เปิดห้องเรียน ‘ตำรวจนักสืบ’ ถ่ายทอด DNA ‘หมาล่าเนื้อ’ ถึงคราวโจรเมืองกรุงสะท้าน

ต้องชมวิสัยทัศน์ ‘บิ๊กต่อ’ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.คนที่ 14 มุ่งสร้างองค์กรตำรวจให้เป็นองค์กรปราบปรามอาชญากรรมและบังคับใช้กฎหมายในระดับมาตรฐานสากลที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา

ภายใต้ค่านิยมหลักคือ “พิทักษ์ราษฎร์ ปราบภัย รับใช้ประชาชน”

ในสภาวะโลกยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการทำธุรกรรมของคนในสังคมผ่านหน้าจอมือถือ ผู้คนมีสะดวกสบาย ประหยัดเวลา

แต่ขณะเดียวกันผู้ร้ายก็ได้พัฒนาเป็นโจรไซเบอร์ ทำให้ต้องประสบปัญหาด้านการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีหลายรูปแบควบคู่กันไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้น เพื่อให้พัฒนาทันเล่ห์กลโจร ตำรวจนักสืบสวนต้องปรับตัวและจะต้องมีทักษะความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการค้นข้อมูลต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา

“บิ๊กต่อ” จึงมีบัญชาการกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการสืบสวนคดีอาญา ขั้นพิเศษ หรือ TOP G ของกองบังคับการสืบสวนสอบสวน (บก.สส) ขึ้นมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจสืบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนเกิดความศรัทธาและเชื่อมั่นต่อองค์กรตำรวจ

ถ้าจำกันได้ สมัย ‘บิ๊กปั๊ด’ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.คนที่ 12 เคยมีหลักสูตรนับสืบรุ่นพิเศษ 5 G

“TOP G” ต่างจาก “5 G ” คือ มุ่งเน้นเทคโนโลยีการสื่อสารสนเทศ แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมวิถีการสอบสวนแบบเก่า หากพื้นที่ที่ห่างไกลและไร้เทคโนโลยี คนร้ายก็จะไม่ได้ใช้เครื่องมือสื่อสารในการหลบหนี ฉะนั้น ต้องกลับไปสู่วิถี Back to basic คือการกลับไปใช้นักสืบเดินดินรุ่นเก่า มีเทคนิคการสืบสวนฝังตัว ปลอมตัว เฝ้าจุด สะกดรอย ในการเก็บข้อมูล เฝ้าติดตามและหาข้อมูลจากแหล่งข่าวต่างๆ

นั่นคือ ผบ.ตร.อยากให้นำแนวคิดการสืบสวนสมัยใหม่และสมัยเก่ารวมอยู่ด้วยกัน

โดยข้าราชการตำรวจที่เข้ารับการฝึกอบรม เป็นระดับรองสารวัตรหรือเทียบเท่าชั้นยศ “ร.ต.ท.-ร.ต.อ.” ที่มีคุณสมบัติจำนวน 30 คน เข้ารับการฝึกอบรมนาน 20 สัปดาห์

ผู้เข้าอบรมต้องตื่น 06.00 น. เลิกเที่ยงคืน ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ห้ามลา ห้ามป่วย ห้ามขาด

เน้นว่าต้องเอา ผกก. รอง ผกก. มาควบคุมการฝึก

วิธีการคัดเลือกคือ ตั้งคณะทำงานขึ้นมาสัมภาษณ์ทั้ง 30 คน อบรมครบ 5 เดือน พร้อมลงมือทำงานทันที

วิทยากร จะเป็นบรมครูแห่งวงการนักสืบ ถ่ายทอดวิทยายุทธ์ อาทิ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข, พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี อดีตรอง ผบช.สตม., พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน อดีตรอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ อดีต ผบช.น., พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ อดีต ผบช.ภ.9 และ พล.ต.ท.ศรกฤษณ์ แก้วผลึก อดีตรอง ผบช.ศ. เป็นต้น และมีกูรูระดับท็อปของประเทศลงมาสอนถ่ายทอดดีเอ็นเอ “นับสืบ” แบบเข้มข้น

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตร บอกว่าจะเน้น

1. ปลูกฝังคุณธรรม จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อุทิศตนในการปฏิบัติงานเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

2. นักสืบในฐานะนักล่าโจร หรืออาชญากร ถ้าสืบไม่รู้ว่าใครคนร้ายไม่หยุด จะตามล่าจนกว่าจะจับได้ แม้หนีไปในนรกก็จะตาม เรียกว่า สัญชาตญาณ “หมาล่าเนื้อ”

นอกจากนี้ จะนำวิธีการสืบสวนหลักสูตรเอฟบีไอโดยเชิญผู้ที่ผ่านการอบรมมาให้ความรู้ มาปรับใช้กับกฎหมายไทย มั่นใจว่าจากนี้ไปอีก 5 เดือนโจรเมืองกรุงสะท้านแน่

 

ผู้เข้าอบรมหลักสูตร “TOP G” ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากห้องเรียนให้ฟังว่า

ร.ต.อ.กฤษฎา ศรีณวัฒน์ รอง สว. (สอบสวน) สน.บุคคโล เล่าว่า ก่อนได้รับคัดเลือกเข้าอบรมหลักสูตรเหมือนเข้าไปสู่โลกใบใหม่ โลกที่เต็มไปด้วยความรู้ ประสบการณ์

“อยู่งานสอบสวนในนครบาลมา 6 ปี เมื่อว่างเว้นจากงานสอบสวนจะไปนั่งอยู่ห้องสืบ สน. คอยซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปด้วยเวลาพี่ในห้องสืบออกไปหาข่าว หางาน รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ออกจับผู้ต้องหา มีอาจารย์คอยสอนความรู้เกี่ยวกับงานสืบ ตั้งแต่ระดับ ส.ต.ท.จนถึงระดับสารวัตร หลังจากนี้ลองใช้ความรู้งานสืบสวนมาใช้ควบคู่กับการทำสำนวนการสอบสวนในการแสวงหาพยานหลักฐาน” รองสารวัตรกล่าว

ร.ต.ท.จักราช ธนวชิรากร รอง สว. (สอบสวน) สน.ประเวศ เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า เหมือนได้เปิดโลกมากขึ้นหลายอย่างที่ไม่เคยสัมผัส ได้ทั้งประสบการณ์และความรู้จากพี่ๆ ผู้บังคับบัญชาทุกๆ ท่านที่มาสั่งสอนงานสืบสวน

สัปดาห์แรกที่เรียนรู้วิธีการสืบสวนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากการที่คณะอาจารย์มาสอนทำให้มีความเข้าใจงานสืบสวนมากขึ้น

สัปดาห์ที่ 2 เรียนรู้การวางแผนในการสืบสวน การใช้โปรแกรมต่างๆ ที่ช่วยทำงานจัดการความคิดใหม่ว่านักสืบนั้นไม่เพียงแต่จบที่การจับกุม ต้องดำเนินคดีจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

สัปดาห์ที่ 3 มีโอกาสได้ไปฝึกอบรมที่ค่ายนเรศวร สิ่งที่ตระหนักรู้คือการทำงานอะไรสักอย่างต้องมีความสามัคคี

ต่อมาสัปดาห์ที่ 4 เรียนรู้การค้นหาเป้าหมายจากสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องมือพิเศษที่ช่วยการทำงานสืบสวนให้มากยิ่งขึ้น สุดท้ายนี้จากทั้งหมดที่เรียนรู้มาตระหนักได้ว่านักสืบในยุคสมัยนี้ต้องก้าวให้ทันโลก ต้องรู้จักว่าสิ่งพึงกระทำและสิ่งที่สำคัญคือการได้ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน

“ประทับใจ ‘อ.ปั๊ด’ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ที่ว่า ‘ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง แต่อยู่ระหว่างทาง’ ระหว่างทางในการทำคดีใดคดีหนึ่ง สิ่งที่สำคัญคือคนในทีม เพื่อนร่วมงาน การทำงานเป็นทีมแล้วสามารถทำให้ไขปมไปได้เรื่อยๆ จนคดีสำเร็จ อีกสิ่งที่ชอบคือต้องเรียนรู้การอยู่ในกฎของธรรมชาติและกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นให้ได้เรียนรู้ว่าโลกมันไม่ยุติธรรม และสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ” ร.ต.ท.จักราชบอก

ร.ต.อ.ธนภูมิ ริมฝาย รอง สว. (สอบสวน) สน.บางเขน แชร์ประสบการณ์ว่า ได้รับฟังการถ่ายทอดจากยอดนักสืบโดยเฉพาะ พล.ต.ต.ธีรเดช ที่กระตุกจิตกระชากใจว่า “นักสืบที่ดีต้องมีสัญชาตญาณของหมาล่าเนื้อ เมื่อเจอโจร ต้องกัดไม่ปล่อย” ทำให้มุมมองและแนวทางการเป็นนักสืบในตัวเกิดขึ้น อยากจะเป็นยอดนักสืบให้ได้อย่างพี่ๆ ทุกคนและสืบสานตำนาน 30 ยอดนักสืบต่อไป

ต้นเดือนสิงหาคม 30 นักสืบจบหลักสูตร ติดตามผลงานว่า โจรเมืองกรุงสะท้าน จริงหรือไม่