เรื่องร้อนๆ ของโลก สู่ดินแดนที่ไม่คุ้นเคยอีกต่อไป

ขณะที่ประเทศไทยเรารู้สึกได้ถึงอากาศที่ร้อน และร้อนมาก ถึงร้อนมากที่สุด อย่างที่รู้สึกว่าไม่เคยเจอมาก่อน ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกัน ก็ร้อนแบบสุดสุดไม่แพ้กัน

อย่างประเทศฟิลิปปินส์ ก็กำลังเผชิญกับอากาศสุดร้อนเช่นกัน โดยปลายสัปดาห์ก่อน กระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ ประกาศปิดโรงเรียนกว่า 5 พันแห่งทั่วประเทศชั่วคราว และปรับแผนให้ไปเรียนออนไลน์แทน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด บางแห่งอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นถึง 44 องศาเซลเซียส โดยบางพื้นที่ อย่างตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ประกาศปิดโรงเรียนไปถึงกลางเดือนเมษายน และให้นักเรียนเรียนออนไลน์แทน

ในขณะที่ประเทศกัมพูชา ก็ร้อนไม่แพ้กัน โดยอุณหภูมิช่วง 9-11 เมษายน บางพื้นที่พุ่งสูงขึ้นไปถึง 39 องศาเซลเซียส แน่นอนว่า สภาพอากาศที่ร้อนเช่นนี้ ทำให้มีการใช้ไฟเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องมีการเปิดแอร์กันมากขึ้น

โดยมีตัวเลขทางการระบุว่า มีความต้องการใช้ไฟ้ในหน้าร้อนปีนี้เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จริงๆ ในเรื่องของความร้อนระอุของโลกเรานั้น มีการเตือนกันมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาแล้วว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะก่อให้เกิดความแห้งแล้งขึ้น

โคเปอร์นิคัส ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป ระบุว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิทั่วโลกได้ทำสถิติใหม่สูงสุดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ทั้งอุณหภูมิอากาศ และอุณหภูมิมหาสมุทร ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

โดยข้อมูลของโคเปอร์นิคัสระบุว่า เดือนมีนาคมปีนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 14.14 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าสถิติก่อนหน้าในปี 2016 ที่อยู่ที่ 10 องศาเซลเซียส ขณะที่ในช่วงทศวรรษที่ 1800 อุณหภูมิเฉลี่ยดังกล่าวอยู่ที่เพียง 1.68 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งเป็นอุณหภูมิพื้นฐานก่อนที่จะมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนทำลายสถิติต่อเนื่องกันในทุกเดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ที่มีปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้เกิดคลื่นความร้อนจากทะเลครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ในมหาสมุทรโลก

 

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การที่ความร้อนจะพุ่งทำลายสถิติต่อเนื่องกันในช่วงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงซึ่งทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางอุ่นขึ้น ส่งผลให้รูปแบบของสภาพอากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป

โดยเจนนิเฟอร์ ฟรานซิส นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศวูดเวลล์ กล่าวว่า การผสมผสานกับคลื่นความร้อนในมหาสมุทรที่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ปกตินี้ทำให้สถิติความร้อนน่ากลัวมากขึ้น แต่เมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญลดน้อยลง อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยติดต่อกันดังกล่าวก็ควรจะลดลงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ฟรานซิสชี้ว่า ความร้อนที่บันทึกได้ส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาจากการที่พฤติกรรมของมนุษย์ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

“วิถีของมันจะไม่เปลี่ยนจนกว่าความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศจะหยุดเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าเราต้องหยุดการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล หยุดการตัดไม้ทำลายป่า และทำให้การผลิตอาหารของเรามีความยั่งยืนมากขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่จนกว่าจะถึงเวลานั้น คาดว่าจะมีการทำลายสถิติเพิ่มมากขึ้นอีก” ฟรานซิสกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แม้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะเชื่อว่าอุณหภูมิโลกจะลดลงเมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญหายไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนยังกังวลว่ามีโอกาสที่มันอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น

เกวิน ชมิดต์ ผู้อำนวนการสถาบันกอดดาร์ด อินสติติวต์ ฟอร์ สเปซ สตาดีส์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา ของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า หากสิ้นฤดูร้อน (เดือนมิถุนายน-สิงหาคม) ถ้ายังคงเห็นอุณหภูมิที่ร้อนทำลายสถิติในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือหรือในที่อื่นๆ

นั่นแสดงว่า เราได้ก้าวไปสู่ดินแดนที่ไม่คุ้นเคยแล้วจริงๆ