปอร์นิคัส กาลิเลโอ และนิวตัน ก็ต่างใช้ความอยากรู้อยากเห็นในงานสรรค์สร้างของพระเจ้าเป็นแรงบันดาลใจในการทำวิจัยด้วยซ้ำ

เมื่อเราย้อนต้นสายปลายเหตุของปรากฏการณ์ธรรมชาติใดๆ ไปเรื่อยๆ ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เราก็จะไปสิ้นสุดที่สมการฟิสิกส์มูลฐานสวยๆ ไม่กี่สมการและค่าคงที่อีกไม่กี่ตัวที่กำหนดทุกความเป็นไปของจักรวาล

แต่เราก็ยังตอบไม่ได้อยู่ดีว่า “ทำไม” สมการถึงออกมาแบบนี้และค่าคงที่ต่างๆ จึงมีค่าเท่านี้

เรื่องน่าทึ่งคือถ้าสมการและค่าคงที่พวกนี้เปลี่ยนไปแม้เพียงน้อยนิด จักรวาลของเราก็จะต่างจากที่เป็นอยู่ตอนนี้โดยสิ้นเชิง จะไม่มีกาแล็กซี่ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ สิ่งมีชีวิต และมนุษย์เรายืนอยู่ตรงนี้

 

Atheist อธิบายว่า แท้จริงแล้วมีจักรวาลซ้อนกันอยู่หลายจักรวาลเหลือคณานับ (multiverse) แต่ละจักรวาลมีสมการฟิสิกส์มูลฐานและค่าคงที่แตกต่างกันออกไป

จักรวาลที่เราอยู่แค่ “บังเอิญ” เหมาะสมพอให้เรากำเนิดขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถสังเกต ศึกษา ทดลอง หรือใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์กับจักรวาลอื่นได้

ดังนั้น ในความเห็นของ Collins คำอธิบายนี้ก็ดูไม่ได้มีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ไปกว่าพระเจ้าผู้สร้าง

“กฎศีลธรรมภายใน” ว่าด้วยความเป็นสากลของความสำนึกผิดชอบชั่วดีในมนุษย์ เช่น ความเสียสละ ความยุติธรรม ความเคารพ ฯลฯ นี่คือสิ่งที่บ่งบอกว่าพระเจ้าผู้สร้างเรานั้นดีงาม ไม่ใช่เป็นเพียงเอเลี่ยนต่างมิติที่เสกกฎฟิสิกส์เนรมิตจักรวาลมาเล่นๆ แล้วจากไป

ส่วนนี้เป็นหนึ่งในแกนหลักจากหนังสือ Mere Christianity ที่ Collins ได้อ่าน

ความมหัศจรรย์ของจักรวาลภายนอกอาจจะพอเป็นข้อสนับสนุนความเชื่อแบบ Deist ที่ว่าจักรวาลนี้ถูกออกแบบมาโดยพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์เดชปัญญา ผู้กำหนดสมการฟิสิกส์มูลฐานและค่าคงที่ต่างๆ แต่พระเจ้าก็ไม่ได้กลับมายุ่งวุ่นวายกับจักรวาลนี้อีก ไม่ได้มาตอบคำสวดอ้อนวอน ไม่ได้มาสำแดงปาฏิหาริย์ใดๆ นักวิทยาศาสตร์ดังหลายคน อย่างไอน์สไตน์ มีมุมมองต่อพระเจ้าแบบนี้

ขณะที่พระเจ้าในศาสนาหลักอย่างคริสต์ อิสลาม ยูดาย เป็นพระเจ้าในความเชื่อแบบ Theist ที่ยังคงมาข้องเกี่ยวมีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ต่างๆ ในจักรวาลโดยเฉพาะมนุษย์ด้วย พระเจ้าแบบนี้ต้องมีจิตใจและต้องแคร์ความเป็นอยู่เป็นไป และความประพฤติของเรา

 

Collins บอกว่า กฎแห่งศีลธรรมต่างจากกฎแห่งฟิสิกส์ตรงที่พวกเราแหกกฎกันเป็นประจำ

เมื่อแหกแล้วเราก็มักจะหาข้ออ้างทั้งกับตัวเองและคนอื่นว่าทำไมเราถึงจำเป็นต้องแหกกฎนี้ในคราวนี้ แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่ากฎเหล่านั้นมีอยู่จริง คนต่างพื้นเพต่างวัฒนธรรมอาจจะตีความบังคับใช้กฎพวกนี้ต่างกัน และหลายครั้งมันก็ออกมาในรูปแบบพฤติกรรมที่ดูป่าเถื่อนจากมุมมองคนทั่วไปในยุคปัจจุบัน (เช่น การสังเวยมนุษย์ หรือล่าแม่มด) แต่นั่นไม่ได้แปลว่ากฎศีลธรรมอันเป็นสากลไม่ได้มีอยู่

Atheist พยายามอธิบายการกำเนิดขึ้นและการดำรงอยู่ของกฎเกณฑ์เหล่านี้ด้วยหลักวิวัฒนาการ เช่น การช่วยเหลือกัน การจัดสรรผลประโยชน์อย่างยุติธรรม ฯลฯ เพิ่มโอกาสการอยู่รอดของกลุ่มนำมาสู่การเพิ่มโอกาสการส่งถ่ายลักษณะพันธุกรรมที่ส่งเสริมพฤติกรรมพวกนี้

Collins แย้งว่า คำอธิบายดังกล่าวอาจจะพอใช้ได้สำหรับกรณีช่วยเหลือแบ่งปันกับญาติใกล้ชิด หรือไม่ก็คนที่ยังพอมีโอกาสตอบแทนผลประโยชน์กันในภายหลัง แต่การช่วยเหลือคนแปลกหน้าในบริบทที่แทบไม่มีคนรู้เห็นหรือตอบแทนกันภายหลัง (ซึ่งก็มักเป็นแบบที่มนุษย์เรายกย่องมากที่สุด) อธิบายด้วยวิวัฒนาการยังไม่ได้ หรือถึงพอได้ก็หลักฐานอ่อนมากจนแทบจะเป็นการแถไป

Collins ผันตัวจาก Atheist มาเป็น Theist คริสเตียนในวัยยี่สิบแปดปี เขาได้เล่าเรื่องการเดินทางสายจิตวิญญาณและข้อโต้เถียงต่างๆ ข้างต้นอย่างละเอียดในหนังสือชื่อ “The Language of God” (ตีพิมพ์ในปี 2006 ไม่นานหลังสิ้นสุดโครงการจีโนมมนุษย์)

หลังเรียนจบแพทย์ในปี 1977 Collins ต่อเฉพาะทางด้านอายุศาสตร์ ก่อนจะกลับไปที่ Yale ทำวิจัยด้านพันธุศาสตร์การแพทย์อย่างที่ตั้งใจไว้ ในปี 1984 เขาได้งานเป็นอาจารย์แพทย์และหัวหน้ากลุ่มวิจัยที่ University of Michigan

ที่นี่ Collins ได้สั่งสมชื่อเสียงเป็นคนดังในวงการพันธุศาสตร์ในฐานะ “นักล่ายีน (gene hunter)”