แนวคิด ‘โกลบอล นาโต’ กับชาติในเอเชีย-แปซิฟิก

(Photo by Jonathan NACKSTRAND / AFP)

เมื่อ 8 เมษายนที่ผ่านมา ปรากฏบทความแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งเผยแพร่ผ่านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ของสหรัฐอเมริกา

ผู้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นชิ้นดังกล่าว เป็นนายทหารนอกราชการชาวอเมริกัน ชื่อ เจมส์ สตาวรีดิส ยศหลังสุดก่อนเกษียณอายุราชการคือ พลเรือเอก สังกัดกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

ตำแหน่งหลังสุดของพลเรือเอกสตาวรีดิสนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะดำรงตำแหน่งเป็นถึง ผู้บัญชาการกองกำลังพันธมิตรของนาโต อันเป็นกองทัพที่รวมตัวกันขึ้นภายใต้สนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ

หรือสนธิสัญญานาโต นั่นเอง

 

สตาวรีดิส ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ระหว่างปี 2009 เรื่อยมาจนถึงปี 2013 ก่อนหน้านั้น ในช่วงระหว่างปี 2006 จนกระทั่งถึงปี 2009 เขาเคยเป็นผู้บัญชาการของกองบัญชาการเซาเธิร์น คอมมานด์ ของสหรัฐอเมริกา รับผิดชอบปฏิบัติการทางด้านการทหารในพื้นที่ละตินอเมริกาทั้งหมด

ข้อเสนอแนะของพลเรือเอกสตาวรีดิส ก็คือ ถึงเวลาแล้วที่ นาโต จะต้องคิดนอกกรอบ หันมาโอบรับเอาประเทศใหม่ๆ ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตดั้งเดิมของสนธิสัญญา เข้าเป็นภาคีสมาชิก

ประเทศใหม่ๆ ที่ว่านี้ คือบรรดาชาติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่จำกัดตายตัวอยู่แต่เฉพาะบรรดาประเทศโดยรอบมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ อันเป็นขนบประเพณีเดิมเหมือนที่ผ่านมา

การขยายขอบเขตการรับสมาชิกนาโตให้กว้างขวางออกไปนั้น สตาวรีดิสคิดว่าเป็น “สิ่งจำเป็น” ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ความมั่นคงในเวลานี้ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ คาราคาซัง ทั้งในตะวันออกกลาง ในยุโรปอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และความขัดแย้งจากการอ้างเขตแดนทับซ้อนกันในทะเลจีนใต้

ภายใต้แนวคิด “โกลบอล นาโต” นี้ พลเรือเอกสตาวรีดิส เสนอให้พิจารณารับเอาประเทศที่ “มีวิสัยทัศน์ร่วม” กับพันธมิตรนาโตแต่เดิม ทั้งในแง่ของเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นเสรี และ สิทธิมนุษยชน

โดยระบุเอาไว้เสร็จสรรพว่า ประเทศที่เข้าข่ายที่ควรได้รับสมาชิกภาพโดยเหตุนี้ มีอาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์ ก็ควรดึงเข้ามาเป็นภาคีสมาชิกตามแนวคิด “โกลบอล นาโต” นี้ด้วยเช่นกัน

เหตุผลก็คือ เพราะประเทศเหล่านี้มีสัมพันธ์อันดียิ่งกับสหรัฐอเมริกา หัวเรือใหญ่ของนาโต

 

พลเรือเอกนอกราชการ ผู้เคยเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพนาโตผู้นี้ ยอมรับว่า การขยายภาคีสมาชิกนาโตออกไปในเชิงภูมิศาสตร์ เพื่อให้รวมถึง “ชาติประชาธิปไตยในเอเชีย” เข้าไปด้วยนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ

ในทางหนึ่ง บรรดาประเทศที่พลเรือเอกสตาวรีดิสระบุมานั้นมีความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงกับบรรดาชาติที่เป็นภาคีสมาชิกนาโตอยู่แต่เดิม ไม่เพียงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เท่านั้น ยังแตกต่างกันในด้านภาษาและวัฒนธรรมอย่างมากอีกด้วย

ในอีกทางหนึ่ง พลเรือเอกสตาวรีดิสยอมรับว่า เมื่อมีภาคีสมาชิกมากขึ้น องคาพยพของนาโตขยายใหญ่โตขึ้น “ฉันทามติ” ที่เคยใช้ขับเคลื่อนนาโตมาโดยตลอด ก็ยากที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน ยิ่งมีสมาชิกมากเท่าใดก็ยิ่งแสวงหาฉันทามติได้ยากมากขึ้นเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ แม้จะยืนยันว่าความท้าทายและผลประโยชน์ที่ได้รับจากกรณีนี้โดยรวมๆ แล้วจะพอๆ กัน “แต่อาจบางทีการพิจารณาก่อตั้งโกลบอล นาโตในเวลานี้คงเร็วเกินไปอยู่บ้าง” โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึง “อุปสรรคทางการเมืองและปัญหาในทางปฏิบัติ” จากกรณีนี้ พลเรือเอกสตาวรีดิสระบุ

กระนั้น ก็ใช่ว่าแนวคิดเรื่องโกลบอล นาโตนี้จะสูญเปล่าไปทั้งหมด อดีตผู้บัญชาการกองทัพนาโตเสนอว่า ยังคงมี “ทางสายกลาง” ที่สามารถดำเนินการได้ทันทีในเวลานี้อยู่เช่นกัน

 

แนวทางที่พลเรือเอกสตาวรีดิสเชื่อว่าจะก่อให้เกิด “ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ” ขึ้นระหว่างชาติพันธมิตรนาโต กับบรรดาประเทศ “ประชาธิปไตยในเอเชีย” ได้ ก็ยังมี เช่น การจัดการให้มี “การรับประกันด้านความมั่นคงร่วมกันที่ชัดเจนและผ่านการใคร่ครวญมาอย่างดี” ขึ้น หรือแม้แต่กระทั่ง “การจัดซื้อจัดจ้างระบบอาวุธทันสมัยร่วมกัน” ระหว่างสองฝ่าย เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แนวคิดเรื่องการขยายขอบเขตความรับผิดชอบของนาโตมายังภูมิภาคเอเชียนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความพยายามที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้

ในทางหนึ่ง ประเทศพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาในเอเชียอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดทางทหารของนาโตเป็นประจำมาตั้งแต่ปี 2022

ในอีกทางหนึ่งก็มีรายงานว่า เมื่อปีที่แล้ว นาโตเองถึงกับเคยพิจารณาว่าจะจัดตั้ง “สำนักงานประสานงาน” ขึ้นในญี่ปุ่นอีกด้วย

ว่ากันว่า แผนการดังกล่าวไม่เกิดขึ้นจริงเพียงเพราะ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส คัดค้านเสียงแข็งเท่านั้น

ความพยายามดังกล่าวของนาโต เคยก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านขึ้นกับประเทศคู่ขัดแย้งอย่างจีน กระทรวงกลาโหมจีนเคยถึงกับกล่าวหานาโตว่าแสดงพฤติกรรมเสมือนเป็น “จักรกลสงครามเดินได้” มาแล้ว

และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี่เอง อู๋ เฉียน โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน เคยแถลงข่าวระบุว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา นาโตพยายามคืบคลานเข้ามาใกล้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากยิ่งขึ้น โดยอาศัย “ภัยคุกคามจากจีน” ที่ไม่มีอยู่จริงเป็นข้ออ้าง

อันเป็นการกระทำของนาโตที่จีนถือว่าเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของทั้งภูมิภาคนั่นเอง