ลูกท่านหลานเธอ เพ้อเจ้อนิยม

คำ ผกา

งานประชุมวิสามัญประจำปีของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมามีประเด็นให้ “ชาวไทยผู้ตื่นรู้และฉลาดหลักแหลม” ได้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ นั่นคือประโยคที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่บอกว่า

“ผมมั่นใจว่าอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) สามารถที่จะนำทีมพลิกเกมได้ไม่ยาก อิ๊งเป็นดีเอ็นเอระหว่างผมกับคุณหญิง (พจมาน ณ ป้อมเพชร) ที่ผสมกัน เขาจึงเอาส่วนที่เข้มแข็ง อดทน เด็ดขาด มาจากคุณหญิง และเอาส่วนที่ต้องเดินหน้าพบปะผู้คนการเมืองและเข้าใจการเมืองมาจากผม เขาก็เรียนรู้จากแม่จากพ่อมา เพราะเขาเป็นลูกคนเล็ก ผมจึงเชื่อว่าเขาเป็นผู้นำที่ดีได้ ไม่ได้เชียร์ลูก ผมทำได้ ดีเอ็นเอของผมก็ทำได้ และมีดีเอ็นเอแม่เขาด้วย ดังนั้น เขาก็จะทำได้ดีกว่าผม”

หลังจากนั้น หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน ออกมาแสดงความคิดอย่างสุภาพว่า “ถ้าคุณแพทองธารจะสามารถเป็นผู้นำพรรคหรือผู้นำประเทศในอนาคตที่ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับความสามารถและศักยภาพของคุณแพทองธารเอง คงไม่เกี่ยวกับว่ามีพ่อแม่เป็นใคร”

หลังจากนั้นผู้คนที่เรียกว่าเป็น “ฝ่ายหัวก้าวหน้า” (ส่วนตัวฉันที่ครั้งหนึ่งคิดว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งในคนหัวก้าวหน้า แต่หลังจากเจอกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หัวก้าวหน้ากว่าฉันมากอย่างไม่อาจเทียบกันได้ โดยเปรียบเทียบกับคนเหล่านั้น ฉันน่าจะกลายเป็นคนอนุรักษนิยมไปแล้ว) ก็ออกมาวิเคราะห์การเมืองด้วยคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจหลายคำ เช่น

Political dynasty ในการเมืองไทย

Nepotism ระบบลูกท่านหลานเธอ

 

ฉันขอปูพื้นอย่างคร่าวๆ ในฐานะที่เคยค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการศึกษาสมัยใหม่ของสยามและไทย

จะขอสรุปอย่างหยาบๆ ว่า ระบบ political dynasty หรือ nepotism ของไทยนั้น ต่อให้ไม่มี “ตระกูลชินวัตร” อยู่ในประเทศไทย ระบบนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างช่วยไม่ได้

เพราะมันคือมรดกของระบอบอาณานิคมอำพรางในสยามตั้งแต่แรกเริ่มจะทำประเทศให้ทันสมัย

โครงสร้างการศึกษาสมัยใหม่ของไทยชัดเจนว่ามีไว้เพื่อสร้างและสืบทอดอำนาจของชนชั้นนำมาตั้งแต่ต้น

และกระบวนการ decolonization ของเราผ่านการปฏิวัติสยาม 2575 ก็เป็นกระบวนการที่ไม่สำเร็จสมบูรณ์

(ถ้าสำเร็จ ระบอบ nepotism จะเจือจางกว่านี้ แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มี เพราะประเทศประชาธิปไตยจำนวนมากในโลกใบนี้ก็มีสิ่งที่เรียกว่ากลุ่มตระกูลการเมือง เช่น ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา)

การปกครองของไทยจึงเปลี่ยนจากระบอบอาณานิคมอำพรางมาสู่การเป็น crypto democracy + capitalism ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา

และเราเข้าใกล้ภาวะ democratization หรือการกลายเป็นประชาธิปไตยโดยกระบวนการเลือกตั้ง (ไม่ใช่โดย revolution) สามครั้งด้วยกันคือ ตอนที่ชาติชาย ชุณหะวัณ, บรรหาร ศิลปอาชา และทักษิณ เป็นนายกฯ เพราะนั่นคือสามครั้งที่เรามีนายกฯ จากการเลือกตั้ง และมีพลวัตของการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญใหม่

และโปรดสังเกตว่ากระบวนการกลายเป็นประชาธิปไตยทั้งสามครั้งนั้นล้วนแต่ถูก “ขัดจังหวะด้วยการรัฐประหาร” ตรงกันข้าม uprising ของนิสิต นักศึกษา สิบสี่ตุลาฯ และหกตุลาฯ ท้ายที่สุดกลับนำไปสู่การได้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้าง hegemony หรืออำนาจนำของฝ่าย “อำนาจดั้งเดิมประเพณี” อย่างน่าอัศจรรย์ใจที่สุด

และฉันคิดว่านี่คือความเข้าใจอย่างกลับตาลปัตรของนักวิชาการด้านไทยศึกษามาตลอดห้า-หกทศวรรษ เพราะนักวิชาการ และปัญญาชนสาธารณะของไทยด้านประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ไทย

โดยเฉพาะฝ่ายซ้ายล้วนแต่เป็นอดีตนักกิจกรรม นักปฏิวัติ จึงมีแนวโน้มจะเขียนประวัติศาสตร์ว่า การต่อสู้ของตัวเองเป็นการปลดปล่อยประเทศออกจากเผด็จการ ทุนนิยม ขุนนาง (ขุนศึก ศักดินา อย่างที่ชอบพูดกัน)

ทั้งๆ ที่ผลลัพธ์มันเป็นไปในทางตรงกันข้าม

 

ทั้งหมดนี้ฉันกำลังจะบอกว่า โดย “โครงสร้าง” ประวัติศาสตร์การเมืองและทุนนิยมของไทย ที่เรายังไม่ตระหนักว่ากระบวนการ democratized และ delocolonized ยังเป็นมรดกที่สำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยนี้ก็คือ เราจะมีประชากรเพียงร้อยละหนึ่งที่มีการศึกษาสูง มีต้นทุนสังคม ต้นทุนเศรษฐกิจ สูงกว่าคนอื่นทำให้ได้รับโอกาสไปเป็นชนชั้นนำทางการเมือง เศรษฐกิจ เป็นชนชั้นนำในระบบราชการ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแม้กระทั่งทุกคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักคิด ปัญญาชนฝ่ายซ้าย นักวิชาการฝ่ายซ้ายในสังคมไทย

หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้นำทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายซ้ายและหัวก้าวหน้า พวกคุณก็เป็นหนึ่งในคนร้อยละหนึ่งนี้เช่นกัน

และอย่าลืมว่า หนังสือเกี่ยวกับชีวิตและงานของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ก็พูดถึงความเป็น “ไพร่หมื่นล้าน” มิใช่หรือ?

และตัวฉันเองก็มีแต่ความชื่นชม ไม่เคยตั้งคำถามด้วยซ้ำว่า ถ้าเป็นเป็นเพียงไพร่ธรรมดา ไม่มีหมื่นล้านจะรวบรวมไพร่พลมาตั้งพรรคการเมืองสำเร็จหรือไม่?

เพราะฉันเข้าใจดีกว่า การทำพรรคการเมืองมันเรียกร้องทรัพยากรมหาศาลทั้งกำลังกาย กำลังใจและกำลังเงิน

ในวันนี้พรรคก้าวไกลอาจมีเงินบริจาคจากประชาชนจนเลี้ยงตัวเองได้ แต่ก่อนที่จะได้รับความศรัทธาขนาดนั้นมันก็ต้องมีเงินก้อนแรกจากใครสักคนจริงหรือไม่?

และน่าเสียใจมากที่เงินก้อนแรกที่เป็นเงินกู้นั้นกลายเป็นเหตุแห่งการถูกยุบพรรคในเวลาต่อมา

 

และทั้งหมดนี้ฉันไม่ได้บอกว่าฉันสนับสนุนระบบลูกท่านหลานเธอ

แต่อยากชี้ให้เห็นว่าหากเราจะคุยกันเรื่องนี้เราต้องแยกให้ได้ด้วยว่าด้วยมรดกของโครงสร้างการเมืองเศรษฐกิจแบบเดิมทำให้คนกลุ่มหนึ่งมีความได้เปรียบทางโอกาสมากกว่าคนส่วนใหญ่ของสังคม

โอกาสที่มากกว่านี้เองทำให้พวกเขาครอบครองทุนทางความรู้ ความสามารถ เครือข่าย การศึกษาที่สูงกว่าคนอื่น

หรือแม้กระทั่งทุนทางรสนิยม สุนทรียะ ศิลปะ วรรณกรรม ก็สูงกว่า

และทำให้ต่อให้เราใช้ระบบคุณธรรมมาคัดคนเข้าสู่องค์กร ผู้คนจาก “ครอบครัว” เหล่านี้ก็ชนะลูกชาวบ้านอี่แก้ว อี่คำอยู่ดี

แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องยอมแพ้หรือจำนน สำหรับฉันที่ไม่เชื่อเรื่องการปฏิวัติล้มล้าง

ฉันคิดว่าเราสามารถขยายฐานชนชั้นกลางให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ได้

คำว่า ขยายโอกาส จึงสำคัญมาก สังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สังคมที่หาจุดสมดุลของเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีนิยมกับสังคมนิยม ที่จะเพิ่มแต้มต่อให้คนที่ต้นทุนต่ำว่าคนอื่นๆ เหล่านี้คือการกระจายความมั่งคั่งออกไปในวงกว้าง บีบให้กลุ่มลูกท่านหลานเธอเหลือน้อยลง

แต่โปรดทำใจว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีคนกลุ่มนี้ในสังคม เพราะทุกประเทศต่างมีไทคูนและ crazy rich เป็นของตัวเอง

สิ่งที่ธรรมาภิบาลทางการเมืองจะช่วยได้คือ ให้คนเหล่านั้นร่ำรวยโดยไม่เบียดเบียนหรือแสวงหาความมั่งคั่งจากการสาบคนอื่นให้เป็นทาสหรือค้ามนุษย์

ธรรมาภิบาลทางการเมืองของประชาธิปไตยทุนนิยมที่ทำงานอยู่ในตอนนี้มีอไรบ้าง?

 

ในระบบราชการ ฉันคิดว่านอกจาก ทหาร กับตำรวจแล้ว

ข้าราชการพลเรือนมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ในการสอบคัดเลือกคนเข้าเป็นข้าราชการ

นั่นคือเป็นระบบคุณธรรมมากขึ้น และหากเราจะสังเกตอย่างระมัดระวัง เราจะพบว่าระบบเด็กเส้นและเด็กฝากก็แปรผกผันตามความเข้มข้นของประชาธิปไตย ช่วงไหนเป็นประชาธิปไตยอ่อนแอ ระบบเด็กเส้นเด็กฝากจะเข้นข้น เข้มแข็งทันที

ส่วนในภาคธุรกิจ หากบริษัทไหนจะใช้ระบบลูกท่านหลานเธอโดยไม่แคร์ระบบคุณธรรม หากเขาทำเช่นนั้นแล้วดี ได้กำไร ก็แปลว่า ลูกท่านหลานเธอบริษัทนั้นเก่ง

แต่หากบริษัทไหนลูกท่านหลานเธอไม่เก่ง แล้วยังดันทุรังจะใช้ระบบลูกท่านหลานเธอเหนือระบบคุณธรรม ไม่ช้านานบริษัทนั้นก็น่าจะเจ๊งไปโดยปริยาย

เพราะฉะนั้น ฉันคิดว่า ไม่มีบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จจนร่ำรวย ต่อให้เป็นระบบผูกขาด สัมปทาน เสือนอนกินจะอยู่กับระบบลูกท่านหลานเธอแบบตาบอด ก็เขาก็ต้องคัดเหมือนกันว่า ลูกคนไหนใช้ได้ หลานคนไหนควรจ่ายเงินเดือนให้ไปนั่งๆ นอนๆ ไม่ต้องมาทำงาน

เพราะหากเอามาทำแล้ว จะสร้างความเสียหายมากกว่า

 

กลับมาดูกรณีอดีตนายกฯ ทักษิณที่พูดถึงแพทองธาร เนื่องจากทักษิณไม่ได้พูดในฐานะนักมานุษยวิทยาการเมือง การพูดถึงดีเอ็นเอ จึงเป็นหมายถึงการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม และการจำแนกบุคลิก นิสัยของลูกแต่ละคน อันเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนทำ เช่น ลูกคนนี้เหมือนแม่ แต่ได้นิสัยพ่อ ลูกคนนี้ได้มาทั้งหน้าตาและนิสัยเหมือนแม่ ลูกคนนี้เหมือนปู่ เหมือนย่า อะไรก็ว่าไป

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์ทุกคนมีนิสัย บุคลิก จิตใจบางอย่างที่ติดตัวมาแต่กำเนิด

จากนั้นจึงมาฝึกฝน ขัดเกลาภายหลังจากการเรียนรู้ทางสังคม การเลี้ยงดู

อดีตนายกฯ ทักษิณจึงพูดถึงแพทองธารจากมุมของพ่อว่า ลูกคนนี้เหมือนพ่อในส่วนไหน เหมือนแม่ในส่วนไหน

และจากความเหมือนนี้ทำให้มีจุดแข็งอะไรบ้าง เป็นการพูดอย่างถ่อมตัวด้วยซ้ำ

อ่านระหว่างบรรทัดคือ เขาบอกว่า จุดแข็งของเขาคือ เชื่อมสัมพันธไมตรีกับผู้คนได้หลากหลาย แต่ขาดความเด็ดเดี่ยว แต่แพทองธารมีทั้งสองอย่าง เพราะความอดทน เด็ดเดี่ยวได้มาจากแม่

ถามว่า การที่แพทองธารเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถือเป็นระบบลูกท่านหลานเธอไหม?

 

ฉันขอตอบง่ายๆ แบบนี้ว่า พรรคการเมือง มาจากคำว่า political party คือ กลุ่มคนที่คิดคล้ายกัน มีผลประโยชน์สอดคล้องกัน มีความฝันคล้ายกัน มารวมตัวกัน แล้วลงแข่งขันในการเลือกตั้งเพื่อจะได้ครอบครองอำนาจรัฐ และบริหารประเทศ

ไม่มีตรงไหนที่บอกว่า ระบบพรรคการเมืองคือ องค์กรที่คัดสรรคนดี คนเก่งเข้าไปทำงานด้วยกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วคนที่จะ evaluate หรือให้คะแนนพรรคการเมืองคือประชาชน

ดังนั้น การเข้าพรรคการเมืองจึงไม่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ การเป็นกรรมการบริหารพรรคก็ไม่ต้องเปิดสอบสาธารณะให้มีการแข่งขัน การได้มาซึ่งหัวหน้าพรรค ก็เป็นการตกลง โหวตกันในพรรค ไม่ได้มีข้อสอบกลางมาจาก กกต. จัดสอบคัดเลือกหัวหน้าพรรค ใครสอบได้คะแนนสูงสุด ได้เป็นหัวหน้าพรรค

ฉันใดก็ฉันนั้น การคัดเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคของพรรคก้าวไกลก็ไม่ต้องจัดสอบ ทุกคนก็ล้วนแต่เป็นเครือข่าย คนทำกิจกรรมสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เป็นเครือข่าย นักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อ นักกฎหมาย ทนายความ คนทำหนังสือ สำนักพิมพ์ คิดตรงกัน รสนิยม ตรงกัน ก็มารวมกันเป็นพรรคการเมือง

ในพรรคเห็นชัยธวัชเหมาะเป็นหัวหน้าพรรคก็คือเหมาะ เป็นเพื่อนทำกิจกรรมมากับธนาธร เป็นรอง บก.ฟ้าเดียวกัน ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่มา เป็นคนที่ไว้ใจที่สุด ก็ได้เป็นหัวหน้าพรรค

พรรคเพื่อไทยเห็นว่าแพทองธาร ลูกสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ เหมาะสมที่สุด จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ และฉันถามหน่อยกว่า ถ้าแพทองธารเป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง ไม่มีอีคิว นิสัยแย่ ดูถูกคน ขี้เกียจ ไม่มีความรับผิดชอบ ต่อให้เป็นลูกทักษิณ ก็ไม่มีใครไว้ใจให้เป็นหัวหน้าพรรค จริงหรือไม่?

นักการเมืองในพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่คนไม่มีทางเลือก ไม่มีทางไป ถ้ายัดเยียดระบบลูกท่านหลานเธอแบบห่วยๆ มา คนเก่งๆ ก็ย้ายไปอยู่พรรคอื่นหมดแล้ว

 

กว่าพรรคการเมืองจะกลายเป็นสถาบันทางการเมือง มันใช้เวลาเป็นร้อยปีสำหรับความต่อเนื่องของประชาธิปไตย

อย่ามาทำตัวเป็น woke ไร้เดียงสา ยกตนให้สูง กดคนอื่นให้ต่ำ พลางบอกว่า ฉันเป็นคนที่ยืนหยัดหลังเหยียดตรง ซื่อสัตย์ เป็นประชาธิปไตย พรรคของฉันเป็นพรรคที่พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรคอะไรเลย

มองซ้ายมองขวาก็เห็นคอนเน็กชั่น สายสัมพันธ์ต่างๆ ไม่ได้ต่างไปจากพรรคอื่น

จากการเมืองใหม่ กลายเป็นการเมืองเก่ากลิ่นตุๆ

พรรคการเมืองอย่างเพื่อไทย ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา เขาก็ยอมรับกันหมดว่า ด้วยพัฒนาการของพรรค ที่คู่ขนานไปกับพัฒนาการการเมืองไทย พวกเขาคือพรรคบ้านใหญ่

ฉันคิดว่า ในเบื้องต้น พรรคการเมืองที่น่านับถือ คือพรรคการเมืองที่ไม่หลอกตัวเอง ไม่หลอกคนอื่น และไม่กดคนอื่นลงต่ำเพียงเพื่อให้ตัวเองดูดี ทั้งๆ ที่เนื้อในไม่ต่างกัน