“ทางรัฐ”ซูเปอร์แอปรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท “พวงเพ็ชร”ชวนดาวน์โหลด รวมบริการภาครัฐอีกเพียบ!

หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้เผยรายละเอียดเกี่ยวกับแพลตฟอร์มตัวกลางในการกระจายเงิน โดยระบุว่า เม็ดเงินนั้นจะถูกกระจายผ่านซุปเปอร์แอป (Super App) ที่พัฒนาขึ้นโดยรัฐชื่อว่า “ทางรัฐ” เป็นตัวเชื่อมระบบหลังบ้านกับโมบายแบงก์กิ้งแอปพลิเคชั่นของธนาคารต่างๆ เปิดทางเลือกให้กับประชาชน สามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น สามารถรับเงินได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น ในแง่ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการดังกล่าว ก็สามารถใช้แอปฯ ของธนาคารที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ในการสแกนจ่ายค่าสินค้าหรือบริการกับร้านค้าได้เหมือนปกติ เพียงแต่รายการธุรกรรมดังกล่าว จะเขียนเงื่อนไขให้ไม่สามารถแลกออกมาเป็นเงินสดได้ในทอดแรก

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องดิจิตอลวอลเล็ตแล้ว ความจริงแอปฯ “ทางรัฐ” ยังมีสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย สามารถตรวจสอบ สิทธิ สวัสดิการ จากภาครัฐได้ตลอดทุกช่วงชีวิต

รู้จักแอปฯ ทางลัด “ทางรัฐ”

แอปฯ “ทางรัฐ” นั้นไม่ใช่แอปพลิเคชันใหม่แต่อย่างใด เริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2564 และยังคงพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นแอปฯ ที่รวมบริการสำคัญของภาครัฐมาไว้ในแอปฯ เดียว อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ร่วมกับหลายหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการปกครอง, สำนักงานประกันสังคม, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ทำให้ประชาชนสามารถรับบริการจากภาครัฐกว่า 149 รายการ

โดยมีบริการจากภาครัฐที่น่าสนใจมากมาย เช่น

บริการตรวจสอบสิทธิประกันสังคม พร้อมเช็กยอดเงินประกันสังคม สิทธิโครงการเยียวยา ยอดเงินสมทบชราภาพ สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้

บริการตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และสถานพยาบาลตามสิทธิที่ได้รับ เป็นบริการที่แสดงสิทธิรักษาพยาบาล และสถานพพยาบาลตามสิทธิที่ท่านได้รับ รวมถึงช่องทางการเปลี่ยนหน่วยบริการ

– ตรวจสิทธิการรักษาพยาบาล (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สามารถตรวจสอบใบสั่งจราจร ของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงชำระใบสั่งผ่าน QR code โดยแจ้งเตือนและติดตามสถานะการชำระใบสั่งได้ สะดวกง่ายไม่ต้องเดินทาง พร้อมทั้งสามารถตลรวงสอบข้อมูลทะเบียนรถ การจองคิวอบรมใบขับขี่ได้ด้วย

ตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ
ตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร “แบบสรุป” โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
บริการตรวจสอบและชำระเงินค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้ผ่าน App Store และ Google Play ฟรี และเมื่อติดตั้งแอปฯ เรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการสมัครเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ ผ่านการยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากเป็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล

สำหรับขั้นตอนในการสมัครเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ สามารถทำได้ 2 ช่องทางด้วยกัน ดังนี้

ช่องทางที่ 1 สมัครเข้าใช้งานและยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ โดยใช้บัตรประชาชน และการสแกนใบหน้า เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อย ก็สามาถเข้าใช้บริการภาครัฐได้ทันที

ช่องทางที่ 2 สมัครเข้าใช้งานและสามารถเลือกยืนยันตัวตนได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิสร้าน 7-eleven ทั่วประเทศไทย, เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทย, ตู้บุญเติม, ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ และ แอปพลิเคชัน ThaID ได้อีกด้วย

ซึ่งหากใครที่เคยโหลดแอปฯ ThaID และยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถยืนยันตัวตนได้ง่ายมาก เพราะระบบนั้นมีความเชื่อมโยงกัน

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทางรัฐ
ระบบ iOS (คลิก)
ระบบ Android (คลิก)

จุดมุ่งหมาย
แอปฯ
ทางลัด-ทางรัฐ

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) เผยว่า สพร. เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญ แต่ไม่ค่อยมีใครทราบและเข้าใจการทำงานของ สพร. เท่าที่ควร

โดยรัฐบาลต้องการผลักดันให้ “ทางรัฐ” เป็นเสมือน “ซูเปอร์แอปของภาครัฐ” เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในแอปพลิเคชันเดียว เปรียบเสมือน “ทางลัดถึงรัฐ”

โดยเฉพาะการตรวจสอบสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ เช่น ข้อมูลสำหรับผู้ประกันตน (ประกันสังคม) ข้อมูลเงินสะสม/สมทบ และประวัติการใช้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากสำหรับการรักษาสิทธิของประชาชน นอกจากนี้ยังมีบริการอื่นๆ เช่น แจ้งเตือนวันต่อภาษีรถยนต์ ตรวจสอบข้อมูลพิกัดแปลงที่ดิน ราคาประเมินที่ดิน จ่ายค่าใบสั่งจราจร เป็นต้น

โดยที่ผ่านมา ได้รับสพร. ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายส่วนราชการที่เห็นความสำคัญของการให้บริการดิจิทัลที่สะดวกสบายแก่ประชาชนได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิ์ จ่ายบิล หรือติดตาม สถานะการขอใช้บริการจากภาครัฐได้อย่างง่าย สะดวก ไม่ต้องรอเวลาราชการ

เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของเราคือ การสร้างระบบศูนย์กลางการบริการประชาชนเพื่อการติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ Citizen Portal ให้เป็นจริงและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมบริการประชาชน ทุกช่วงวัย รวมทั้งเพิ่มศักยภาพ และความพร้อมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนประเทศไทย และร่วมกันสร้างประเทศให้ทันสมัย (Smart Nation) เพื่อชีวิตของคนไทยที่ง่ายขึ้น (Smart Life) ส่งผลให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น