ปลัด มท. ร่วมกับผู้ว่าฯ 76 จังหวัด ขยายผลสร้างการรับรู้ตัวอย่างความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ

ปลัด มท. ร่วมกับผู้ว่าฯ 76 จังหวัด ขยายผลสร้างการรับรู้ตัวอย่างความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เดินหน้าผนึกกำลังผู้นำในพื้นที่ ร่วมเป็น Ambassador ถอดบทเรียน Masterpiece สู่การเผยแพร่และเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

วันนี้ (20 เม.ย. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนา ระหว่างสหประชาชาติประจำประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร โดยสามารถดำเนินการจัดตั้งธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,773 แห่ง จำนวนมากถึง 14,658 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในงานประกาศความสำเร็จฯ ดังกล่าวได้มีการมอบแนวทางให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดช่วยกันขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธนาคารขยะเป็นกลไกการจัดสวัสดิการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน

“ภายใต้การขับเคลื่อนของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ท่านผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายจนสามารถจัดตั้งธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank)ได้มากถึง 14,658 แห่ง ครบทุก อปท. และกระทรวงมหาดไทยกับ UN ประจำประเทศไทยได้ประกาศความสำเร็จไปแล้วที่ สำนักงาน UN ไทยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ดังนั้น เพื่อขยายผลการจัดตั้งธนาคารขยะให้ครบทุกตำบล หมู่บ้าน จึงได้ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดคัดเลือกธนาคารขยะที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดีที่สุดของจังหวัดทำคลิปเผยแพร่แนวทางการดำเนินการและแนวทางการดูแลสวัสดิการให้คนในชุมชนของแต่ละแห่ง เพื่อ ให้ประชาชนทั้ง 878 อำเภอ 7 พันกว่าตำบล 8 หมื่นกว่าหมู่บ้านได้เห็นตัวอย่างธนาคารขยะที่ดีที่สุดของแต่ละจังหวัด และนำไปพัฒนาการส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมมนุษย์ 3Rs : Reuse Reduce Recycle เป็นจิตอาสาที่ช่วยคัดแยกขยะนำขยะรีไซเคิล ไปสู่การจัดตั้งธนาคารขยะให้ครบทุกตำบล รวมทั้งศึกษาแนวทางการนำเงินรายได้ไปดูแลชุมชนเพื่อพิจารณานำไปใช้ โดยปัจจุบันพบว่า ธนาคารขยะที่ตั้งแล้วทั่วประเทศมีรายได้ รวม 1,006,365,417.48 ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการติดตามการดำเนินงานธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งจากการรายงานผ่านระบบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และจากการลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย พบว่าในหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการดำเนินการบริหารจัดการธนาคารขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และเป็นการสะท้อนถึงพลังการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารขยะ จนเรียกได้ว่าเป็น Masterpiece ของพื้นที่จังหวัด

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ในการส่งเสริมด้านการบริหารจัดการขยะ การคัดแยกขยะด้วยการจัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” เป็นอีกผลการดำเนินสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำการบูรณาการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ร่วมกับทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนได้รับการรับรองคำนวนคาร์บอนเครดิต ทำให้สามารถขายคาร์บอนเครดิต เป็นเงินหมุนเวียนกลับไปสู่ชุมชน โดยในเฟสแรกเราสามารถคำนวนเป็นการลดคาร์บอนเครดิตได้ 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) สามารถขายได้เป็นเงิน จำนวน 816,400 บาท โดยการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งในเฟสที่ 2 สามารถลดได้กว่า 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) หากเปรียบเทียบแล้วเราจึงคาดว่าในปี 2022-2026 จะสามารถลดได้ถึง 1,875,443 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ซึ่งได้ลดลงมากกว่าเป้าหมายของ NDC ในปี 2030 กว่า 1.78 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) เปรียบเสมือนกับการปลูกต้นไม้ 155 ล้านต้นอีกด้วย ซึ่งในปี 2567 จะมีการทวนสอบเพื่อรับรองคาร์บอน​เครดิต​ทั้ง 76 จังหวัด​ ให้แล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2567

“เพื่อเป็นการขยายผลสร้างการรับรู้ตัวอย่างความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) และการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ กระทรวงมหาดไทย จึงได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ดำเนินการคัดเลือกธนาคารขยะต้นแบบที่เป็น Masterpiece ของจังหวัด แล้วทำหน้าที่ Ambassador นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จร่วมกับประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด โดยลงพื้นที่ธนาคารขยะต้นแบบร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดทำสื่อสร้างการรับรู้ในรูปแบบ “วิดีโอถอดบทเรียนความสำเร็จการขับเคลื่อนธนาคารขยะ” ที่ทำให้พี่น้องประชาชนตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ได้เห็นถึงแนวทางไปสู่ความสำเร็จของการจัดตั้งธนาคารขยะ อาทิ ปัจจัยความสำเร็จในการจัดตั้ง การจัดรูปแบบสวัสดิการ ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดกับชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วิดีโอดังกล่าว ผ่านทางช่องทาง YouTube ของจังหวัด หรือ ช่องทางต่าง ๆ ให้กับประชาชนและภาคีเครือข่ายได้รับรู้รับทราบ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกท่าน ที่ร่วมกันแสดงพลังแห่งการเป็นผู้อุทิศแรงกายแรงใจ “Change for Good” ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ร่วมกันทำให้ภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข บังเกิดผลสำเร็จครอบคลุมทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ ซึ่งสิ่งที่เป็น Masterpiece of Success เกิดขึ้นได้เพราะเรามี “ผู้นำที่ดี” ที่มีความมุ่งมั่น เข้มแข็งและกล้านำสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชนตามแนวทาง “ผู้นำต้องทำก่อน” อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย จึงขอให้ทุกท่านช่วยกันทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน ด้วยการนำเอาแนวทาง Masterpiece ไปขับเคลื่อนขยายผลในทุกพื้นที่ ทุกช่องทางสื่อสาร ทุกรูปแบบวิธีการ เพื่อพวกเราจะได้ช่วยกันทำหน้าที่เป็น Salesman ขยายองค์ความรู้และวิธีการ เพื่อสร้างสิ่งที่ดีเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนธนาคารขยะอย่างมีประสิทธิภาพ แบบ Momentum for Change ที่เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศต่อไป

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood