ส่อง ‘วอทช์แอพพ์’ สายตรง ‘นิด-เหล่าทัพ’ ย้อนรอย ‘ดีล’ ก่อนเขย่า ‘บิ๊กทิน’ ปีก ‘ทักษิณ’ ยังหวง กห. จับตาจังหวะก้าว ‘บิ๊ก ด.’

หากไม่มีการเปลี่ยนตัว รมว.กลาโหม ยังคงเป็นนายสุทิน คลังแสง ต่อไป หรือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มาควบ รมว.กลาโหม สะท้อนได้ว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ยังไม่ยอมทำตาม “ดีล” ที่ได้เจรจาตกลงกันไว้ ช่วงจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว

เพราะช่วงที่ขั้วอนุรักษนิยม และพี่น้อง 3 ป. ดีลกับพรรคเพื่อไทย และนายทักษิณนั้น มีชื่อบิ๊กทหาร 2 คนเป็นแคนดิเดต รมว.กลาโหม

คนหนึ่งคือ บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่ขณะนั้นยังเป็นรองเลขาธิการ สนว. และรอง ผอ.สนง.ทรัพย์สินฯ ที่ตกเป็นข่าวเกี่ยวข้องกับ “ดีลลังกาวี”

ส่วนอีกคนคือ บิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาฯ สมช. น้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมในเวลานั้น ที่ต้องมา “พักคอย” เป็นเลขานุการ รมว.กลาโหม ไปพลางก่อน รอ “ดีล”

โดยที่ทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ และ พล.อ.ณัฐพล เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 20 ที่สนิทสนมกันมาก

จนมีข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้ต้องการมาเป็น รมว.กลาโหม แต่สนับสนุน พล.อ.ณัฐพลให้เป็น รมว.กลาโหม

ทว่า แรกจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยต้องรักษาภาพของรัฐบาลพลเรือน และไม่มี “ลุง” 3 ป.ร่วม ครม. ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องประกาศวางมือทางการเมือง และลาออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ท่ามกลางกระแสข่าวจะได้เป็นองคมนตรีมาตั้งแต่บัดนั้น

ส่วนบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ 3 ป. หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เป็น รมต. ต้องให้บิ๊กป๊อด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายมาร่วม ครม.แทน

อีกทั้งมีความเคลื่อนไหวของบิ๊กๆ ทหารแตงโม ที่เป็นทหารสายระบอบทักษิณ สายบ้านจันทร์ส่องหล้า ที่ต้องการให้ รมว.กลาโหม เป็นทหารสายแตงโม ทั้งบิ๊กแอ้ด พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณฑัต อดีต รมว.กลาโหม เพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ของอดีตนายกฯ ทักษิณ บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธฺ อดีตนายกฯ และบิ๊กเหวียง พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีต รมว.กลาโหม ที่ก็เสนอชื่อ รมว.กลาโหมมาหลายคน รวมทั้งบิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัด กห. ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จึงทำให้สายบ้านจันทร์ส่องหล้าเลือกทางสายกลาง คือ ให้นายสุทิน คลังแสง ส.ส.อีสาน ครูบ้านนอก จึงได้มาเป็น รมว.กลาโหมพลเรือน ตรงตามสเป๊กของนายทักษิณ ที่ต้องการทำให้กระทรวงกลาโหมเป็นเหมือนกระทรวงอื่นๆ ที่พลเรือนก็มาบริหารได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร และไม่จำเป็นที่นายกฯ จะต้องมาควบ และเพื่อลดช่องว่างระหว่างกองทัพกับประชาชน และทำให้เห็นว่า งบฯ กลาโหมก็ถูกตัดได้

นายสุทินเดินสายไปพบอดีตบิ๊กทหาร สายพรรคเพื่อไทยหลายคน เพื่อขอคำแนะนำ รวมทั้งคัดตัวนายทหารที่เก่งๆ มาช่วยงานที่กลาโหม

ตลอด 7 เดือนของการเป็น รมว.กลาโหม นายสุทินเล่นได้ทั้ง 2 บทบาท ทั้งเข้าใจกองทัพ ช่วยชี้แจงแทน และบทขัดใจกองทัพ ที่ไม่ได้ยอมในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงความพยายามในการเปลี่ยนระบบการจัดซื้อฯ แบบรวมการ

โดยนายเศรษฐาก็เล่นบทเสริม ในการคุมความมั่นคงด้วยตนเอง ไม่ตั้งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และใช้วิธีการคุยตรง ผบ.เหล่าทัพด้วยตนเอง โดยไม่ผ่าน รมว.กลาโหม

จนเป็นสาเหตุหนึ่งของกระแสข่าวที่ว่า นายเศรษฐาจะมาควบ รมว.กลาโหม

อย่างไรก็ตาม มีความเคลื่อนไหวของคีย์แมนสายอนุรักษนิยม เริ่มมีการทวงดีลกลาโหม จึงทำให้เกิดข่าวสะพัดถึงการปรับ ครม. ที่นายสุทินจะหลุดเก้าอี้ เพื่อไปดูแลงานสภาให้พรรคเพื่อไทย แล้วให้นายเศรษฐาควบ รมว.กลาโหมเอง เพราะสายบ้านจันทร์ส่องหล้ายังไม่ต้องการปล่อยมือจากกองทัพ หากไม่ใช่นายสุทิน ก็ต้องให้นายเศรษฐาควบกลาโหมเอง

อาจกล่าวได้ว่า บิ๊กในบ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งรู้จักบรรดาอีลิต ศักดินา คีย์แมนของขั้วอนุรักษนิยมดี จึงยังไม่ยอมให้ทหารมาคุมกลาโหมโดยตรง แต่ยอมให้ได้แค่มีทหารเป็น รมช.กลาโหมเท่านั้น

แต่ด้วยสไตล์การทำงาน และวาทะวาจาของนายสุทิน ที่สามารถปกป้องกองทัพ และรับมือพรรคก้าวไกลได้ จึงทำให้ภาพ รมว.กลาโหมพลเรือน ยังเป็นจุดแข็งของนายสุทิน อีกทั้งก็แน่วแน่มั่นคงกับพรรคมายาวนาน

อีกทั้งนายสุทินก็ไม่ได้มีปัญหากับ ผบ.เหล่าทัพ ที่ยิ่งนายเศรษฐาคุยตรง ผบ.เหล่าทัพมากแค่ไหน ผบ.เหล่าทัพก็ต้องรายงานให้นายสุทิน ในฐานะเจ้ากระทรวงรับทราบด้วย ถือเป็นการให้เกียรติ แม้ว่าบ่อยครั้งที่นายเศรษฐาสั่งการข้าม รมว.กลาโหมมาตลอด

จนเสมือนนายเศรษฐาเป็น รมว.กลาโหมตัวจริง ส่วนนายสุทินเป็นเสมือนแค่ รมช.กลาโหมเท่านั้น

นอกจากนายเศรษฐาจะใช้โทรศัทพ์พูดคุยกับผู้นำเหล่าทัพแล้ว ยังใช้แอพพลิเคชั่น “วอทช์แอพพ์” เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ที่เชื่อว่าปลอดภัยที่สุด และปลอดภัยกว่าทางแอพพลิเคชั่น “ไลน์” โดยเป็นการคุยตรงส่วนตัว ไม่ได้ตั้งเป็นวอทช์แอพพ์กลุ่มแต่อย่างใด

ในขณะที่ ผบ.เหล่าทัพ ทั้ง 5 มีการตั้งไลน์กลุ่ม ที่ใช้ชื่อว่า “สนามไชย” หรือรหัสของกระทรวงกลาโหม ที่มีบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม เป็นแอดมินกลุ่ม เพื่อเอาไว้พูดคุยนัดหมาย งานด้านธุรการต่างๆ หรือนัดหมายสำคัญ นัดประชุมสำคัญๆ ที่ต้องมากันพร้อมหน้า และมีการพูดคุยหยอกล้อกันบ้างในเรื่องข่าว หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ

สภาพการณ์เช่นนี้ จึงทำให้ ผบ.เหล่าทัพ ต้องปรับการทำงาน โดยเรื่องสำคัญจะต้องให้นายกฯ เป็นคนตัดสินใจท้ายที่สุด ไม่ใช่นายสุทิน รมว.กลาโหม จน ผบ.เหล่าทัพบางคนก็ไม่ให้ความสำคัญกับนายสุทิน แต่ยิงตรงคุยกับนายเศรษฐาเลย

อีกทั้งอาจเป็นเพราะฝ่ายผู้นำทหาร ก็จับไต๋ได้ว่า ระหว่างนายเศรษฐา กับนายสุทิน ก็ไม่ได้สนิทสนมกัน แทบจะไม่ค่อยได้คุยกันด้วยซ้ำ เพราะหากต้องการรู้เรื่องกลาโหม นายเศรษฐาก็ถามตรง พล.อ.ณัฐพล หรือบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหมเลย

บ้างก็ระบุว่า นายเศรษฐากับนายสุทิน เคมีไม่ตรงกัน อาจเพราะความแตกต่างของสถานภาพทางสังคม ระหว่างนักธุรกิจระดับบิ๊กบอส เรียนต่างประเทศ กับครูบ้านนอก นักการเมืองอีสาน

อีกทั้งในบางครั้งบางเรื่อง นายสุทินก็จะสายตรงคุยกับนายทักษิณ หรืออดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นายเศรษฐาเกรงใจ ที่อาจทำให้นายเศรษฐาอาจไม่ค่อยแฮปปี้

ขณะที่ในเรื่องที่ต้องการการตัดสินใจ ผบ.เหล่าทัพจึงเลือกที่จะคุยตรงกับนายกฯ มากกว่าคุยกับนายสุทิน แต่โดยมารยาท ก็จะรายงาน หรือแจ้งเพื่อทราบตามสายการบังคับบัญชาเท่านั้น แม้จะรู้ว่าบางเรื่อง นายเศรษฐาก็อาจต้องถามอดีตนายกฯ ก่อนด้วยเช่นกัน

จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวสะพัดว่า ในการปรับ ครม.ครั้งนี้ นายเศรษฐาจะควบ รมว.กลาโหมด้วยตนเอง แล้วให้นายสุทินไปทำหน้าที่ ส.ส. ทำงานสภา แล้วตั้ง พล.อ.ณัฐพล เป็น รมช.กลาโหม

แต่ทว่า มีเสียงติติงในพรรคเพื่อไทยเองว่า ยังไม่ควรให้มีทหารใน ครม. และไม่ควรต้องเสียโควต้าเก้าอี้ รมต.ของพรรค ให้มี รมช.กลาโหม

แม้ว่าการมี รมช.กลาโหม จะทำให้มีเสียงในคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายพล ครบ 7 เสียง ที่เรียกว่า บอร์ด 7 เสือกลาโหมก็ตาม แต่เสียงของ รมช.กลาโหม ที่เป็นทหารเก่า ก็น่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนเสียงของ ผบ.เหล่าทัพมากกว่า ในกรณีที่ความเห็นต่าง และถึงขั้นต้องโหวต ฝ่ายการเมืองก็มีแค่ รมว.กลาโหม เสียงเดียว เพราะ พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 นั้น ป้องกันฝ่ายการเมืองล้วงลูกแทรกแซงกองทัพ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายอยู่แล้ว

ดังนั้น หากนายเศรษฐาจะมาควบ รมว.กลาโหม ก็ไม่ใช่เรื่องเกินคาดสำหรับ ผบ.เหล่าทัพ

แต่ที่ต้องจับตาคือ นายเศรษฐาจะควบ รมว.กลาโหม เหมือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เคยเป็น รมว.กลาโหมหญิงคนแรก แต่จบด้วยการถูกรัฐประหาร

ขณะที่นายเศรษฐาอยู่ในบริบทอำนาจที่แตกต่างกัน เพราะเป็นการรอมชอมกันของขั้วชินวัตร กับกลุ่มอีลิต สายอนุรักษนิยม

ปัจจัยกองทัพ และ ผบ.เหล่าทัพ ไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ว่า นายสุทินจะเป็น รมว.กลาโหมต่อหรือไม่ แต่เป็นเรื่องภายในของพรรคเพื่อไทย นายทักษิณและนายเศรษฐา เป็นสำคัญว่าจะตัดสินใจอย่างไร

เพราะแม้จะมีการทวงดีลกลาโหมเกิดขึ้นจริง แต่อำนาจการต่อรองของคีย์แมนสายอนุรักษนิยมแผ่วลงไป เพราะนายสุทินก็ไม่ได้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ ผบ.เหล่าทัพไม่ยอมรับ

คงมีเพียงความขัดแย้งในแนวทางการทำงาน และนโยบายกองทัพของนายสุทิน กับ พล.อ.ณัฐพล ที่ปรากฏจากการที่ พล.อ.ณัฐพล ไปบรรยายพิเศษให้ ผบ.หน่วย ทบ. ที่ รร.เสนาธิการทหารบก

ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของนายสุทิน กับ พล.อ.ณัฐพล ถูกจับตามอง

ขณะที่อดีตบิ๊กทหาร ระดับคีย์แมนขั้วอนุรักษนิยม ที่เคยมีบทบาทใน “ดีล” ข้ามขั้วนั้น แม้จะได้ออกมาพักเพื่อรักษาตัวก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้มากนักในทางการเมือง เพราะแม้ได้ออกมาแล้ว สถานภาพไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับสถาบันแล้ว แต่ก็ยังต้องระวังตัวในทางการเมืองทุกฝีก้าว

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของ “บิ๊กแดง แฟนเพจ” กำลังถูกนำมาเชื่อมโยงท่าทีทางการเมืองของ พล.อ.อภิรัชต์ หรือไม่ ถึงขั้นที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มหลอมรวมประชาธิปไตย เอาไปโยงว่า เป็นการทวงดีล และดีลการเปลี่ยนแปลง จนทำให้มวลชนสายอนุรักษนิยม ที่ต่อต้านระบอบทักษิณ แต่บรรดาลุงๆ ก็ไปดีลกับระบอบทักษิณเสียแล้ว ขาดที่พึ่ง จึงตั้งความหวังว่า วันหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จะได้คัมแบ๊ก

มวลชนเหล่านี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นเอฟซี “ลุงตู่” ต่างก็เกิดความหวังว่า พล.อ.อภิรัชต์จะมาเป็นแม่ทัพสู้กับระบอบทักษิณ ในยามที่พวกเขาขาดผู้นำทางจิตวิญญาณ

เพจ บิ๊กแดง แฟนเพจ จึงเป็นเสมือนความหวังของพวกเขา โดยเฉพาะหลายข้อความที่เสมือนประกาศศึกกับนายทักษิณอย่างดุเดือด

ทั้ง “ไม่ได้กลับมาเพราะอยากเลี้ยงหลาน แต่แค่กลับมาเลี้ยง…ในคอก #หนักแผ่นดิน”

และ “ต่างคนต่างอยู่ก็เห็นด้วย แต่ให้ช่วยไสหัวไปอยู่แผ่นดินอื่น!!”

และอีกหลายข้อความ จนสื่อกระแสหลักสายอนุรักษนิยม นำมาสร้างกระแส

ด้วยเพราะ พล.อ.อภิรัชต์ ไม่เคยออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเพจนี้ แต่ใช้การนิ่งเฉย จนทำให้มวลชนยิ่งมีความหวัง

แม้ว่า ในความเป็นจริง พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพจบิ๊กแดงนี้เลย แม้จะตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัย พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ทบ. โดยเป็นที่รับรู้กันในบรรดาคนใกล้ชิดของ พล.อ.อภิรัชต์ ว่า มีแฟนคลับเป็นคนทำเพจนี้ให้ ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ก็มองว่า เป็นเรื่องดีที่มีมวลชนสนับสนุน

พล.อ.อภิรัชต์ เคยบอกกับสื่อว่า เพจ บิ๊กแดง นี้ มีเอฟซีของตนเองที่อยู่ภาคใต้ เป็นคนทำให้ ตนเองไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง หรือไปชี้นำ แทรกแซง หรือบอกให้โพสต์อะไร

 

จนในระยะหลังที่เพจนี้เคลื่อนไหวมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อตัว พล.อ.อภิรัชต์ จนมีข่าวจากนายทหารที่ใกล้ชิดว่า พล.อ.อภิรัชต์ ที่ได้พบปะกับคีย์แมนในรัฐบาล หรือที่ใกล้ชิดนายทักษิณบ้าง ก็ได้ยืนยันไปแล้วว่า ตนเองไม่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ต้องการที่จะไปแทรกแซง แต่เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของคนทำเพจเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็น หรือการส่งสัญญาณจาก พล.อ.อภิรัชต์

คาดว่า การที่ พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ได้สื่อสารผ่านสื่อหลัก ออกมาเพื่อปฏิเสธข่าวความเกี่ยวข้องกับเพจบิ๊กแดง เป็นเพราะไม่ต้องการแทรกแซง และต้องการรักษาฐานมวลชนเอาไว้ก่อน เพราะอนาคตทางการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน เพราะอย่างน้อยก็เป็นแนวร่วมในการปกป้องสถาบัน

อีกทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ยังคงถูกจับตามองว่า ในอนาคตอาจจะออกมาสู่เบื้องหน้า จากเดิมที่เป็นผู้ปิดทองหลังพระ และเป็น “แมน บีฮายด์ เดอะซีน” ของความเป็นไปทางการเมืองที่ผ่านมา แม้บางครั้งจะต้องเปลืองตัว และเจ็บตัวก็ตาม

กระแสข่าวการทวงดีล ลามถึงเก้าอี้นายกฯ จนทำให้ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกปั่นกระแสว่าจะได้ลาออกมาเป็นนายกฯ ในเวลา 2 ปี ที่เหลือโควต้าอยู่ รวมทั้งชื่อของตุ๋ย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

พรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยร่วมก่อตั้งมา จนนายพีระพันธุ์ต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่มีดีลอะไรทั้งสิ้น ในการเปลี่ยนนายกฯ มาเป็นตนเอง หรือ พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นองคมนตรี มีหน้าที่สำคัญไปแล้ว

ดังนั้น ความหวังของมวลชนที่เคยเป็นเสื้อเหลือง หรือสลิ่ม จึงไปพอกอยู่ที่ พล.อ.อภิรัชต์นั่นเอง

แต่ทว่า ในเวลานี้ จะเป็นช่วงเวลาในการดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย เยียวยาโรคต่างๆ ให้หายดี หายขาด เพราะคนเราแม้มีอำนาจ แต่ไม่อาจรักษาชีวิต รักษาสุขภาพที่แข็งแรงได้ การมีอำนาจไปก็ไร้ประโยชน์

แต่กระแสข่าวภายนอก กลับถูกปั่นให้ร้อนรุ่มไปด้วย