‘ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์’ นักออกแบบเสียงชาวไทย ผู้เป็น ‘เศรษฐีตุ๊กตาทองฮ่องกง’

คนมองหนัง

งานประกาศผลรางวัล “ฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์” ครั้งที่ 42 ซึ่งอาจเรียกขานแบบไม่เป็นทางการได้ว่า “รางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกง” เพิ่งผ่านพ้นไปแบบสดๆ ร้อนๆ

ผลงานที่คว้ารางวัลไปมากที่สุดประจำปีนี้ คือ “The Goldfinger” ที่กวาดตุ๊กตาทองฮ่องกงไปถึง 6 สาขา โดยส่วนใหญ่เป็นรางวัลทางด้านโปรดักชั่นและโพสต์โปรดักชั่น

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของฮ่องกงที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 1980 ก่อนจะล่มสลายลงในชั่วพริบตา อันเนื่องมาจากการพัวพันกับคดีทุจริตคอร์รัปชั่น

“The Goldfinger” นำแสดงโดยสอง “ดาราชายผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการบันเทิงฮ่องกง” อย่าง “เหลียงเฉาเหว่ย” และ “หลิวเต๋อหัว” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ ที่สุดยอดนักแสดงคู่นี้ได้หวนมาทำงานร่วมกันอีกคำรบหนึ่ง

แถม “เหลียงเฉาเหว่ย” ยังได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมบนเวทีฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ ครั้งล่าสุด ไปครองอีกด้วย

 

หนึ่งในรางวัลที่ “The Goldfinger” ได้รับ และมีความเกี่ยวพันกับบุคลากรจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ก็คือรางวัลสาขา “ออกแบบงานเสียงยอดเยี่ยม”

ผู้ที่ขึ้นไปรับรางวัลดังกล่าวบนเวที ได้แก่ “ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์” นักออกแบบเสียงชาวไทย ซึ่งรับหน้าที่ออกแบบงานเสียงให้ภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่องนี้

โดยณพวัฒน์ยังได้ยกเครดิตของความสำเร็จครั้งนี้ ให้แก่นักออกแบบเสียงอีกหนึ่งรายที่ทำงานร่วมกับเขา นั่นคือ “พูลเพชร หัตถกิจโกศล”

อย่างไรก็ดี ณพวัฒน์ไม่ใช่ “คนแปลกหน้า” ของอุตสาหกรรมหนังฮ่องกง และยิ่งไม่ใช่ “คนแปลกหน้า” บนเวทีมอบรางวัลฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์

เพราะย้อนไปในงานมอบรางวัลครั้งที่ 41 เมื่อปีก่อน เขาร่วมกับ “สแตน เหยา”, “ศรัณยู เนินทราย” และ “ธนรัตน์ ธิติโรจนา” ก็เพิ่งได้รับรางวัลสาขาเดียวกันนี้ จากผลงานในภาพยนตร์เรื่อง “Warriors of Future”

และถ้าย้อนไปในงานมอบรางวัลครั้งที่ 38 ณพวัฒน์กับศรัณยูก็เคยคว้ารางวัลสาขานี้มาแล้ว จากผลงานในหนังเรื่อง “Operation Red Sea”

การได้รับรางวัลสาขา “ออกแบบงานเสียงยอดเยี่ยม” บนเวทีฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ ไปมากถึงสามตัว ย่อมบ่งชี้ว่า “ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์” คือคนไทยผู้เป็น “เศรษฐีตุ๊กตาทองฮ่องกง” โดยแท้จริง

ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์

กระนั้นก็ตาม นอกจากณพวัฒน์และทีมงานของเขาแล้ว รางวัล “ออกแบบงานเสียงยอดเยี่ยม” ในงานตุ๊กตาทองฮ่องกง ยังเคยตกเป็นของคนไทยรายอื่นๆ ด้วย

โดยในงานมอบรางวัลครั้งที่ 33 ผู้ได้รับรางวัลสาขานี้ก็ได้แก่ “โรเบิร์ต แม็คเคนซี” และ “ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์” จากผลงานในภาพยนตร์เรื่อง “The Grandmaster” (ของ “หว่องกาไว”)

ในงานมอบรางวัลครั้งที่ 27 “สุนิตย์ อัศวินิกุล” บุคลากรรุ่นสองแห่ง “ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา” และ “นคร โฆษิตไพศาล” ก็เคยได้รับรางวัลสาขาเดียวกันจากภาพยนตร์เรื่อง “The Warlords”

ย้อนไปก่อนหน้านั้น 1 ปี ในงานมอบรางวัลครั้งที่ 26 นครก็ถือเป็นคนไทยรายแรกสุดที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกงสาขา “ออกแบบงานเสียงยอดเยี่ยม” จากภาพยนตร์เรื่อง “Re-Cycle”

 

เมื่อปี 2564 ณพวัฒน์เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อออนไลน์ “The Cloud” โดยอธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง “วิศวกรเสียง” (ซาวด์เอนจิเนียร์) กับ “นักออกแบบเสียง” (ซาวด์ดีไซเนอร์) เอาไว้ว่า

ในขณะที่คนทำงานประเภทแรกจะต้องเข้าใจหลักฟิสิกส์และการคำนวณค่าเสียงต่างๆ บุคลากรประเภทหลังกลับต้องเข้าใจเรื่องการนำเสียงมาช่วยหนุนเสริมกระบวนการเล่าเรื่องและการสร้างสรรค์บรรยากาศแวดล้อมในโลกภาพยนตร์

นอกจากนี้ เขายังมองว่าวงการภาพยนตร์ไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ “นักออกแบบเสียง” เท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากการที่งานประกาศรางวัลแทบทั้งหมดไม่ค่อยให้โอกาสบุคลากรสาขานี้ รวมถึงคนเบื้องหลังแขนงอื่นๆ ได้กล่าวความในใจ หลังจากขึ้นไปรับรางวัลบนเวที

ผิดกับงานมอบรางวัลในต่างประเทศ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้คนเบื้องหลังที่ได้รับรางวัล มีโอกาสพูดแสดงความรู้สึกของตนออกมาอย่างเต็มที่ •

 

ข้อมูลจาก https://hkfaa.com/

สุ้มเสียงตลอด 17 ปีของ ‘ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์’ นักออกแบบเสียงในหนังไทยและเทศ

ภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก หนังฮ่องกงแฟนคลับ 

 Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

| คนมองหนัง