พื้นฐาน สังคม ก่อน สุจิตต์ วงษ์เทศ คืนสู่ สยามรัฐ

บทความพิเศษ

 

พื้นฐาน สังคม

ก่อน สุจิตต์ วงษ์เทศ

คืนสู่ สยามรัฐ

 

นอกเหนือจากการเข้าประจำทำงานที่หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” รายวันอันเป็นที่ทำงานก่อนเดินทางไป เมด อิน U.S.A. ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ แล้ว

จำเป็นต้องให้ความสนใจไปยัง “ภววิสัย” สำคัญในทาง “ความคิด”

ดังที่ได้ประมวลมาจากที่ได้มีการจดจารบันทึกเอาไว้ผ่านหนังสือ “วีรชนหาญกล้า” ของศูนย์เอกสารและสิ่งพิมพ์ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ “ศนท.”

แม้จะอยู่ในบรรยากาศแห่ง “รัฐประหาร” และอยู่ในความยึดครองของอำนาจภายใต้นายกรัฐมนตรีชื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร

เหมือนกับสถานการณ์จะถูกตรึง “หยุดนิ่ง” ไม่มีความเคลื่อนไหว

แต่ในความเป็นจริงการเคลื่อนไหวผ่าน “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ได้ส่งผ่านจากยุคของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เข้าสู่ยุค สุชาติ สวัสดิ์ศรี

ขณะเดียวกัน บรรดานักศึกษาปัญญาชนก็เริ่มออกสู่สนามที่เป็นจริง

มีความจำเป็นอย่างเป็นพิเศษที่จะต้อง “โฟกัส” ไปยังบทบาทและการเคลื่อนไหวของ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” อย่างเป็นพิเศษ

หากอ่านจากข้อมูลของ ประจักษ์ ก้องกีรติ แล้วก็จะเข้าใจ

 

วรรณกรรม เพื่อชีวิต

จุดไฟ ความคิด ปัญญา

นิตยสาร “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ของนักศึกษาปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันในนาม “กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต”

ส่วนใหญ่มาจาก “พระจันทร์เสี้ยว” และ “กลุ่มกิจกรรม” ในมหาวิทยาลัย

เช่น กมล กมลตระกูล ธัญญา ชุนชฎาธาร พิชิต จงสถิตย์วัฒนา ปรีดี บุญซื่อ จากธรรมศาสตร์

พิรุณ ฉัตรวณิชกุล จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บุญส่ง ชเลธร วิสา คัญทัพ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

รวมทั้งปัญญาชนรุ่นแก่กว่าอย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี นพพร สุวรรณพานิช สุวัฒน์ วรดิลก

อย่างไรก็ดี นิตยสารฉบับนี้ก็มีปัญหาเดียวกับ “ลอมฟาง” ที่ไม่อาจขออนุญาตออกหนังสือใหม่จากเจ้าพนักงานการพิมพ์ได้ ทำให้ในระยะแรก (ฉบับแรกออกเดือนมิถุนายน 2515) ก็ต้องเปลี่ยนชื่อหนังสือไปเรื่อยๆ

ภายใต้ชื่อหลัก หนังสือรวมข้อเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตจากฉบับแกร่ง ขรึมและคิด

 

หลากหลาย ความคิด

ของนิสิต นักศึกษา

แนวทางวรรณกรรมที่นำเสนอในนิตยสาร “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” มีความหลากหลาย ทั้งๆ ที่เป็นงานเขียนแนวสังคมนิยม หรือเพื่อชีวิตของนักเขียนไทยจากยุค 2490

งานเขียน “ซ้ายใหม่” หรือพวกขบวนการฮิปปี้

(โดยเฉพาะคอลัมน์เพลงเพื่อชีวิตที่มักจะแนะนำงานของนักร้องอย่าง จอห์น เลนนอน บ็อบ ดีแลน ฯลฯ)

และผลงานของนักเขียนในค่ายสังคมนิยมอย่าง หลู่ซิ่น แมกซิม กอร์กี้

ลักษณะที่มีการผสมกันของแนวความคิดหลากหลายในนิตยสารนี้เป็นสิ่งที่จะพบในนิตยสารของปัญญาชนทุกฉบับ รวมทั้งในสิ่งพิมพ์ของนักศึกษา

บทบาทของนิตยสารปัญญาชนในยุคเผด็จการจึงทำหน้าที่เป็น “ชุมทางวาทกรรม” คือ เปิดกว้างให้แนวคิดจากหลายกระแสหลากอุดมการณ์มารวมอยู่ด้วยกันโดยมีเป้าหมายร่วมอยู่ที่การกระตุ้นการแสดงความคิดเห็น

ดังนั้น แทนที่จะมุ่งสรุปชี้ชัดให้ได้ว่านิตยสารแต่ละฉบับนำเสนอแนวความคิดแบบใดเป็นหลักดังที่มักจะกระทำกันในการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิด

หากอ่าน “บทขึ้นต้น” ในวรรณกรรมเพื่อชีวิต “แกร่ง” ก็จะสัมผัสได้ในร่องรอย

 

กระจก สะท้อน

วรรณกรรม สังคม

ความจริง สิ่งหนึ่งในวรรณคดีหรือวรรณกรรมที่เห็นจะปฏิเสธไม่ได้ คือ วรรณกรรมเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพของสังคมและเป็นดัชนีชี้ทางระดับของจิตใจ การยึดถือคุณค่าทางสังคม ความเป็นไปทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและระดับการศึกษาได้อย่างดี

ความจริงที่อยู่เหนือความจริงนี้อีกทีหนึ่ง นั่นก็คือ

กระจกเงาเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความประณีต ละเมียดละไม พร้อมทั้งแฝงความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไว้ภายในอย่างลึกซึ้งให้ตรงเป้าหมาย

กลุ่มทางสังคมที่มีโอกาสใช้กระจกเงามักเป็นกลุ่มสังคมชั้นสูง

วรรณกรรมของกลุ่มสังคมใดก็ย่อมเป็นกระจกเงาและรับใช้กลุ่มสังคมนั้น (ไม่ใช่สังคมโดยส่วนรวม)

วรรณกรรมไทยในยุคต้นของประวัติศาสตร์โดยส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในพระมหาราชวัง เรื่องแสนยานุภาพ อำนาจบารมี ความรักชาติและความแกร่งกร้าวทางสังคม

ภายหลังการสิ้นสุดของอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์วรรณกรรมเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในกลุ่มสังคมของสามัญชนมากขึ้น

เรื่องกึ่งเทพนิยาย กึ่งฝันกึ่งจริงค่อยเลือนหายไป

การแสดงออกที่สะท้อนให้เห็นถึงการเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมเริ่มเข้ามาแทนที่

เมื่อชนชั้นทาสเกษตรกรและคนงานมีโอกาสเปิดใจเปิดปากบ้าง สุ้มเสียงก็ผิดเพี้ยนไปจากความเคยชินดั้งเดิม เสียงของกลุ่มสังคมที่จนยากย่อมแห้งผาก แหบระโหย กลุ่มสังคมผู้ปกครองย่อมจะทนเห็นความขมขื่นอยู่ตำหูตำตาคงไม่ได้

ทางออกคือความยุติธรรม ความเสมอภาคและให้กินอิ่มจะได้นอนหลับสบาย

อีกทางหนึ่ง คือ กำจัดเสีย เมื่อทนอยู่ไม่ได้ก็อย่าอยู่เสียเลย

 

วรรณกรรม การเมือง

ผูกขาด และตัดตอน

กลุ่มสังคมผู้ปกครองของไทยมักไม่ทิ้งเชื้อสายนักรบผู้กล้าหาญจึงถนัดดำเนินวิธีประการหลังอย่างได้ผล

วรรณกรรมของชนชั้นสามัญจึงพลอยถูกทำลายและขาดตอนไปสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้

เป็นที่น่าพิจารณาว่าแนวโน้มของวรรณกรรมต่างๆ อยู่ในสถานะใด

บรรดาผู้มีส่วนสร้างสรรค์วรรณกรรมนั้นมีความพยายามเพียงใดที่จะยกวรรณกรรมขึ้นไว้เป็นสื่อของการรับใช้สังคม หรือได้พากันใช้เป็นสื่อในการเหยียบย่ำสังคมให้ต่ำทรามลง

การหาคำตอบนี้จะนำไปสู่ผลสรุปเช่นใด ถ้าท่านพบว่าหลังจากหยิบหนังสือรายสัปดาห์ขึ้นมาเล่มหนึ่งแล้วเปิดไปทีละหน้า

ระหว่างหน้าต่อหน้าและบรรทัดต่อบรรทัดนั้นมีแต่เสียงปืนที่ดังกึกก้อง กลิ่นคาวเลือดคลอเคล้ากับรอยจูบและน้ำกามที่เปรอะเปื้อนสาดกระจายเนืองนองไปทั่ว เรื่องราวเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมทั้งจากผู้ประพันธ์และผู้ประกอบการ

ให้เป็นส่วนที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในรสนิยมและจิตสำนึกของผู้อ่านจำนวนหลายล้านคนอย่างน่าห่วงใย

ความรับผิดชอบดูจะเป็นสิ่งเดียวที่พอจะยืนยันว่าคนยังเป็นคนที่สมบูรณ์หรือไม่ ยิ่งเฉพาะบุคคลที่มีผลงานสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของบุคคลอื่นมากๆ ย่อมจะต้องมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น

จึงมีผู้เห็นว่าวรรณกรรมไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวีไม่ควรมีความหมายมันเป็นเรื่องอ่านเล่นหรือเรื่องเริงอารมณ์เท่านั้น และไม่คำนึงว่าความบันเทิงเริงรมย์นั้นจะเป็นการฉุดกระชากชีวิตให้ลงไปเกลือกกลั้วกับความต่ำทรามหรือไม่

แต่แท้จริงวรรณกรรมควรจะมีอยู่เพื่อรับใช้ชีวิต และชีวิตที่มันจะรับใช้นั้นก็จะต้องเป็นชีวิตของมหาชน ทั้งการรับใช้ของมันก็จะต้องเป็นการรับใช้ในแนวทางที่สร้างเสริมคุณงามความดีให้แก่ชีวิต

 

บ่มเพาะ ความคิด

สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทขึ้นต้นของนิตยสาร “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ฉบับ “แกร่ง” นี้เขียนโดย พิรุณ ฉัตรวณิชกุล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป็น “อารมณ์” อย่างเดียวกันกับที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ สัมผัสที่อิทะกะ

ไม่ว่าเมื่อรับฟังการบรรยายถึงการบุกเบิกงานด้าน “บัลเล่ต์” ยุคใหม่ของจีน ไม่ว่าเมื่อเห็นความซาบซึ้งประทับใจที่ศิลปินหน้าพระลานคนหนึ่งวาดพรรณนาถึงความยอดเยี่ยมของประติมากรรมชาวนา

นี่คือ “สภาพการณ์” อันเกิดขึ้นในห้วงที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ นิราศร้างห่างไกลไปจากวงวรรณกรรมไทย

และได้รับรู้ขณะเข้าประจำทำงานที่ “สยามรัฐ” ริมถนนราชดำเนินอีกคำรบหนึ่ง