ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (9)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

หลังกบฏบวรเดช

15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 หลังความสำเร็จในการปราบปรามกบฏบวรเดช และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลพิเศษ รัฐบาลจัดเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2477 พระยาพหลพลพยุหเสนาได้รับความไว้วางใจจากสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

2 มีนาคม พ.ศ.2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติ ณ ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ กรณีกบฏบวรเดชได้สร้างความสลดพระทัยให้กับพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ทรงหลีกเลี่ยงการลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายจัดตั้งศาลพิเศษด้วยการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อรักษาพระเนตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและเลยไปประทับที่ประเทศอังกฤษ โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

และตลอดเวลาที่ประทับที่อังกฤษนั้น ปรากฏความเข้าใจที่ไม่ราบรื่นระหว่างพระองค์กับรัฐบาลตลอดมา โดยเฉพาะด้านการตรากฎหมายบางฉบับที่ทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญยับยั้งแล้ว แต่รัฐบาลก็ประกาศใช้ เป็นต้น

สาระสำคัญส่วนหนึ่งของประกาศสละราชสมบัติที่รู้จักกันดีคือ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

7 มีนาคม พ.ศ.2477 สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของรัฐบาลในการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8

22 กันยายน พ.ศ.2477 สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตติของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุเสนา เรื่องความตกลงระหว่างประเทศในการควบคุมจำกัดราคายาง พระยาพหลพลพยุเสนากราบถวายบังคมลาออกเพื่อรักษามารยาททางการเมือง แต่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

หลวงพิบูลสงครามเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีนี้ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกลายเป็นแกนนำหลักของคณะราษฎรรองลงมาจากพระยาพหลพลพยุหเสนา

 

หลวงอดุล : “พวกก่อการจะฉิบหายไม่ได้”

หลังความล้มเหลวในเหตุการณ์กบฏบวรเดช แต่ความไม่พึงพอใจที่มีต่อคณะราษฎรและรัฐบาลที่มีพระยาพหลพลพยุเสนาเป็นนายกรัฐมนตรียังคงดำรงอยู่จากกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งรอดพ้นจากการถูกตำรวจสันติบาลจับกุมจากคราวกบฏบวรเดชเพราะหลักฐานไม่ชัดเจนหรือยังสืบสวนไปไม่ถึง

ผู้อยู่เบื้องหลังนั้นบางคนเป็นข้าราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักการเมือง หรือแม้บุคคลในกลุ่มคณะราษฎรเองก็มี รัฐบาลจึงมอบหมายภารกิจการสืบสวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ตำรวจสันติบาลดำเนินการเพราะมีข่าวความพยายามลอบสังหารบุคคลสำคัญในรัฐบาล

“บุคคลสำคัญ” ที่เป็นเป้าหมายความไม่พึงพอใจครั้งนี้ คือหลวงพิบูลสงครามจากความสำเร็จในการปราบปรามกบฏบวรเดชและกำลังเติบโตทางการเมืองจนกลายเป็น “หมายเลขสอง” ของคณะราษฎร

ทั้งความสำคัญทางการเมืองของคณะราษฎร ทั้งภารกิจตามกฎหมายของกรมตำรวจที่มีต่อรัฐและรัฐบาล และทั้งมิตรภาพอันแนบแน่นต่อหลวงพิบูลสงคราม หลวงอดุลเดชจรัสจึงทุ่มเทเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกรมตำรวจอย่างสุดกำลัง ซึ่งได้ปรากฏเหตุการณ์สำคัญในเวลาต่อมาดังนี้

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2477 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุม นายพลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตผู้บัญชาการทหารไทยที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นในข้อหากบฏแล้วควบคุมตัวมาทำการสอบสวนที่กองตำรวจสันติบาลกระทั่งนำตัวส่งขึ้นฟ้องศาลในข้อหาจ้างคนสังหารชีวิตหลวงพิบูลสงคราม แต่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องปล่อยตัวพ้นข้อหาเมื่อ 20 มกราคม พ.ศ.2478

ต่อมา นายพลโท พระยาเทพหัสดิน ก็ถูกจับกุมอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2481

 

นายพลโท พระยาเทพหัสดิน บันทึกว่า

“ข้าพเจ้าอยู่ในสายตาของตำรวจมาหลายปีแล้ว เพราะไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปไหน มีจารชนคอยติดตาม และหลายครั้งถึงกับมีตำรวจในเครื่องแบบออกติดตาม ที่หน้าบ้านข้าพเจ้ามีจารชนประจำอยู่เสมอ และในลักษณะต่างๆ กัน เช่น เจ๊กก็มี คนขับรถยนต์รับจ้างก็มี เป็นคนตกปลาก็มี”

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 (ปฏิทินเก่า) หลังการจับกุมนายพลโท พระยาเทพหัสดินเพียง 4 เดือนเศษก็เกิดเหตุร้ายขึ้นอีก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสที่สนามหลวงขณะไปเป็นประธานการแข่งขันกีฬา เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจับกุมตัวคนร้ายได้ในที่เกิดเหตุชื่อ นายพุ่ม ทับสายทอง มือปืนรับจ้างจากนครปฐม

หลวงอดุลเดชจรัส รองอธิบดีกรมตำรวจ ได้มอบหมายให้กองตำรวจสันติบาลซึ่งมีขุนศรีศรากรเป็นกำลังสำคัญทำการสอบสวน โดยหลวงอดุลเดชจรัสทำการควบคุมการสอบสวนด้วยตนเองอย่างใกล้ชิดจนสามารถขยายผลการสืบสวนต่อไปจนถึงผู้อยู่เบื้องหลัง

ในที่สุดตามทางการสอบสวนก็สามารถจับกุมผู้จ้างวานได้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2477 คือ พระยาธรณีนฤเบศร์ (ทิพย์ ผลเตมีย์) อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรกลางสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และนำตัวส่งฟ้องศาล

ผลปรากฏว่า นายพันตำรวจเอก พระยาธรณีนฤเบศร์ ถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่มีเหตุอันควรปรานีจึงได้รับการลดโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต

 

กบฏนายสิบ

กลางปี พ.ศ.2478 นายทหารชั้นประทวนระดับนายสิบในสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 และกองพันทหารราบที่ 3 ได้ร่วมประชุมวางแผนเพื่อก่อรัฐประหารขึ้นโดยจะใช้กำลังทหารระดับนายสิบทุกกรมกองลุกขึ้นมาปลดอาวุธผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับผู้บังคับหมวดขึ้นไปจนถึงระดับผู้บังคับกองพันและมีแผนสังหารบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล เช่น หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการ ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนานั้นจะจับไว้เป็นตัวประกัน

นอกจากนั้น ยังมีแผนจะปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั้งสิ้นจากเรือนจำเพื่อให้ออกมาร่วมก่อรัฐประหาร โดยกำหนดจะลงมือทำการในวันที่ 5 สิงหาคม 2478

คณะก่อการรัฐประหารมีเป้าหมายในการอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมาครองราชย์และพลิกฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นอีกวาระหนึ่ง

แต่ปฏิบัติการของนายทหารชั้นประทวนครั้งนี้ยังมิทันได้ลงมือ กรมตำรวจที่ได้ทราบความเคลื่อนไหวอยู่ก่อนแล้ว ก็รายงานไปยังรัฐบาล ดังนั้น ในวันที่ 3 สิงหาคม 2478 จึงสั่งเตรียมพร้อมทหารทุกกองพันและได้มีการจับกุมทั้งผู้คิดก่อการได้จำนวน 21 คน

ได้มีการจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีกบฏนายสิบครั้งนี้ ท้ายที่สุดมีจำเลยถูกฟ้องคดีรวมทั้งหมด 13 คน เป็นทหารจำนวน 12 คน เป็นพลเรือน 1 คน การดำเนินคดีพิเศษเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2478 มีการตัดสินคดีโดย ส.อ.สวัสดิ์ มหะหมัด ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับสารภาพ ถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนอีก 12 คน ให้การรับสารภาพ ถูกตัดสินให้จำคุกที่มีทั้งจำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 20 ปี ส่วนบุคคลพลเรือนถูกตัดสินให้จำคุก 16 ปี

ต่อมาในสมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ถูกจำคุกก็ได้รับการอภัยโทษร่วมกับนักโทษการเมืองในคดีอื่นๆ

นายหนหวยบันทึกว่า ในการพิจารณาคดีของของศาลพิเศษ มีความต้องการให้กลุ่มนายสิบซัดทอดถึงผู้อยู่เบื้องหลังโดยพุ่งเป้าไปที่พระยาทรงสุรเดช แต่ไม่สำเร็จ นายหนหวยบันทึกอีกด้วยว่า จำเลยทุกคนถูกถามหลายครั้งว่า “พระยาทรงสุรเดชเป็นหัวหน้าใช่ไหม”

 

การปองร้ายหลวงพิบูลสงคราม

นอกจากกรณี นายพลโท พระยาเทพหัสดิน พระยาธรณีนฤเบศร์ และกบฏนายสิบแล้ว การสืบสวนของตำรวจสันติบาลยังได้ค้นพบแผนการปองร้ายหลวงพิบูลสงครามอีกหลายครั้งดังนี้

ฝ่ายปฏิปักษ์ของรัฐบาลได้ส่งคนมาดักยิงหลวงพิบูลสงครามที่ศรีย่าน แต่ตำรวจสันติบาลทราบเรื่องก่อนจึงไปคอยดักจับกุมคนร้าย คนร้ายได้ต่อสู้ขัดขวางและหลบหนีไปที่นนทบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามไปเกิดการต่อสู้ขึ้น คนร้ายถูกยิงตายในที่เกิดเหตุ

นอกจากนี้ ยังได้มีการว่าจ้างมือปืนมาดักยิงหลวงพิบูลสงครามที่สะพานมัฆวานรังสรรค์อีก แต่รถของหลวงพิบูลสงครามแล่นเร็วจนยิงไม่ทัน

9 กันยายน 2481 นายลี บุญตา คนใกล้ชิดหลวงพิบูลสงครามใช้ปืนยิงหลวงพิบูลสงครามที่บ้านพัก

แต่กระสุนพลาดเป้า

9 ธันวาคม 2481 มีการลอบวางยาพิษใส่ในอาหารแต่แพทย์สามารถแก้ไขได้ เหตุเกิดที่บ้านพักหลวงพิบูลสงคราม

21 ธันวาคม 2481 ก็มีเหตุสงสัยว่ามีการลอบวางยาพิษอีก

ต่อมาอีกมานานได้มีการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งอันเป็นสาเหตุของการปองร้อยเหล่านี้อย่างเด็ดขาดในเดือนมกราคม พ.ศ.2481 หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของหลวงพิบูลสงคราม

ความพยายามในการทวงคืนอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าและการปองร้ายหลวงพิบูลสงครามเหล่านี้ กรมตำรวจภายใต้การควบคุมดูแลของหลวงอดุลเดชจรัสได้ทำหน้าที่ปกป้องรัฐบาลและคณะราษฎรอย่างเต็มที่

เหมือนดังที่ได้กล่าวในเวลาต่อมาในที่ประชุมคณะรัฐบาลเมื่อปี 2489 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ว่า

“พวกก่อการจะฉิบหายไม่ได้ หลวงอดุลจะต้องต่อสู้เพื่อความคงอยู่ของผู้ก่อการ แต่จะคงอยู่อย่างไร การที่จะคงไว้ให้ได้นั้น จำเป็นต้องทำอย่างนี้”