ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 เมษายน 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
การตั้งโต๊ะแถลงของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และคณะ เกี่ยวกับนโยบายการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทแก่ประชาชน 50 ล้านคน ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2567 แทนที่จะเป็นการสร้างความชัดเจน ให้ความหวัง เป็นข่าวดีรับวันสงกรานต์ สร้างความเชื่อมั่นในความสามารถการบริหารตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย
กลับกลายเป็นอะไรที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม สร้างความวังเวงในหัวใจประชาชนรอบใหม่อีกรอบ
จริงแล้ว รัฐบาลมีเวลาในการเตรียมการมากเพียงพอ เพราะนับแต่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2566 เป็นเวลาถึง 7 เดือน หากคิดไตร่ตรอง หาวิธีการที่สมควรดำเนินการหรือจะปรับเปลี่ยนตัวเลข วิธีการดำเนินการ ก็น่าจะมีคำตอบที่เป็นไปได้หากไม่มัวหมกมุ่นกับคำว่า “หนึ่งหมื่นบาท แจกงวดเดียว ห้าสิบล้านคน”
แค่ประเด็นแหล่งที่มา 500,000 ล้าน ที่มาจากงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท จากการตั้งงบประมาณปี 2568 152,700 ล้านบาท และจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 172,300 ล้านบาท ก็มีเครื่องหมายคำถามตามมามากมายว่าจะเป็นไปได้ตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงหรือไม่
หรือจะรอคนทักท้วงและตั้งโต๊ะแถลงใหม่อีกรอบว่า เป็นครั้งสุดท้าย ครั้งสุดท้ายจริงๆ
งบประมาณปี 2567
มีไหม มาได้อย่างไร
แม้จะมีตรรกะที่หยิบยกว่า งบประมาณแผ่นดินปี 2567 น่าจะใช้ไม่ทัน ใช้ไม่หมด เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณปี พ.ศ.2567 มีความล่าช้ากว่าปกติถึง 7 เดือน และมีเงินที่ใช้ไม่หมดเนื่องจากการไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทันสิ้นปีงบประมาณ
แต่รายการที่ใช้ไม่ทัน ไม่ได้แปลว่า จะไม่ใช้ เพราะส่วนราชการที่เป็นเจ้าของงบประมาณสามารถขอกันงบประมาณเหลื่อมปีเพื่อใช้ในปีงบประมาณถัดไปได้ หรือแม้แต่งบฯ กลางที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในการใช้ก็มีรายการที่ล้วนมีเจ้าของ ไม่ได้มีเงินเหลือเป็นแสนล้านเพื่อมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้
หากจะใช้วิธีการกวาดเงินที่เหลือจริงๆ จากทุกส่วนราชการ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ การออกพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ดังเช่นที่รัฐบาลในอดีตเคยทำ
เช่น สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยใช้เมื่อปี พ.ศ.2563 ที่กวาดเงินจากทุกส่วนราชการ เป็นเงินรวมประมาณ 88,000 ล้านบาทมาไว้ที่งบฯ กลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อมาใช้แก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด แต่นั่นคือ ต้องมีรายการที่ปรากฏเดิมเพื่อโอนเข้า
หากจะใช้วิธีการออกพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อเพิ่มรายการใหม่ที่ชื่อ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถนำไปเป็นรายการใช้จ่ายได้
แต่นั่นต้องหมายถึง สำนักงบประมาณต้องสามารถระบุที่มาของแหล่งเงินดังกล่าวว่าจะมาจากแหล่งใดหรือจะมีการโอนจากแหล่งใด
การใช้งบฯ เหลือจ่ายปี 2567 นั้นสรุปได้ว่าเป็นไปได้ แต่จะถึง 175,000 ล้านบาทได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่คอยดูต่อไป
งบประมาณปี 2568
แท้จริงคือการกู้เพิ่ม
ตัวเลขแหล่งที่มาของงบประมาณโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแหล่งที่สองคือ จากงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ.2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
ตัวเลขดังกล่าว ตรงกับจำนวนงบประมาณแผ่นดินที่ปรับเพิ่มอย่างรีบเร่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการคลังภาครัฐที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2567 และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2567 ที่ให้เพิ่มกรอบงบประมาณประจำปี 2568 จาก 3.6 ล้านล้านบาท เป็น 3.7527 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มมา 152,700 ล้านบาทเป๊ะ
ตัวเลขที่เพิ่มนั้นไม่มีการประมาณการรายได้เพิ่ม ซึ่งแปลว่า เป็นตัวเลขที่รัฐต้องกู้เพิ่มใน พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นเงิน 152,700 ล้านบาท
พูดง่ายๆ แบบภาษาชาวบ้านคือ ไม่มีปัญญาหาเพิ่ม แต่จะกู้มาแจกให้ได้ครับ
กู้หรือยืมจาก ธ.ก.ส. ทำได้จริงหรือ
แหล่งเลขแหล่งที่มางบประมาณโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแหล่งที่สาม คือ จากการกู้หรือยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 172,300 ล้านบาท โดยใช้นโยบายหรือมาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal Policy) รัฐบาลสามารถใช้ตามกฎหมาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ตามมาตรา 28 ที่ระบุในวรรคหนึ่งว่า
“การมอบหมายให้การมอบหมายให้หน่วยงานรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น”
ดังนั้น เรื่องยืม คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเท่ากับ ธ.ก.ส.ต้องสูญเสียรายได้ในการดำเนินการ ต้องเป็นการกู้โดยรัฐรับภาระที่ต้องชดใช้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ซึ่งหากคิดในทางธุรกิจน่าจะเป็นประโยชน์ต่อ ธ.ก.ส. เพราะมีคนมากู้ที่น่าเชื่อถือพร้อมจ่ายดอกเบี้ย แต่อาจมีประเด็นติดขัดในด้านวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
เพราะตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 มาตรา 9(1) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร แม้ใน (ค) และ (ง) จะมีการกล่าวถึงเพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกรก็ตาม
แต่การช่วยเหลือต้องช่วยเหลือตรงไปยังเกษตรกร ไม่สามารถตรงไปยังบุคคลในครอบครัวเกษตรกรได้
ตัวเลขที่รัฐบาลแถลงว่า มีเกษตรกร 17.23 ล้านคนที่จะใช้เงินจากยอดดังกล่าว จึงเป็นตัวเลขที่เกินจริง เพราะในสถิติเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 มีจำนวน 8,929,186 ราย ไม่ใช่ 17.23 ล้านคนตามที่รัฐบาลระบุ
ยิ่งดูจำนวนเกษตรกรที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2566 ยิ่งมีจำนวนน้อยกว่านั้น คือ ธ.ก.ส.มีสมาชิกทั้งหมด 4.7 ล้านราย โดยเป็นเกษตรกรเพียง 3.7 ล้านราย
นอกจากนี้ ตามมาตรา 10 ยังระบุให้ธนาคารมีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 9 รวม 17 ประเภท อาทิ ให้กู้เงิน ค้ำประกัน จัดหาเงินทุน รับฝากเงิน ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงินหรือตราสาร ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดคือกิจการของหน่วยงานที่มีฐานะเป็นธนาคารพึงดำเนินการ
ไม่มีสักข้อเดียวที่จับใจความได้ว่า เป็นการไปสงเคราะห์หรือแจกจ่ายเกษตรกรเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
การใช้แหล่งเงินกู้จาก ธ.ก.ส. จึงติดขัดทั้งในจำนวนเกษตรกร จากวัตถุประสงค์ของหน่วยงานและจากขอบแห่งอำนาจในการดำเนินกิจการของตัว ธ.ก.ส.เอง
วัดใจที่ ครม.อีกรอบ
สิ่งที่นายกรัฐมนตรีและคณะแถลงข่าว มีฐานะเป็นเพียงความเห็นที่มาจากข้อสรุปในการประชุมที่ต้องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการดำเนินการ
ข้อเสนอของคณะกรรมการอาจสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ ไม่ถือเป็นความผิด แต่หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในสิ่งที่ผิดกฎหมาย เป็นความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี
ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การแถลงครั้งนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่มีส่วนใดที่ผิดกฎหมายแล้ว ขอให้เร่งนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบ ประชาชนจะได้รับเงินในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ตามคำสัญญาที่ให้ความหวังหลังจากที่เปลี่ยนแปลงไปมาหลายครั้งแล้ว
เร่งให้ความเห็นชอบเถอะครับ หากเชื่อว่าไม่มีอะไรผิด เพราะสิ่งที่ผมเขียนอาจจะมาจากความเข้าใจผิดเองก็ได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022