Sunk Cost-ต้นทุนจม อะไรที่ทำให้คนมีประสบการณ์ ไม่ปรารถนาการเปลี่ยนแปลง

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ตลอดหลายปีที่ผมเห็นความปรารถนาการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ว่าเกิดขึ้นในมิติของขบวนการเคลื่อนไหว งานทางวิชาการ หรือแม้กระทั่งในทางการเมือง

เราจะเห็นได้ว่าโดยเนื้อแท้ของข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงล้วนเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายได้ประโยชน์ แม้จะได้ประโยชน์มากน้อยต่างกัน

แต่สิ่งที่เราเห็นคือเหตุใด คนที่ดูมีประสบการณ์มาก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งสนับสนุนหรือฝั่งต้านกลับมีท่าทีลังเลเมื่อถึงจุดที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

จึงมีคำถามสำคัญว่าเหตุใดผู้ที่มีประสบการณ์ ที่น่าจะเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เห็นฉากทัศน์ใหม่ๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีตจึงมีความลังเลที่จะเปลี่ยนแปลง

ข้อเขียนของผมต่อไปนี้ไม่ได้หมายความว่า “การลังเล” ในช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี

แต่สิ่งที่อยากชวนวิเคราะห์ คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า Sunk Cost หรือ ต้นทุนจม

 

Sunk Cost เป็นศัพท์ในวงการนักลงทุน ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องการลงทุนแล้ว ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ด้วย คือต้นทุนที่ได้จ่ายไปแล้วในอดีต และไม่สามารถเรียกคืนมาได้อีก

โดยมีลักษณะสำคัญคือ เป็นต้นทุนที่ได้จ่ายไปแล้วในอดีต เป็นต้นทุนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในอนาคตได้อีก หรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นได้

ต้นทุนจมแตกต่างจากต้นทุนที่ต้องใช้ในอนาคต (Incremental Cost) ซึ่งเป็นต้นทุนที่ต้องใช้จ่ายในการดำเนินการในอนาคต และนำมาพิจารณาในการตัดสินใจ

ดังนั้น ในแง่นี้จึงพบว่าในชีวิตการตัดสินใจของคน ย่อมมีการสร้าง “ต้นทุนจม” ซึ่งโดยมากแล้วก็มักเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้ตั้งใจนัก

ต้นทุนจมอาจเกิดทั้งในแง่ของการ “ลงทุนจริงๆ” หรืออาจมาในรูปแบบ “ความสัมพันธ์” หรือ ความเชื่อ ความคิด อุดมการณ์ สิ่งที่เคยทำมาในอดีต

แม้แต่บทความที่ผมกำลังเขียนนี้ก็อาจกลายเป็นต้นทุนจมของผมในอนาคต

หรือแม้แต่โพสต์ในสื่อออนไลน์ของแต่ละท่านก็อาจกลายเป็นต้นทุนจมได้

เหตุใดเป็นเช่นนั้น

 

เช่น เราเคยมีความสัมพันธ์กับคนกลุ่มหนึ่งในอดีต เป็นความสัมพันธ์ที่ดีเมื่อสิบปีที่แล้ว ปัจจุบันเราไม่มีประโยชน์อะไรเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

แต่เมื่อสิ่งที่คนกลุ่มนั้นได้ดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้อง เราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มปาก เพราะเราได้มีต้นทุนที่ “จม” ไปกับความสัมพันธ์นั้น

บางครั้งอาจไม่รุนแรง แต่บางครั้งก็อาจชักนำให้เกิดความเสียหายในการตัดสินใจได้

เพราะการคำนึงถึง Sunk Cost อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการตัดสินใจ เนื่องจากเป็นต้นทุนที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

ดังนั้น เราจึงควรเน้นการพิจารณาต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหลัก เนื่องจากเป็นต้นทุนที่ไม่สามารถเรียกคืนได้อีก การคำนึงถึงต้นทุนจมในการตัดสินใจอาจทำให้ ส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ

การที่องค์กรยังคงเดินหน้าโครงการที่มีต้นทุนจมสูง แม้ว่าไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินการต่อ จะส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความลังเลต่อการตัดสินใจในอนาคต เพราะมัวแต่คำนึงถึงต้นทุนจมที่ไม่อาจปฏิเสธได้

บางครั้งในวงสนทนาการตัดสินใจที่มีสมาชิกหลากหลายวัย ผมลองยกตัวอย่างเมื่อมีการพูดถึงกรณีศึกษาที่มีปัญหาความไม่โปร่งใส

ผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า มักมีแนวโน้มจะให้ความเห็นว่า “คนคนนี้ เขารู้จักมาไม่น่าเลวร้ายขนาดนี้ ลองพิจารณาให้ละเอียด” หรือ “เราก็เคยผ่านโครงการลักษณะนี้มา มันก็มีหลายแง่มุม”

อันนี้เป็นตัวอย่างสิ่งที่เป็น “ต้นทุนจม”

ประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่ไม่มีประโยชน์ในปัจจุบัน ที่อาจกัดขวางการเปลี่ยนแปลง

ซึ่งในสายตาของคนรุ่นใหม่ อาจตอบง่ายๆ ว่า มองมาจากดาวอังคารก็รู้อยู่แล้วว่ากำลังเกิดสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 

พอมองมิติในการเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างเช่น ข้อเสนอเรื่อง “เงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า” ซึ่งดูแล้วก็เป็นข้อเสนอที่ไม่น่าจะส่งผลอะไรมาก เพราะทุกคนก็จะได้ประโยชน์ในวงกว้าง

ผมเห็นผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายท่านหนึ่งพยายามตั้งแง่กับนโยบายนี้ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้เสียประโยชน์ต่อเรื่องนี้

การที่เด็กจะได้เงินเลี้ยงดูอย่างถ้วนหน้าไม่น่ามีปัญหาอะไร พอสอบถามไปเรื่อยๆ ก็กลายเป็นว่า ท่านนี้เคยแสดงความเห็นหลายปีก่อนเรื่อง “การมีลูกควรมีเมื่อพร้อม”

ซึ่งจริงๆ บริบททุกอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่เพียงแค่ว่าท่านผู้อาวุโสดังกล่าวเคยมีจุดยืนเรื่องนี้อีกทางหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งก็ไม่มีผลอะไร ไม่มีใครจำอะไรได้

แต่มันกลายเป็น “ต้นทุนจม” ในการตัดสินใจในปัจจุบัน ไปเสียอย่างนั้น

พอมองผ่านตัวอย่างนี้คงมองเห็นภาพว่า ต้นทุนจม สร้างปัญหาอะไร สำหรับการตัดสินใจ

เมื่อคนที่มีประสบการณ์มีต้นทุนจมอยู่ข้างหลังเยอะ เป็นของที่ที่ไม่มีประโยชน์แล้ว แต่ยังนำมาคิดคำนึงอยู่จนทำให้การตัดสินใจในปัจจุบันเริ่มมีปัญหา

 

ในฐานะคนที่เริ่มเข้าวัยกลางคนคงมีข้อเสนอแนะต่อตัวเองและเพื่อนๆ วัยกลางคนและที่มากประสบการณ์มากกว่า เราอาจเปลี่ยนวิธีคิดง่ายๆ

โดยเริ่มจากที่ว่า ยอมรับว่าต้นทุนจมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

และไม่ควรนำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ และมุ่งตัดสินใจบนพื้นฐานของผลประโยชน์ในอนาคต มากกว่าการนำต้นทุนในอดีตมาเป็นเงื่อนไขคิดคำนึง

และเปิดใจรับฟังความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในอนาคต มันอาจผิดพลาด มันอาจล้มเหลว

แต่สังคมเราก็ต้องพร้อมที่จะเติบโตและเรียนรู้ไปพร้อมกันจากความเห็นของคนรุ่นใหม่ๆ เสมอ