หนี้ครัวเรือนส่อ ‘วิกฤต’ จุดอันตรายเศรษฐกิจไทย ระเบิดเวลารอปะทุ

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

วิกฤตหนี้ครัวเรือน ยังคงเป็นเนื้อร้ายที่กัดกร่อนเศรษฐกิจไทย จากปัญหาเกิดขึ้นกับประชาชน ปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มรูปแบบ การใช้จ่ายด้านค่าครองชีพมีราคาสูง ส่วนต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยก็แพงขึ้น

หนักที่สุดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีข้อจำกัด เพราะสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น เหล่านี้อาจนำมาสู่ปัญหา ‘รายได้ไม่พอรายจ่าย’

เมื่อประชาชนต่างมีภาระหนี้สูง การใช้จ่ายจะลดน้อยถอยลง สุดท้ายปัญหาอาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว

หนี้ครัวเรือนถูกมองว่าเป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ สถิติข้อมูลหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.7% มูลค่าหนี้ 16.8 ล้านล้านบาท เติบโตในอัตราชะลอลงเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

นับตั้งแต่ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 94.2% มูลค่าหนี้ 14.8 ล้านล้านบาท ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 94.6% มูลค่าหนี้ 15.3 ล้านล้านบาท ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 91.4% มูลค่าหนี้ 15.9 ล้านล้านบาท และปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3% มูลค่าหนี้ 16.4 ล้านล้านบาท

 

แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะมีอัตราการขยายตัวชะลอลง กลับกันยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

เรื่องนี้ ‘ธนวรรธน์ พลวิชัย’ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ฉายภาพการที่หนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง สาเหตุจะมาจากอัตราดอกเบี้ยคงอยู่ระดับสูงหรือไม่นั้น คงต้องแยกว่าปัญหาหนี้เกิดขึ้นจากการก่อหนี้ ดังนั้น จึงมีมุมมอง 2 มุม ถ้าดอกเบี้ยถูกคนจะกู้มากขึ้นหรือไม่ และถ้าดอกเบี้ยถูกคนสามารถขอเงินกู้ได้หรือไม่

เพราะฉะนั้น บางทีการลดดอกเบี้ยลงแล้วจะมองว่าช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายก็อาจจะมองได้ ถ้าดอกเบี้ยนั้นเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) แต่ถ้าดอกเบี้ยนั้นถูกกำหนดไว้ เช่น สินเชื่อรถมันจะไม่ได้มีการลดภาระหนี้ครัวเรือน

แต่สิ่งที่สำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการทำให้เศรษฐกิจโต อันนี้สำคัญมาก เมื่อมีรายได้ภาระหนี้จะหายไป การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ทำได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และ ธปท.เน้นเรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ให้สถาบันการเงินดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น สถาบันการเงินก็มีความเคร่งครัดการปล่อยสินเชื่อแบบดูแลสังคม

ธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเหมือนกับทุกประเทศในโลก เราก่อหนี้ในระดับประเทศก็คือหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ต่อจีดีพี เมื่อรัฐบาลทั่วโลกและไทยก่อหนี้เพิ่มขึ้น ประชาชนก็ก่อหนี้เพิ่มขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจโตต่ำตัวรายได้ก็จะต่ำ ประชาชนก็เหมือนกัน ดังนั้น หนี้สาธารณะของไทยจะไปในทิศทางใกล้กับหนี้ครัวเรือนประชาชน เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นภาระหนี้ต่อครัวเรือนก็จะลดลง

“ภายใน 5 ปี หากมีการวางแผนเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนอย่างดี ให้ความรู้กับประชาชน จะส่งผลให้ทั้งหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนอาจจะลดลงอยู่ที่ระดับ 88% ต่อจีดีพี จากปัจจุบันสูงถึง 90.9% ต่อจีดีพี” ธนวรรธน์ระบุ

 

ขณะที่แวดวงการเงินโดย ‘กาญจนา โชคไพศาลศิลป์’ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปัจจุบัน อยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดของสถิติหนี้ครัวเรือนไทยที่ 95.5% ที่เห็นในช่วงไตรมาส 1/2564 จากผลกระทบของวิกฤตโควิด แต่ประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีอาจมีแนวโน้มชะลอลงในระยะข้างหน้า หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวและหนี้สินภาคครัวเรือนเริ่มโตช้าลง

แต่คงไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพีได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้ เนื่องจากครัวเรือนยังพึ่งพาเงินกู้มาบริหารจัดการสภาพคล่องและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

สำหรับแนวโน้มทั้งปี 2567 คาดว่าหนี้ครัวเรือนอาจเติบโตต่ำกว่าระดับ 3.0% ในปี 2567 เทียบกับที่เติบโต 3.0% ในปี 2566 โดยมียอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2567 อยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.7% ต่อจีดีพี ภายใต้สมมุติฐานภาพรวมเศรษฐกิจ (โนมินอลจีดีพี) ปี 2567 เติบโตในอัตราประมาณ 3.6% ชะลอลงระดับ 91.3% ต่อจีดีพีในปี 2566

อีกทั้งคาดว่าหนี้ครัวเรือนปี 2567 จะยังคงเติบโตต่ำกว่าภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะครัวเรือนส่วนใหญ่น่าจะชะลอการก่อหนี้ก้อนใหม่ท่ามกลางความกังวลต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีวงเงินต่อสัญญาค่อนข้างสูง

เช่น สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ผู้กู้บางส่วนอาจเลื่อนการตัดสินใจเพื่อรอจังหวะการปรับทิศของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ

 

ขณะที่สถาบันการเงินอาจประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต ความสามารถในการชำระหนี้ และดูแลในเรื่องรายได้หลังชำระหนี้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพตามเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการก่อหนี้เพิ่มของผู้กู้ที่มีภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันในกลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้และกำลังซื้อระดับกลาง-ล่าง

ทั้งนี้ มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนที่ทางการเริ่มดำเนินการในหลายๆ ส่วน อาทิ การแก้หนี้นอกระบบและการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ กยศ. การปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายย่อย และการแก้หนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนที่เริ่มแล้วในวันที่ 1 เมษายน 2567 น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย

“มาตรการดังกล่าวอาจไม่ได้ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลา และต้องแก้ไขปัญหาด้านรายได้และพฤติกรรมของครัวเรือน ควบคู่ไปกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย” กาญจนาทิ้งท้าย

เพื่อคลายล็อกปัญหาไปทีละเปลาะ หวังว่ามาตรการที่รัฐบาลและแบงก์ชาติออกมาจะโละหนี้คนไทยได้จริง

หากปัญหาหนี้หยั่งรากลึก สุดท้ายการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้สดใสอีกครั้งคงยากที่จะเห็น!!