โอกาส ‘เศรษฐา’ ในภารกิจท้าทาย ล้างทุจริตตำรวจ

20 มีนาคม 2567 นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งย้าย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ไป “ช่วยราชการ” สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 60 วัน

ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ไม่เคยมีจริงๆ ที่ย้ายแพ็กคู่ “ผบ.ตร.-รอง ผบ.ตร.” ไปพร้อมๆ กับมีคำสั่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” อันประกอบไปด้วย 1.อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ 2.อดีตรองอัยการสูงสุด นายชาติพงษ์ จีระพันธุ และ 3.อดีตรอง ผบ.ตร. และปัจจุบันเป็นนายกสมาคมตำรวจ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง

กำหนดให้ตรวจสอบแล้วเสร็จใน 60 วัน

คล้ายๆ มีเจตนาล้อไปกับกระบวนการดำเนินการทางวินัยข้าราชการตำรวจ ตามมาตรา 120 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับล่าสุด พ.ศ.2565

เรื่องนี้มีข้อน่าสนใจว่า มาตรา 120 กำหนด 1.ให้ผู้บังคับบัญชาของตำรวจต้องส่งสำนวนภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ได้รับสำนวนที่ครบถ้วนสมบูรณ์

2.ให้ “ขยายเวลา” ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือ ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วันแล้ว

บ่อยครั้งทีเดียวที่การสอบสวนทางวินัยตำรวจยึกยักทำกันแบบลูบหน้าปะจมูก ที่พยานหลักฐานหนาๆ ก็ทำกันจนกลายเป็นจางๆ ลงโทษกันเบาๆ

ส่วนที่บางๆ ก็เป่าเสกจนเลือนหาย!

มาตรา 120 พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ.2565 จึงตั้งใจจะ “ดักคอ” ด้วยข้อ 3 ที่ว่า ถ้าหากขยายเวลาให้แล้วยังไม่ส่งสำนวนตามกำหนด ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือ “สั่งลงโทษแทน” กับให้ “สั่งลงโทษผู้บังคับบัญชา” ที่ไม่ส่งสำนวนวินัย โดยไม่ต้องสืบสวนหรือสอบสวน

โทษทางวินัยน่ากลัว แต่ตำรวจไม่เกรมขาม!

 

การย้ายแพ็กคู่และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ “ต่อศักดิ์-สุรเชษฐ์” ครั้งนี้ไม่ใช่ “กระบวนการดำเนินการทางวินัย” แต่เป็นการกรุยทางไปสู่ “การดำเนินการทางวินัย” กับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

อย่าลืมว่า “ผู้บังคับบัญชา” ของทั้งสองนายตำรวจใหญ่คือ “นายกรัฐมนตรี”

เมื่อครบกำหนด 60 วันที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้สรุปและส่งผลการตรวจสอบให้นายกรัฐมนตรี จึงมิพักต้องถามว่า “ต่อศักดิ์” จะหลุดจากเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ถาวรหรือไม่

และ “โจ๊ก” จะรอดอีกครั้งเหมือนแมวเก้าชีวิตหรือไม่

ในจังหวะก้าวที่การเมืองภายใต้การนำของ “เพื่อไทย” ไม่ค่อยจะมีผลงานอะไรที่โดดเด่นนี้นับเป็นโอกาสที่ “นายกฯ เศรษฐา” จะได้ลงมือผ่าตัดองค์กรตำรวจ

ไม่ใช่แค่ขายผ้าเอาหน้ารอด

 

เรื่องนี้มีสัญญาณตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ 1 สัปดาห์

มิคาดว่า พล.ต.อ.วินัย ทองสอง 1 ใน 3 คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้รับมอบหมายให้ออกมาแถลงถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “โจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

แน่นอนทีเดียวงานนี้ย่อมสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับ “โจ๊ก” เพราะเมื่อถามถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ “ต่อศักดิ์” ถูกกล่าวหา พล.ต.อ.วินัยบอกว่า ให้รอภาค 2

“การตรวจสอบข้อเท็จจริงในฝั่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เสร็จเร็วเพราะพนักงานสอบสวนคดี บีเอ็นเค มาสเตอร์รวบรวมพยานหลักฐานคดีที่เกี่ยวข้องมานาน 7 เดือนแล้ว และได้เชิญผู้อื่นมาให้ข้อมูลจากสองฝั่งกว่า 30 คนแล้ว พบการฟอกเงินจากเส้นทางการเงินเว็บพนันออนไลน์มายังบัญชีม้าและเชื่อมโยงไปยัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งคณะกรรมการเชื่อว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์รู้ และได้รับประโยชน์บางส่วนจากการกระทำดังกล่าว

พล.ต.อ.วินัยถึงกับย้ำว่า ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการเสร็จสิ้นก่อนที่ศาลจะออกหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ด้วยซ้ำไป ดังนั้น เมื่อข้อมูลฝั่ง “โจ๊ก” เสร็จสิ้นก็จะส่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาทันที ไม่จำเป็นต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง “ต่อศักดิ์”

 

ไม่เพียงแต่เท่านั้น เรื่องที่เกี่ยวพันกับ “โจ๊ก” ยังมีที่ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ร้องให้ “บก.ป.ป.ป.” ดำเนินคดีกับ 3 เจ้าหน้าที่ “ป.ป.ช.” ประกอบไปด้วยนายสมบัติ ธรธรรม นายจัตุรงค์ พานิจเจริญ และ น.ส.อารยา งามล้วน กล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่วมกันตกแต่งหลักฐานทรัพย์สินของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เพื่อประกอบการชี้แจงบัญชีทรัพย์และหนี้สิน

ซึ่งในเวลาต่อมา “บก.ป.ป.ป.” ตรวจสอบแล้วมีหลักฐานเพียงพอเชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทั้ง 3 ส่อกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ แต่มีผู้ที่เกี่ยวข้องฐาน “เป็นผู้ใช้” หรือ “ตัวการร่วม” กับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.อีก เช่น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ และนายสมภพ หรือเฮียอั้ง ไทยธีระเสถียร

ถึงเวลานี้ข้อมูลพยานหลักฐานที่เกี่ยวพันกับ “โจ๊ก” สุรเชษฐ์ หักพาล ถูกตอกย้ำว่า “มีมากพอ”

จึงมี “น้ำหนักพอ” ที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีลงมือ หลังสงกรานต์ ซึ่งไม่น่าจะเกินวันที่ 22 มีนาคม

ในสถานการณ์ทางการเมืองที่รัฐบาลไม่ค่อยจะมีผลงานโดดเด่นนี้ “นายกฯ เศรษฐา” จำเป็นจะต้องเร่งสร้างผลงานชิ้นโบแดงผ่าตัดองค์กรตำรวจ

ความเสื่อมทั้งปวงในวงการตำรวจเหมือนโรคร้ายที่รุมเร้า

ไม่ใช่ความซวยที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม่มีใครสร้างเรื่องขึ้นเพื่อทำลายใคร ทั้งหมดเป็น “พฤติการณ์” หรือที่มีสำนวนเรียกกันว่า “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน”

 

ความคิดที่ว่า “อำนาจ” จากตำแหน่งหน้าที่คือขุมทรัพย์ เป็นบ่อเกิดพฤติกรรมของ “ผู้นำหน่วย” ตำรวจที่เลวร้ายคร่ำครึ

เมื่อตำรวจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายพิทักษ์ประชาชนรับใช้สังคม หน้าที่รักษากฎหมายก็ถูกใช้ไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์

ชั่วเวลาไม่นาน ตำรวจจำนวนหนึ่งซึ่งมี “จำนวนมากพอ” ก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการก่ออาชญากรรมสารพัดชนิด มีครบถ้วนในทุกขบวนการ นับตั้งแต่ขบวนการค้ายาเสพติดรายใหญ่ รายย่อย ขบวนการค้าของเถื่อน สินค้าผิดกฎหมาย ปลอมแปลง ขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง บ่อนพนัน การพนันออนไลน์ ไม่มีอะไรใต้ดวงอาทิตย์นี้ที่จะหลุดรอดจากสายตาและเงื้อมมือตำรวจไทยไปได้

ที่นายกรัฐมนตรีควรจะต้องเร่งลงมือจึงมิใช่เพียงจัดการกับ “ต่อศักดิ์-โจ๊ก” ทันท่วงทีด้วยความโปร่งใสตรงไปตรงมา

ที่จะต้องเร่งลงมือ ไม่ใช่เรื่องเร่งรัดให้ “บช.สอท.” และตำรวจหน่วยต่างๆ กวาดล้างจับกุมสร้างผลงานช่วยกู้หน้าให้รัฐบาล

ที่นายกรัฐมนตรีควรจะต้องเร่งลงมือจริงจังคือ กวาดล้าง “อาชญากร” ในองค์กรตำรวจ ทำตำรวจให้เป็นตำรวจจริงๆ!?!!!