‘หลานม่า’ ฉบับ ‘เย็นใจ’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

อากาศร้อนเดือนเมษายนอย่างนี้ อย่าไปคิดเรื่องอะไรที่วุ่นวายใจเลยนะครับ ทำใจเราให้สบายสู้กับอากาศร้อน นึกเสียว่าอีกเดือนเศษๆ ถ้าโลกใบนี้ของเรายังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เดี๋ยวฤดูฝนก็จะมาเคาะที่ประตูบ้านแล้ว

ระหว่างที่รอฝนตก ไม่รู้จะทำอะไรดี ขออนุญาตนึกถึงความหลังครั้งเก่าส่วนตัวของผมแล้วนำมาแบ่งปันกันในพื้นที่นี้บ้างเล็กน้อย ตกลงนะครับ

ปกติแล้วเมื่อพูดถึงเดือนเมษายนย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องนึกถึงเทศกาลสงกรานต์

ถ้าเป็นครอบครัวที่มีเชื้อสายจีนเข้มข้นหน่อย ต้นเดือนเมษายนก็จะเป็นช่วงเวลาของเทศกาลเช็งเม้ง ที่ลูกหลานทั้งหลายต้องไปเคารพบรรพบุรุษที่สุสาน

เพราะฉะนั้น วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ช่วงต้นเดือนเมษายน ถนนหนทางที่ออกไปต่างจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งไปจังหวัดชลบุรีหรือจังหวัดสระบุรีซึ่งเป็นที่ตั้งของสุสานหรือฮวงซุ้ยจำนวนไม่น้อย รถรายานพาหนะก็จะคับคั่งมากกว่าปกติ

ผมเองเป็นคนที่มีเชื้อสายเลือดจีนอยู่ในร่างกายไม่น้อยเลยทีเดียว แต่อาจจะเป็นเพราะเชื้อสายจีนของผม มาในข้างฝ่ายของคุณย่าคุณยาย แต่ทั้งสองท่านแต่งงานมาเข้าอยู่ในครอบครัวของคนไทย หน้าที่ของลูกผู้หญิงในครอบครัวจีนที่ต้องเซ่นสรวงบรรพบุรุษไม่ได้ชัดเจนเท่ากับหน้าที่ของลูกผู้ชายซึ่งเป็นคนสืบแซ่สกุล

ประเพณีการไปไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม้งสำหรับผมจึงเป็นเรื่องห่างไกลตัวพอสมควร

ผมกลับมาคุ้นเคยกับธรรมเนียมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสงกรานต์มากกว่า

 

มีเหตุพิเศษเรื่องหนึ่งในครอบครัวของผม กล่าวคือ เมื่อผมอายุยังไม่ทันครบขวบ คุณตาของผมก็เสียชีวิตในวันที่ 15 เมษายน พุทธศักราช 2499

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ผมเติบโตจำความได้ ครอบครัวข้างแม่ของผมจึงทำบุญสงกรานต์ร่วมกันกับการทำบุญประจำปีในวันที่คุณตาจากไป เป็นการรวมงานสองงานเข้าด้วยกัน ในวันที่ 15 เมษายน เป็นประจำ

สถานที่ทำบุญของครอบครัวแม่จะเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากวัดโสมนัสราชวรวิหาร ซึ่งมีความผูกพันเชื่อมโยงกับบรรพบุรุษของแม่มาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สี่ พระองค์ท่านทรงสร้างวัด อัฐิของคุณตารวมตลอดถึงบรรพบุรุษเหนือชั้นขึ้นไปอีกหลายชั่วคนก็ล้วนแต่อยู่ใต้ฐานพระในพระระเบียงของวัดนี้ทั้งสิ้น

งานทำบุญประจำปีสมัยก่อนไม่มีร้านอาหารให้สั่งบุฟเฟ่ต์มาเลี้ยงพระเลี้ยงคนอย่างทุกวันนี้ อาหารทุกอย่างหรือแทบทุกอย่างต้องทำกันเองในบ้านของเราทั้งสิ้น

แน่นอนว่าผู้บัญชาการสูงสุดในการทำบุญในวันที่ 15 เมษายน จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากคุณยายของผม

ดังนั้น ไม่ว่าคุณยายจะอยู่บ้านที่ซอยอารีย์ ถนนพหลโยธิน หรือย้ายมาอยู่บ้านที่ถนนสุทธิสารวินิจฉัยแล้วก็ตาม ในวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุกดิบ ผู้คนจำนวนไม่น้อยจะไปค้างที่บ้านของคุณยายเพื่อช่วยกันทำกับข้าวและเตรียมข้าวของทั้งหลายสำหรับงานทำบุญในวันรุ่งขึ้น

คนที่มาช่วยกันทำกับข้าวนั้น นอกจากญาติสนิทในครอบครัวแล้ว บริวารของคุณตาคุณยายแต่เก่าก่อน ที่ถึงแม้จะแยกย้ายกันไปมีชีวิต มีครอบครัวของตัวเอง หรือไปอยู่กับลูกหลานแล้วก็ตาม ต่างถือเป็นการนัดหมายประจำปีที่จะมาพบหน้ากันและทำบุญร่วมกันด้วย

บรรยากาศการ Reunion ในวันที่ 14 เมษายน จึงครึกครื้นเป็นอย่างยิ่ง

 

รุ่งเช้าวันที่ 15 เมษายน เป็นวันทำบุญของจริงที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร เราจะขนอาหารที่อยู่ในหม้อขนาดใหญ่หลายใบออกจากบ้านตั้งแต่เช้าเพื่อไปเตรียมจัดสำรับเลี้ยงพระ จานชามช้อนส้อมไม่ต้องขนไปจากบ้านครับเพราะที่วัดมีให้ใช้สอยเพียงพอ

คณะของเราไปถึงวัดประมาณ 9 โมง คราวนี้ก็เป็นการเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงพระ เป็นอาหารที่นำมาจากบ้านบ้าง เป็นอาหารที่มีผู้นำมาสมทบร่วมทำบุญบ้าง

รายการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือข้าวเหนียวมะม่วง ตอนนั้นยังไม่มีมะม่วงน้ำดอกไม้นะครับ มีแต่อกร่องเป็นพื้น มะม่วงเหล่านี้ต้องปอกกันเดี๋ยวนั้น ตรงนั้น ไม่ได้ปอกล่วงหน้ามาจากบ้านหรอกครับ มิเช่นนั้นมะม่วงจะดำหรือช้ำเสียสวยหมด

ขณะที่ผู้ใหญ่จัดของลงใส่จาน เด็กๆ จะไปเดินเล่นที่ไหนก็ได้ แต่ต้องไม่ไปไหนไกลนะครับ เพราะอีกประเดี๋ยวเดียวจะถูกเรียกตัวมานั่งปัดแมลงวันไม่ให้ตอมสำรับอาหารที่จัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

ในราวเกือบ 10 โมงครึ่ง พระท่านลงสวดมนต์ ประธานในพิธีส่วนมากจะเป็นท่านที่สมาชิกในครอบครัวผมเรียกท่านอย่างลำลองว่า “เจ้าคุณใหญ่” เวลานั้นดูเหมือนท่านมีสมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมปัญญาจารย์ พระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองแล้ว

ท่านเจ้าคุณใหญ่นี้เองต่อมาในภายหลัง คือ สมเด็จพระวันรัต จับ ฐิตธัมโม และผมมีโอกาสได้บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดโสมนัสราชวรวิหารในพรรษาสุดท้ายก่อนที่ท่านจะมรณภาพ

เมื่อพระสวดมนต์จบ ถวายเพล บังสุกุลและถวายไทยธรรมแล้ว พอพระกลับ คราวนี้ก็เป็นเรื่องของลูกหลานทั้งหลายที่จะนั่งกินข้าวด้วยกัน เนื่องจากครอบครัวของเราเป็นครอบครัวใหญ่ สมาชิกที่มาร่วมทำบุญจึงอยู่ที่ประมาณ 50 คนเป็นอย่างน้อย อาหารที่ใส่หม้อมาจากบ้านหลายใบจึงได้ทำหน้าที่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตอนนี้เอง

การพบหน้าพร้อมกันอย่างนี้ปีละอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เป็นโอกาสที่ญาติทั้งหลายจะได้ถามสารทุกข์สุกดิบกัน

ผมเองก็ได้ฟังผู้ใหญ่พูดคุยกันในเรื่องที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ได้พบญาติพี่น้องรุ่นราวคราวเดียวกัน ได้กินอาหารที่เป็นสูตรดั้งเดิมของบ้านเรา สนุกจะตายไปครับ

 

เล่าเรื่องบ้านคุณยายทำบุญมามากพอสมควรแล้ว ลองเล่าเรื่องคุณย่าพาไปเที่ยวบ้างดีกว่า

ตอนนี้หนังเรื่อง “หลานม่า” กำลังมาแรงอยู่ทีเดียว

บ้านคุณย่าหรือญาติข้างพ่อของผมนั้นก็มีการทำบุญประจำปีอุทิศให้คุณปู่เหมือนกันครับ แต่ไม่ได้ทำในเดือนเมษายน เพราะคุณปู่เสียชีวิตตั้งแต่พ่อผมยังเล็ก โดยท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2474 เพราะฉะนั้น งานทำบุญประจำปีของคุณปู่จึงเป็นวันหยุดราชการทุกทีไป

เอาเป็นว่าเรื่องทำบุญ เราละไว้ในฐานที่เข้าใจก็แล้วกันครับ

ความทรงจำของผมที่งดงามเกี่ยวกับคุณย่ากับการไปเที่ยวต่างจังหวัด คือคราวหนึ่ง ผมเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมแล้ว คุณย่ามีดำริที่จะพาลูกและหลานไปเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวนผู้คนที่ไปในคณะดูเหมือนจะมีตั้งสิบกว่าคน

นอกจากคุณย่าแล้วก็มีผู้ใหญ่ร่วมคณะไปอีกสี่ห้าคน สองคนในจำนวนนั้นคือลูกสาวของคูณย่าซึ่งเป็นป้าของผม

นอกจากนั้น ก็เป็นผม น้องชายของผมและลูกพี่ลูกน้องของผม

 

วันสุกดิบก่อนวันเดินทาง พ่อแม่พาผมไปส่งที่บ้านของคุณย่าแถวถนนรองเมืองใกล้กันกับสถานีรถไฟหัวลำโพง เพราะรุ่งเช้าเราต้องเดินทางโดยรถไฟจากสถานีที่ว่าไปประจวบฯ

จำได้ว่าคืนนั้นนอนไม่ค่อยหลับ อาจจะเป็นเพราะแปลกที่และตื่นเต้นที่จะได้ไปเที่ยวกับคุณย่า หรืออาจจะเป็นเพราะเสียงสารพัดเสียงรอบบ้านที่เราไม่คุ้นเคยก็ได้ ก็บ้านผมอยู่สุขุมวิท 40 ซึ่งแสนจะบ้านนอกนี่ครับ

รุ่งเช้าเราก็ยกขบวนพร้อมด้วยข้าวของอีกจำนวนไม่น้อยไปที่สถานีรถไฟ จากที่นั่นผมนั่งรถไฟไปนานหลายชั่วโมงกว่าจะถึงประจวบคีรีขันธ์

สถานที่พักแรมของเราไม่ใช่โรงแรมหรือ Airbnb แต่อย่างใด

ยุคนั้นเราไปขออาศัยนอนที่บ้านพักรับรองของกรมทางหลวง ซึ่งมีบ้านสองหลังปลูกอยู่ริมทะเลในบริเวณที่ดินแปลงเดียวกัน หลังใหญ่เป็นเรือนนอนของคุณย่าและลูกสาวของท่านพร้อมกับหลานจำนวนหนึ่ง เรือนหลังเล็กมีผู้ใหญ่มานอนกำกับท่านหนึ่งและหลานจำนวนที่เหลือ

ผมอยู่ในจำนวนที่มานอนเรือนหลังเล็กครับ

 

ตื่นเช้าผมกับพี่น้องทั้งปวงก็จะเดินจากบ้านพักไปเที่ยวตลาดซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันนะ ข้าวเหนียวสังขยาอร่อยมาก ฮา!

ส่วนอาหารที่เป็นมื้อหลักจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเช้า อาหารกลางวันหรืออาหารเย็น ยอมรับว่าไม่ได้ใส่ใจที่จะรู้เลยว่าเป็นอาหารทิพย์ที่งอกมาจากที่ไหน รู้แต่ว่ามีกินทุกมื้อไปสิน่า

ระหว่างเวลามื้ออาหารเป็นเวลาที่จะได้พบกันพร้อมหน้า โดยมีคุณย่าเป็นประธาน พร้อมด้วยสมาชิกในขบวนการท่องเที่ยวพร้อมเพรียงกัน

ถ้าเป็นตอนบ่าย เป็นเวลาพักผ่อนหรือ “งีบ” ของคุณย่า หลานที่ในวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาวไม่มีใครนอนเลยครับ กิจวัตรประจำวันของเราคือการเดินไปขึ้นเขาช่องกระจก ขึ้นลงอยู่ทุกวันจนจำบันไดแทบจะทุกขั้นได้แม่นยำ

เขาช่องกระจกเวลานั้นมีลิงอยู่บ้างแต่ไม่ชุกชุมเท่าลิงเขาช่องกระจกทุกวันนี้

และแน่นอนว่าไม่มากเท่าลิงที่ลพบุรีเป็นแน่

อากาศร้อนอย่างนี้ นึกความหลังแล้วก็เย็นใจดีนะครับ

ขอจบรายงานของ “หลานม่า” แต่เพียงเท่านี้ จะรีบไปซื้อตั๋วดูหนังแล้วล่ะครับ

เดี๋ยวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่องล่ะแย่เลย