ทำไมการเลือกตั้งทั่วไป ถึงเป็น ‘สิ่งไร้ประวัติศาสตร์’ (2)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

มิติหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในสยามมีลักษณะก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ได้แก่ การที่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีอย่างเท่าเทียมกับบุรุษ ด้วยการไม่ระบุในคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามทั้งหลายที่เกี่ยวกับเพศ หรือการถือครองทรัพย์สินแต่ประการใด

จึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้สตรีได้ใช้สิทธินี้เช่นเดียวกับชาย

นั่นเองที่ทำให้ในการรับสมัครเลือกตั้งครั้งแรกนี้มีสตรีสมัครเข้าร่วมการแข่งขันด้วยในระดับตำบลอย่างน้อย 13 คน

รายแรกคือ บุญหลง มณีโชติ มีอายุน้อยที่สุด เติบโตในครอบครัวคนชั้นกลาง บิดาเป็นทนายความและคหบดีมีชื่อในพื้นที่

บุญหลงเป็นครูโรงเรียนประชาบาลและเคยรับผิดชอบการจัดละครการกุศล เพื่อหาเงินสร้างถนนคอนกรีตให้แก่อำเภอ

เมื่อนักข่าวถามถึงเหตุผลที่ทำให้สมัคร บุญหลงตอบว่า “เพราะดิฉันเห็นพ้องในรัฐธรรมนูญ เปนประโยชน์แก่ผู้อื่นเหลือเกิน” (หน้า 146) เป็นสตรีในจังหวัดพระนคร 4 คนและธนบุรี 2 คน ที่เหลือในต่างจังหวัด

ส่วนมากมีการศึกษาและมีอาชีพแน่นอน ครอบครัวก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย

เช่น นางสุทธิสารวินิจฉัย เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมาเรียลัย เป็นธิดาของขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีกรมอัยการคนแรก เป็นต้น

การรับสมัครผู้แทนตำบลทั่วประเทศสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2476 อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นเขตเลือกตั้งที่ได้คนสมัครสูงสุดคือ 24 ราย

ผู้สมัครที่อาวุโสสุดคือ ขุนควรคณาเขตต์ แห่ง ต.นาชุมเห็ด จ.ตรัง ในวัย 70 ปี

และที่เด็กสุดคือบุญหลง มณีโชติ แห่ง ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ในวัย 23 ปี

ส่วนผู้สมัครที่ครองบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ชั้นพระยาขึ้นไปมีอยู่อย่างน้อย 5 ราย แต่หลักฐานที่ไม่สมบูรณ์จึงไม่อาจได้ข้อมูลในอีกหลายจังหวัด

ดังนั้น จึงยังไม่อาจทราบว่าจำนวนคนสมัครเป็นผู้แทนตำบลเท่าไร หลักฐานที่เหลือมักให้แต่ชื่อของผู้ได้รับการเลือกตั้ง

หากพิจารณายอดรวมผู้แทนตำบล ซึ่งมีถึง 4,782 ราย จากจำนวนตำบลทั่วประเทศ 4,902 ตำบล พอจะอนุมานได้ว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งเกือบครบทุกตำบล อย่างน้อยตำบลละ 1 คน เหลือแค่ 120 ตำบลหรือร้อยละ 2.45 เท่านั้นที่ไร้คนลงสมัคร

ในส่วนของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนรวม 600 คน พระนครมีผู้สมัครมากที่สุดคือ 34 คน ตามมาด้วยพระนครศรีอยุธยากับอุบลราชธานี อัตราการแข่งขันเฉลี่ยอยู่ที่ 1:7.64

เขตเลือกตั้งที่มีอัตราการแข่งขันสูงสุด 2 อันดับแรกคือพระนครศรีอยุธยา (1 ต่อ 23) และเพชรบุรี (1 ต่อ 18) ส่วนจังหวัดที่มีผู้สมัครรายเดียวเหลือเพียง 3 จังหวัดคือ กำแพงเพชร สกลนคร และสตูล

ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรที่มีอายุมากสุดคือหลวงวัฒนคดี ทนายความวัย 63 ปี (พังงา)

ส่วนที่อายุน้อยที่สุดคือ เลมียด หงสประภาส หนุ่มชาวมุสลิมอายุ 23 ปี กำลังศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พระนครศรีอยุธยา)

ผู้สมัครที่ครองบรรดาศักดิ์มีราว 208 คน (ร้อยละ 35) กว่ากึ่งหนึ่งเป็นขุนกับหลวง ในเรื่องอาชีพด้านกฎหมายเป็นกลุ่มใหญ่สุด

รองลงมาคือข้าราชการบำนาญ สองกลุ่มอาชีพนี้เกือบครึ่งหนึ่งของผู้สมัครทั้งหมด

อาชีพอื่นๆ ที่มีได้แก่ พ่อค้า ข้าราชการประจำ ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร หมอ นิสิต ไปจนถึงนักข่าว ยังมีเชื้อพระวงศ์ 3 ราย และมีสตรีเพียง 2 รายเท่านั้น

น่าสนใจว่าสมาชิกคณะราษฎรเข้าลงแข่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ 5 คน เป็นพวกสายพลเรือนและอายุน้อยแต่ใกล้ชิดหลวงประดิษฐ์มนูธรรม สุดท้ายไม่ได้สักคน

คณะที่สนใจและเข้าแข่งรับเลือกตั้งอย่างเอาจริงเอาจังคือ คณะ ร.ศ.130 ไม่น้อยกว่า 10 คนเข้าสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือก 2 คนมากกว่าสายคณะราษฎรเอง

 

มองย้อนกลับไป ข้อที่ผมประหลาดใจอย่างมากได้แก่ ความกระตือรือร้นและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระดับที่สูงพอสมควร

หากคิดว่าก่อนหน้าการเลือกตั้งยังไม่มีการถ่ายทอดและโฆษณาเรื่องการเลือกตั้ง รวมถึงความหมายและความสำคัญต่อระบบการปกครองและรัฐบาล

ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องนามธรรมที่อยู่เหนือความรับรู้และการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของราษฎร

แน่นอนคงมีบทความในหนังสือพิมพ์สมัยโน้นที่ได้พูดถึงเรื่องระบบการปกครองประชาธิปไตยในประเทศอื่นทั่วโลกบ้าง

แต่ก็ยังเป็นความรู้ที่จำกัดและเผยแพร่เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งที่ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนแต่ยังบรรลุเป้าหมายแต่ละขั้นได้เป็นอย่างดี (ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งระดับตำบลร้อยละ 41.45) ต้องถือว่าเป็นความอัศจรรย์ของราษฎรไทยในการเลือกตั้ง

ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า ความล้มเหลวและปัญหาคอร์รัปชั่นและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลจากการเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 27 ครั้ง ที่มีการโยนความผิดให้แก่ประชาชนว่า “ขายเสียง ซื้อสิทธิ” เป็นต้นตอของความเลวร้ายของรัฐบาลเลือกตั้งนั้นเป็นอคติและโมหจริตโดยแท้

ปมเงื่อนของปัญหาระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง หากแต่อยู่ที่การทำลายและกีดขวางการดำเนินไปอย่างปกติของการเลือกตั้งที่ควรกระทำประจำและต่อเนื่อง

ไม่ใช่ตัดตอนดัดแปลงและใช้อิทธิพลครอบงำทั้งผู้ใช้สิทธิและผู้รับสมัครเลือกตั้งด้วยอำนาจทั้งในและนอกระบบ

 

หัวข้อที่ผมตั้งไว้ว่า ทำไมการเลือกตั้งถึงเป็นสิ่งไร้ “ประวัติศาสตร์” มาจากคำถามของ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ ที่สงสัยว่าทำไมถึงไม่มีการศึกษาการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกกันเลย ไม่ว่าจากนักประวัติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์

ว่าไปแล้วมีบทความเดียวของ อ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ 2 ตอนที่ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม (2531)

กระนั้นก็ตามก็ยังไม่มีการศึกษาเพิ่มเติมอีกเลย ทำให้ผู้เขียนมองว่าเป็นช่องโหว่ของความรู้ในเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่ไม่อาจปฏิเสธหมุดหมายและความสำคัญของมันได้เลย

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผู้เขียนถึงต้องลงมือทำการค้นคว้าด้วยตนเองในเล่มนี้

ผมมีคำตอบต่อ “ช่องโหว่” ของความรู้ในการเลือกตั้งไทยว่านอกจากขาดการศึกษาอย่างจริงจังจากนักวิชาการแล้ว ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การขาดแคลนหลักฐานชั้นต้นที่เข้าถึงได้ อีกปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกงานวิจัย คือการขาดแรงบันดาลใจในการศึกษาเรื่องนี้ และสภาพแวดล้อมทางการเมืองปัจจุบันไม่เอื้อต่อการกลับไปค้นคว้าการเลือกตั้งในอดีต ว่าทำไปเพื่ออะไร จะได้ประโยชน์อะไรจากการเรียนรู้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก

นี่เองที่ผมคิดว่าทำให้การเลือกตั้งทั้งหมดของไทย จากครั้งแรกถึงปัจจุบัน ถึงไร้ซึ่งความหมายทาง “ประวัติศาสตร์” เพราะมันขาดความต่อเนื่องและความเป็นสถาบันที่มีพัฒนาการมีกระบวนการอันแน่นอนที่สามารถค้นหากฎเกณฑ์และตรรกที่สามารถเข้าใจได้ด้วยความเป็นเหตุเป็นผล

ในความเป็นจริง การเลือกตั้งในประเทศไทยในรอบ 90 ปีมานี้ ถูกทำให้เป็นนาฏกรรมหรือลิเกที่แสดงโดยผู้ร่วมการแสดงทั้งหลาย ไม่ว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งต่างยอมรับว่าผลของการเลือกตั้งนั้นไม่เคย “บริสุทธิ์” และ “ยุติธรรม” (free and fair) เลย

มันมีแต่การใช้อำนาจและอิทธิพลของกลุ่มและฝ่ายต่างๆ ในการบิดเบือนและทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในปี 2566 เป็นตัวอย่างล่าสุดของการทำให้การเลือกตั้งเป็น “สิ่งไร้ประวัติศาสตร์” (ahistorical) เพราะมันไม่มีความหมายและไม่อาจสถาปนาความเป็นสถาบันของมันขึ้นมาได้

 

ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ ได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจอันหนึ่งต่อการที่ฝ่ายอนุรักษนิยมและคณะเจ้าที่ยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนดการเดิม หลังจากที่พระยามโนฯ ทำการ “รัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา” จากนั้นได้แก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้งให้เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายตน

เช่น เพิ่มอายุของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็น 23 แทนที่ฉบับก่อนหน้าที่ร่างโดยคณะราษฎรที่กำหนดเพียง 20 ปี และฝ่ายคณะเจ้าลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนฯ ลง นัยว่าเพื่อไม่ให้มาคานอำนาจของรัฐบาลได้

ผู้เขียนกล่าวตอนหนึ่งว่า “เนื่องจากเป้าหมายของเขา (พระยามโนฯ) ตลอดจนแนวร่วมหัวอนุรักษนิยมในคณะรัฐมนตรีนั้นไม่ได้อยู่ที่การขัดขวางการเลือกตั้ง ถ้าอธิบายตามตรง พวกเขาไม่รู้สึกหวั่นเกรง หรือต่อต้านการเลือกตั้ง แต่ปรารถนาให้ดำเนินไปภายใต้เงื่อนไขและกรอบกติกาที่ตนเห็นสมควร เพราะฉะนั้น เพื่อเตรียมการกลับสู่ภาวะปกติ รัฐบาลจึงรื้อระบบการเลือกตั้ง…แล้วยกร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉบับใหม่” (หน้า 82)

วรรคที่สำคัญคือ ฝ่ายอนุรักษนิยม “ปรารถนาให้ดำเนินไปภายใต้เงื่อนไขและกรอบกติกาที่ตนเห็นสมควร” ผมว่าวรรคนี้คือกุญแจของการกำกับและควบคุมการเมืองที่ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้มาตลอด 9 ทศวรรษ และพยายามที่จะใช้มันต่อไปในอนาคตอันยาวไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้

ดังที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ปวารณาไว้และจะสำแดงฤทธิ์ในเร็วๆ นี้ภายใต้การคัดสรรสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่เพื่อแทนที่ชุดเก่าที่มาด้วยอานิสงส์ของอำนาจรัฐประหาร อย่างไม่น่าเชื่อที่มีกติกาคล้ายกันราวกับร่างโดยคณะกรรมการเลือกตั้งเดียวกันในปี 2476

นั่นคือการเก็บค่าสมัครเข้ารับการเลือกตั้งที่สูงและแพงเหมือนกัน

สิ่งที่ดูเหมือนร่วมกันข้ามกาลเวลาคือความต้องการของผู้ร่างกฎหมายการเลือกตั้งที่ต้องการกีดกันและเลือกสรรแต่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่สมควรเข้ามาในระบบรัฐสภาได้

ดังนั้น การเลือกตั้งไทยจึงไร้ “ประวัติศาสตร์”