‘กรรม’ ยุคดิจิทัล ‘ต่อ’ ไม่ไปต่อ ‘โจ๊ก’ จบไม่โจ๊ก

ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น จู่ๆ เพื่อนเก่าแก่คนหนึ่งแกมีอารมณ์ขันพลันนึกถึงละครโทรทัศน์ยุคขาวดำเรื่อง “พิภพมัจจุราช” ซึ่งเคยฉายทางช่อง 5 เมื่อปี พ.ศ.2511-2518 ขึ้นมา

เป็นละครสะท้อนแนวคิด “กฎแห่งกรรม”

เพื่อนยังอุตส่าห์ฮัมเพลงประกอบละครให้ฟังด้วยความสนุกสนาน

“ฮะ ฮะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า พิภพมัจจุราช ใครถึงฆาตดับชีวี

สุวรรณตรวจดูบัญชี ถ้าทำดีให้ไปสวรรค์

ทำชั่วพญายมว่าไง ข้าส่งลงไปนรกโลกันต์นะสิ

ต้นงิ้วกระทะทองแดง เอาหอกแหลมแทงทุกวัน-ทุกวัน ฮะ ฮะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า…”

เพื่อนตบท้ายเบาๆ ว่า “นรก” มีหลายขุม “พญามัจจุราช” วินิจฉัยจากหลักฐานซึ่งขึ้นอยู่กับ “กรรม” หรือพฤติการณ์ของแต่ละคนที่ทำกันมา

ถ้าหลักฐานมีมากและหนักแน่น ก็ส่งไปลงนรกขุมลึกๆ!

 

สงสัยว่า “ความยุติธรรม” ในสังคมจะเหือดแห้ง ผู้คนจึงฝันถึงการชำระความใน “โลกหลังความตาย”

โลกเราทุกวันนี้ “คนบาป” นิยมชำระล้างความผิดด้วยการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ก็ติดสินบนพระอิฐพระปูน ลามไปถึง “กรรม” ผิดกฎหมาย ที่ยังคงมีคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า กระบวนการชำระความของไทยคดงอ บิดเบี้ยว

การดำเนินคดีอาญาในประเทศไทย ใช้ “ระบบกล่าวหา”

กระบวนการค้นหาความจริงพิสูจน์ความผิดเริ่มตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ชี้ขาดสุดท้ายที่ “ศาล”

ที่มีการกล่าวหา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. นั้นก็จะต้องพิสูจน์ด้วย “กระบวนการยุติธรรม”

เพียงแต่ที่ตื่นเต้นเร้าใจสำหรับสังคมไทยก็คือ ในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยมี ที่ “ผบ.ตร.” กับ “รอง ผบ.ตร.” ถูกย้ายพร้อมกัน

ยังไม่เคยมี ที่ทั้ง “ผบ.ตร.” และ “รอง ผบ.ตร.” ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดอาญาร้ายแรง!

ยังไม่เคยมีที่ระดับ “รอง ผบ.ตร.” ถูกศาลอาญา “ออกหมายจับ”!

 

“หมายจับ” เป็นหมายอาญา

ไม่ใช่จู่ๆ ศาลก็จะออกหมายจับให้ เพราะหมายจับ หมายถึง “คำสั่งจากศาล” ให้เจ้าพนักงานไป “จับตัว” คนผู้นั้นมาดำเนินคดีอาญา

แล้วทำไม ระดับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือ “โจ๊กหวานเจี๊ยบ” รอง ผบ.ตร.ผู้โด่งดังจึงถูกออกหมายจับ

พนักงานสอบสวน สน.เตาปูน ออก “หมายเรียก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม

และเนื่องจาก “ตัว” ผู้ถูกออกหมายเรียกโผล่เป็นข่าวให้เห็นหน้ากันอยู่ทุกวัน พนักงานสอบสวนจึงออกหมายเรียก “ครั้งที่ 2” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม

ตามด้วยหมายเรียก “ครั้งที่ 3” วันที่ 27 มีนาคม-ครบกำหนดวันที่ 1 เมษายน

เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ถูกออกหมายเรียก “ไม่มาพบพนักงานสอบสวน” ขั้นสุดท้ายก็ต้องขอศาลออก “หมายจับ”

บัดนี้ ผู้ถูกออกหมายจับ น่าจะมีความรู้ความเข้าใจดีขึ้นแล้วว่า “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี” (สน.เตาปูน) ต้อง “เดินหน้า”

 

ภาพที่ “โจ๊ก” หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สน.เตาปูน เมื่อวันที่ 3 เมษายนนั้นเป็นภาพที่ยากจะได้เห็น

“โจ๊ก” รับราชการตำรวจมา 30 ปี เคย “กล่าวหา” ผู้อื่น มีทั้งคนทั่วไปและตำรวจด้วยกันเองมามากต่อมาก วันนี้เข้าใจคำว่า “ผู้ถูกกล่าวหา” ได้อย่างลึกซึ้งแล้วจึงกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันเข้ามอบตัวว่า “ขณะนี้ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เพราะศาลยังไม่ตัดสิน”

ใช่ ตำรวจทุกท่านพึงตระหนัก…ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลถึงที่สุด ก็ยังคงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

โจ๊กเข้าใจ “ผู้ถูกกล่าวหา” แล้ว!

มนุษย์ทุกคนมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด “สิทธิ” อันพึงมีของ “ผู้ถูกกล่าวหา” ก็คือโอกาสในการต่อสู้

ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะได้รับทราบว่า ถูกกล่าวหาว่าทำอะไร ทำอย่างไร และผิดอย่างไร จึงจะถูกดำเนินคดีอาญา

 

กลับไปที่ “หมายเรียก” อีกครั้ง

การออก “หมายเรียก” ของพนักงานสอบสวนนั้นเป็นการทำหน้าที่สอบสวน

ออก “หมายเรียก” เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามาอธิบายความ หรือแก้ตัว (เรียกว่า ให้ปากคำ) ซึ่งเมื่อมาพบแล้วก็เป็น “สิทธิ” ของผู้ถูกกล่าวหาว่าจะอธิบาย หรือไม่อธิบายความในชั้นพนักงานสอบสวน สิทธิในการต่อสู้คดีมีอยู่อย่างเต็มที่ และตราบเท่าที่ศาลยังไม่มี “คำพิพากษา” ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยยังคงเป็น “ผู้บริสุทธิ์”

การไม่ไปพบพนักงานสอบสวนตาม “หมายเรียก” นั้นเป็นไปได้ว่า “โจ๊ก” อาจจะสำคัญผิดในอะไรบางอย่าง

หรืออาจจะคิดว่า ระดับ “รอง ผบ.ตร.” ที่จ่อขึ้นเป็น “ผบ.ตร.” ถูกโรงพักออก “หมายเรียก” ช่างไม่หล่อเอาเสียเลย

การไม่รับหมายเรียกกลายเป็น “พลาดท่า”!

ไม่รับหมายเรียกถึง 3 ครั้งก็ต้องออก “หมายจับ”

ชีวิต “โจ๊ก” จึงประสบกับความยุ่งยากจนต้องเข้า “มอบตัว” และต้องทำเรื่องขอ “ประกันตัว”

เป็นโอกาสได้เข้าถึงคำว่า “ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์”!

 

“หมายจับ รอง ผบ.ตร.” จึงเกิดจาก “กรรม” ของรอง ผบ.ตร. ที่ปฏิบัติดูเหมือนกับไม่นำพาต่อ “ประมวลกฎหมายอาญา” และ “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

“พนักงานสอบสวน” มีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวน

การสอบสวนเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อจะทราบข้อเท็จจริง หรือพิสูจน์ความผิด กับเพื่อที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาให้อัยการได้ฟ้องต่อศาล

กระบวนการพิสูจน์ความถูกผิดทางอาญาของไทยเริ่มที่ “ตำรวจ” จากนั้นก็ไปยัง “อัยการ” เพื่อวินิจฉัยว่า “ฟ้อง” หรือ “ไม่ฟ้อง” ขั้นตอนเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานทำมาหากิน แต่เป็น “กระบวนการกลั่นกรอง” เพื่อให้ละเอียดรอบคอบก่อนคดีจะไปสู่ชั้นพิจารณาของ “ศาล”

ทุกขั้นตอนของ “กระบวนการยุติธรรม” ต้องปฏิบัติดีเสมอกัน ผู้คนจึงจะเชื่อมั่นและศรัทธา

 

เช่นเดียวกับที่คนเราฝันถึงโลกหลังความตาย

หวังอยากจะเห็น “พญามัจจุราช” เป็นผู้ทรงธรรม ไม่กินสินบาทคาดสินบน

รู้เท่ารู้ทันและลงโทษคนที่กินเงินราษฎร์ โกงเงินหลวง

ใช้อำนาจหน้าที่กอบโกยหาผลประโยชน์จากการสัมปทาน การอนุญาต อนุมัติ การก่อสร้าง เมกะโปรเจ็กต์ ถนนหนทาง โรงแรม คอนโดฯ อาคารบ้านเรือน สถานบันเทิงเริงรมย์ คุมบ่อน คุมซ่อง การพนันออนไลน์ การทุจริตคอร์รัปชั่นสารพัดวิธี

ขอให้บุคคลใดก็ตามที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ มีอันเป็นไปในนรกขุมลึกสุด รวดเร็วทันการณ์!?!!!