เปิดวิชั่นตัวเต็งอธิการบดี มธ. ‘ดร.ศุภสวัสดิ์’ เสรีภาพทุกตารางนิ้วยังมี? วิธีรับมือ ‘ม็อบนักศึกษา’

วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบัน จะดำรงตำแหน่งครบวาระ

คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำหนดให้มีการเสนอชื่อเพื่อหยั่งเสียงผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่

1 ในแคนดิเดตที่น่าสนใจ และหลายฝ่ายมองว่าเป็นตัวเต็งคือ “ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รองอธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัย”

มติชนสุดสัปดาห์จึงอยากสนทนาเพื่อรู้จักตัวตนและมุมคิดของแคนดิเดตท่านนี้

: มีคนมองว่าเป็นตัวเต็ง มีความแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร?

ผมคิดแต่เพียงว่าทุกอย่างมันจะจบก็ต่อเมื่อสภามหาวิทยาลัยมีมติ เราไม่สามารถไปเพ้อฝันเองได้ว่าเราเป็นเต็งหนึ่ง ไปมโนเองว่าได้คะแนนจากประชาคม แล้วจะได้ เพราะสภาตัดสินจากหลายๆ อย่างประกอบกัน ทั้งนโยบายและอื่นๆ

แต่สิ่งที่เรารู้สึกว่าเราต่างจากคนอื่นแน่ๆ ที่ไม่เหมือนแน่ๆ ผมคิดว่าผมเป็นคนที่มีความ “ปฏิบัตินิยม” สูงกว่าหลายๆ คน แต่อย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ผมคิดว่าผมเป็นนักปฏิบัตินิยม ผมเชื่อในเรื่องการลงมือทำมากกว่าตำรา การเชื่อในทฤษฎีก็สำคัญ แต่ว่าสุดท้ายทฤษฎีทั้งหมดเอามาปฏิบัติอาจจะไม่ได้เกิดผลทั้งหมด ดังนั้น ผมจึงเชื่อในเรื่องการลงมือทำ และเชื่อในเรื่องการมีความมุ่งมั่น

ผมจะรู้สึกไม่ดีถ้าพูดแล้วไม่ได้ทำ ก็ไม่รู้ว่าเป็นจุดแข็งหรือไม่ แต่คือสิ่งที่เรายึดมาตลอดว่าเราต้องทำให้ได้ ทำให้มันสำเร็จ ทำให้มันดี แล้วมันจะไม่มีความรู้สึกว่าติดค้าง หรือมีปัญหา

คือถ้ามันไม่ได้ทำ มันจะหงุดหงิด จะรู้สึกว่าทำไมเราในวันนั้น ไม่ทำแบบนั้น ทำไมเราไม่ทำแบบนี้

 

: คิดนานหรือไม่ ที่ตัดสินใจลงชิง

ผมนั่งชั่งน้ำหนักว่าเรามีชีวิตปกติก็ได้สอนปีละ 4 วิชา อยู่ใน comfort โซน พอประเมินแล้วถ้าลงจะต้องเหนื่อยไปอีก 3 ปี (เป็นอย่างน้อย) ส่วนตัวมีเหตุแห่งการตัดสินใจ คือพอดูสถานการณ์มหาวิทยาลัยดูแล้วว่า “ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ”

ดังนั้น ก็ทำเองดีกว่า พูดแบบตรงไปตรงมา ไม่ได้บอกว่าใครไม่ดี แต่ผมคิดว่าวิธีการในแบบของเราทำเองจะดีกว่า

ผมคิดว่า ผมจะต้องพามหาวิทยาลัยให้ก้าวข้ามจุดที่เป็นอยู่ตอนนี้ให้ได้

ตอนนี้มหาวิทยาลัยต้องเจอปัญหาเยอะมาก มันมีทั้งความท้าทายมากมาย แบบที่ผู้บริหารในยุคก่อนไม่เจอ ปัญหาที่ซับซ้อนแบบปัจจุบันนี้

ผมคิดว่าตอนนี้โลกของมหาวิทยาลัย และโลกของวงการการศึกษามันซับซ้อนมาก จะใช้ความรู้อย่างเดียวไม่ได้ มันต้องใช้ทักษะ

ที่สำคัญต้องมีทีม และหลังจากยุคนี้ไปผมก็คิดว่ามันจะยากและซับซ้อนไปมากกว่านี้อีกในอนาคต เพราะว่ารูปแบบวิธีการเรียนรู้/พฤติกรรมนักศึกษาเปลี่ยนไปหมดแล้ว

เราไม่สามารถใช้วิธีการแบบเดิมๆ นั่งอยู่ในห้องเปิดสไลด์ปิ้งไปปิ้งมา คลิกไปคลิกมา

มันเป็น challenge ใหญ่ของสถาบันการศึกษา

 

: โจทย์สำคัญหากได้รับความไว้วางใจให้เป็นอธิการบดี

ผมว่าคือการต้องเปลี่ยน Mindset คนในมหาวิทยาลัย เปลี่ยนวิธีคิดว่าบทบาทมหาวิทยาลัยคืออะไรในอนาคต แล้วที่ผ่านมาหลายเรื่องผมเองก็ไม่ค่อยแฮปปี้กับมัน เช่น เรื่องโลกของการจัดลำดับมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เฉพาะธรรมศาสตร์นะ แต่หมายถึงประเทศเราทั้งหมดว่าเราจะวิ่งไล่ตามพวกนี้อยู่?

แน่นอนเราไม่ใช่ศูนย์กลางโลก แต่ผมว่าการที่เราเป็นอยู่แบบนี้ เราไม่มีวันชนะ แล้วเราไม่รู้เราทำเพื่อใคร

คำถามคือผลประโยชน์ที่เราได้จากอยู่ในสนามของการแข่งขันจัดลำดับ ผมไม่รู้ว่า “ใครวิน” ผมว่ามหาวิทยาลัยไทยไม่วิน

ส่วนตัวถ้าถามผมว่าเรื่องสำคัญที่สุดคืออะไร ก็สิ่งที่มันเป็นผลประโยชน์ของเรา เราต้องทำสิ่งนั้นก่อน ในที่นี้ก็หมายถึงว่านักศึกษาเรา-ประเทศเรา

แต่วันนี้ผมเองไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราทำที่อยู่ในโลกของการจัดลำดับ มันทำให้เกิดผลประโยชน์กับมหาวิทยาลัยเรา ประเทศเรา หรือนักศึกษาเรา เพราะว่าวันนี้มันเน้นเรื่องอะไร เรื่อง publication เน้นเรื่องการตีพิมพ์ เน้นเรื่องความร่วมมือกับต่างประเทศ

ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าสิ่งนั้นไม่ดี แต่ถามว่าถ้าเราให้น้ำหนักสิ่งนั้นมากๆ นักศึกษาเรา รวมถึงในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทุกวันนี้อาจารย์ก็ถูกจับตา ต้องพยายามหาทุนทำวิจัยตีพิมพ์ ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ต่อสัญญา แล้วสอนนักศึกษาก็สอนๆ ไปอย่างนี้ ผมไม่รู้ว่าเราทำถูกหรือไม่ที่เราเป็นอยู่วันนี้เป็น 10 ปีแล้วนะ

ถามว่า ranking เราขึ้นหรือไม่ ประเทศเราจะชนะสิงคโปร์? ไม่มีทางหรอก

ภารกิจนี้ ผมทำคนเดียวไม่ได้หรอก หมดยุคแล้วที่จะต้องมีคนมานำทัพ เอาทุกอย่างไว้เต็มบ่า มองว่าถ้าคุณเข้ามาคุณต้องโน้มน้าวให้คนอื่นมาร่วมมือกัน ผมคิดว่าผู้นำที่ดีต้องมีทีมแล้วก็นำทิศทางทีมไป ชวนคนไปด้วยกัน

เราต้องทำให้คนเชื่อ เห็นคล้อยตามกับเรา แล้วก็ไปในทางเดียวกัน หาแนวร่วมแบบนั้น

 

: พูดถึงคำว่า “เสรีภาพทุกตารางนิ้ว” นึกถึงอะไร?

ผมคิดว่าทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่นะ ไม่มีที่ไหนที่นักศึกษาด่าอาจารย์ได้เหมือนธรรมศาสตร์หรอก

ผมว่าเด็กในธรรมศาสตร์ยิ่งกว่าเด็กฝรั่งอีก

ใครจะมาบอกว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกวันนี้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่จริง

ผมว่าอิสระมาก

แล้วเราก็ไม่เคยคาดหวังกับนักศึกษาว่าเขาจะต้องมาเชื่อในสิ่งที่เราพูด 100%

ผมก็ดูรู้นะ เวลาที่เด็กจบไป ว่าใครคือเด็กธรรมศาสตร์ คืออัตลักษณ์แบบธรรมศาสตร์ จะมีความเป็นตัวของตัวเอง

 

: 100 วันแรก อยากทำอะไร?

สิ่งที่ผมต้องทำเป็นลำดับแรกๆ คือสิ่งที่มันเป็นความเดือดร้อนของผู้คน คือก่อนที่ผมจะมาสมัครแคมเปญเป็นอธิการบดี ก็มีโอกาสพบเจอคนเยอะ เราก็ต้องไปคณะหน่วยงาน ไปมา 20-30 หน่วย ทุกคนก็จะมีชุดข้อมูล ความเดือดร้อนของตัวเองในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ เป็นเจ้าหน้าที่

ผมว่าหน้าที่อันดับแรกๆ คือต้องทำสิ่งที่แก้ไขความเดือดร้อน

ขณะเดียวกัน สิ่งที่มันต้องใช้เวลามาก แต่เราต้องทำก็คือบรรดาระเบียบหลักเกณฑ์ที่มีอยู่เยอะมาก ซึ่งคิดว่าที่เป็นข้อจำกัดในทางการบริหารผมว่าอันนี้ก็ต้องแก้

แล้วสิ่งที่ต้องทำไปตลอดทาง ผมคิดว่าคือการปรับ mindset ของคนในมหาวิทยาลัย ต้องพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลง

3 ปี บางทีบางเรื่องมันอาจจะยังไม่ทันเสร็จในวาระ แต่สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมคือมหาวิทยาลัยที่พร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งวันนี้ผมคิดว่าธรรมศาสตร์ยังไม่มีเลย โดยเฉพาะเรื่อง transformation

การเตรียมพร้อมสำหรับการ transform เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากทีเดียว แล้วต้องทำแบบจริงจัง มันต้องทำทุกวัน ผมว่าเราต้องทำในสิ่งที่เราควรทำ

 

: ปัญหาหลักๆ ที่รับฟังจากประชาคม

น่าจะเป็นเรื่องสิทธิ/ความสุข/สวัสดิการในการทำงาน นักศึกษาก็แบบเดียวกัน เขาจะพูดแบบเดียวกันเรื่องที่ควรจะต้องมีสิทธิได้รับบริการจากมหาวิทยาลัย ทุกคนจะพูดมุมนี้หมดเวลาที่ไปรับฟัง

แต่ถ้าเรามาเก็บข้อมูลแล้วประเมินก็จะพบว่าสุดท้ายแล้ว ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่เราต้องดู คือทำอย่างไรให้ผลผลิตของเราออกไปเป็นที่ยอมรับ

ซึ่งถ้าถามว่ามหาวิทยาลัยผลิตอะไร 1.บัณฑิต 2.องค์ความรู้ เราก็ต้องมาโฟกัส 2 เรื่องนี้เป็นหลัก กับที่รู้สึกว่าขาดไม่ได้เลยคือการจะได้บัณฑิตที่ดี องค์ความรู้ที่ดี คนทำงานก็ต้องมีความสุข มีความมั่นคงในชีวิตการทำงาน

โจทย์ที่ผมพูด 3 เรื่องนี้มันไม่ง่าย ผลิตบัณฑิตให้ดี ให้เป็นไปตามที่ตลาดต้องการ โจทย์ใหญ่นะ วิจัยให้ได้องค์ความรู้ตอบโจทย์ประเทศแทบจะต้องรื้อโครงสร้างทางการบริหารเรื่องระบบการจัดการทุนวิจัยทั้งหมด

 

: การเข้ามาทำหน้าที่ จะทำให้ใครหวั่นไหวหรือไม่

ผมว่าองค์กรจะขยับได้ มันต้องทำให้คนรู้สึกว่ามั่นใจแล้วพร้อมที่จะเปลี่ยน ไม่ใช่ถูกกดดันว่าคุณต้องเปลี่ยน แตกต่างจากวงการธนาคาร การทรานฟอร์มไม่สนใจนะ เขาสามารถเปลี่ยนได้เร็ว กลายเป็นดิสรัปต์ตัวเองไปเรียบร้อยก่อนที่จะถูก disrupt ซึ่งก็มีคนที่ตกงานจำนวนมาก

แต่มหาวิทยาลัยเราคงเคลื่อนแบบนั้นไม่ได้ เพราะกว่าจะผลิตอาจารย์มาได้ 1 คน ไม่เหมือนแบงก์ ที่จะมีบุคลากรที่เป็นสายสนับสนุนอีกมาก เราก็คงต้องทำให้เขารู้สึกว่ายินดีเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่ามันคือโจทย์ที่ใหญ่ที่สุด

ผมว่ามันเป็นหน้าที่เรา ที่ต้องทำให้คนไม่หวั่นไหว เราต้องการเปลี่ยนพฤติกรรม/เปลี่ยนมายด์เซ็ต แต่ในขณะเดียวกันเราต้องทำให้เขามีความรู้สึกว่าเราไม่ได้มาทำให้เขาหวั่นไหว

ผมว่าธรรมศาสตร์เป็นที่ที่คนมีความหลากหลายมาอยู่ด้วยกันมานาน จนกระทั่งผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่เป็นเสน่ห์ด้วยซ้ำ หลังๆ ผมเริ่มเห็นวิวัฒนาการบางอย่างในหมู่นักศึกษา

 

: การดูแล-รับมือ น.ศ.ที่เคลื่อนไหวแบบสุดขั้ว

ในตอนที่มีม็อบที่ท่าพระจันทร์ ช่วงวันที่ 10 สิงหาคม เป็นช่วงเวลาที่ผมไปยืนอยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัย และวันนั้นเป็นวันที่ผมถูกด่ามากที่สุดในชีวิต ซึ่งก็ไม่รู้ไปทำผิดอะไร แต่ก็ผ่านมาได้

ผมถึงย้ำเสมอว่า การที่จะบอกว่าธรรมศาสตร์ไม่มีเสรีภาพนั้น มันไม่ใช่

สำหรับการรับมือในอนาคต ถ้าผมมีโอกาสบริหาร ผมเองได้ไปคุยกับคนที่ผมวางตัวไว้เป็นรองอธิการด้านนี้ โดยสื่อสารไปว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพนักศึกษา อาจารย์ทำไปเลยนะ ผมไม่ได้ว่าอะไร

ขออย่างเดียวให้อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย แล้วผมเลือกคนจากคณะนิติศาสตร์มาดูเรื่องนี้

ส่วนตัวผมคิดว่าการแสดงออกของนักศึกษา มันก็คือความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาก็สามารถแสดงออกได้มากขึ้น

โดยที่บางเรื่องไม่จำเป็นต้องปิดกั้น