‘ไอ้หน้าเหลี่ยม’ และ ‘เปลี่ยน’ ชีวประวัติอีกหน้าของ ‘จาตุรนต์ เอมซ์บุตร’

หมุนเวียนกันไป

สัจธรรมก็คือเปลี่ยนไป

ไม่มีของใด คงได้ตลอด

ต้องสูญ ต้องเปลี่ยนรูปไป

เหมือนใจเรานี่

ที่ต้องเจอความรักเปลี่ยนไป

สุขได้ไม่นาน ต้องมีทุกข์แทรกไว้

ซ้อนไปอย่างนั้น

เพราะโลกใบนี้ แท้จริงก็ยังหมุน

จากร้อนไปเป็นเหน็บหนาว

เหมือนกับความรัก คงไม่มียืดยาว

นานไปเขาก็เปลี่ยน

เราถึงเจ็บ เจ็บที่ยังรักไม่เปลี่ยน

หมุนเวียนกันไป

สัจธรรมก็คือเปลี่ยนไป

ไม่เห็นมีใคร ไม่เป็นเหมือนอย่างนั้น

เนิ่นนานก็กลาย

เพราะโลกใบนี้ แท้จริงก็ยังหมุน

จากร้อนไปเป็นเหน็บหนาว

เหมือนกับความรัก คงไม่มียืดยาว

นานไปเขาก็เปลี่ยน

เราถึงเจ็บ เจ็บที่ยังรักไม่เปลี่ยน

เพลง “เปลี่ยน”

คำร้อง จาตุรนต์ เอมซ์บุตร ทำนอง ผดาสิทธิ์ จิยะจันทน์

“จาตุรนต์ เอมซ์บุตร” (2494-2567) โปรดิวเซอร์-นักแต่งเพลง-นักดนตรี-ครูดนตรีคนสำคัญของอุตสาหกรรม/ธุรกิจเพลงไทยสากลร่วมสมัยในยุคบุกเบิก เพิ่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 25 เมษายน

ท่ามกลางบรรยากาศรำลึกถึงคนดนตรีรายนี้ ดูเหมือนผลงานของจาตุรนต์ที่ติดอยู่ในความทรงจำของผู้คน มักจะเป็นบทเพลงแบบ “แกรมมี่ซาวด์” ในยุค 80-90 ที่เขารับหน้าที่เป็น “ผู้แต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรี”

กระนั้นก็ดี กลับมี “ผลงานสำคัญ” บางชิ้นของนักแต่งเพลงผู้ล่วงลับ ที่ถูกกล่าวถึงไม่มากนัก หรือกระทั่งแทบไม่ถูกอ้างถึงเลย ในห้วงเวลาแห่งการไว้อาลัยตลอดหลายวันที่ผ่านมา

บทความชิ้นนี้จึงอยากจะเขียนถึงบทเพลงสองเพลง ที่สาธารณชนจำนวนมากไม่ค่อยรับรู้ว่าเป็นผลงานของ “จาตุรนต์ เอมซ์บุตร”

ไอ้หน้าเหลี่ยม

“ไอ้หน้าเหลี่ยม” คือเพลงประท้วงขับไล่ “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร-ไทยรักไทย” ณ ปลายทศวรรษ 2540 ที่แพร่หลายอยู่ใน “ม็อบเสื้อเหลือง”

หากประเมินคุณค่าของ “เพลงประท้วง” เพลงนี้ในมิติด้านเนื้อหา ก็ต้องยอมรับว่าคำร้องของ “ไอ้หน้าเหลี่ยม” เต็มไปด้วยปัญหา-จุดอ่อน-อคติ

(โดยส่วนตัว ขอสารภาพว่าผมไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของเพลงนี้ตั้งแต่คราวได้ยินครั้งแรก และเมื่อมาลองฟังใหม่ในเดือนเมษายน 2567 ก็ยังไม่ค่อยชอบเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่เคยคิดว่า สถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้ง 2566 จะทำให้ตัวเองสามารถ “อิน” กับเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” ได้มากขึ้น)

แต่ถ้าประเมินในเชิงรูปแบบ-วิธีการนำเสนอ “ไอ้หน้าเหลี่ยม” กลับกลายเป็นผลงานทางการเมืองวัฒนธรรมที่น่าสนใจ

ทั้งในแง่การเป็น “เพลงประท้วง” ที่ถูกแต่งขึ้นใหม่เพื่อสะท้อนความคิด-ความรู้สึกของผู้คนบางกลุ่ม ณ ห้วงเวลานั้น มิใช่การหยิบยืม “เพลงการเมืองในยุคสมัยก่อนหน้า” มาใช้สอยในอีกบริบทการต่อสู้หนึ่ง

หรือในแง่แนวเพลง ซึ่งผู้แต่งพยายามผสมผสานเพลงป๊อป-เพลงแร็พสมัยใหม่ เข้ากับเพลงพื้นบ้าน อย่างเพลงฉ่อย-ลำตัด จนทำงานกับมวลชนวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน “ไอ้หน้าเหลี่ยม” ยังเซ็ตมาตรฐาน (และ/หรือเพดาน) ของ “ความหยาบคาย-มุขสองแง่สองง่าม” และ “การบูลลี่ตัวบุคคล” ซึ่งจะส่งอิทธิพลมายัง “วัฒนธรรมล้อการเมือง” ที่เกิดขึ้นตามม็อบต่างๆ (ทุกสีเสื้อ) ในช่วงทศวรรษ 2550-2560

(มีแค่ม็อบคนรุ่นใหม่ในครึ่งแรกของทศวรรษ 2560 ที่พยายามก้าวข้ามมาตรฐานดังกล่าวอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี “มีมการเมือง” จำนวนไม่น้อยในโลกออนไลน์ปัจจุบัน ยังคงรับมรดกตกทอดจากเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” มาอย่างเด่นชัด แม้จะเป็นมีมของคนที่นิยามตนเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ก็ตาม)

 

คําถามถัดมา ก็คือ
ใครเป็นผู้แต่งเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม”?

ดูเหมือนคำตอบนี้แทบจะไม่เคยปรากฏชัดในการรับรู้ของสาธารณชน

หลักฐานลายลักษณ์อักษรร่วมสมัยเพียงชิ้นเดียวที่ให้คำตอบต่อประเด็นข้างต้น คือ บทความชื่อ “บุตรชายของนายเอม” ซึ่งเขียนโดย “อัญชลี ไพรีรักษ์” (ชื่อ-นามสกุล ณ ขณะนั้น) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 15 เมษายน 2549

บทความชิ้นดังกล่าวได้บ่งชี้เป็นนัยว่า “บุตรชายของนายเอม” ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้แต่งเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” น่าจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากนักแต่งเพลงชื่อดังอย่าง “จาตุรนต์ เอมซ์บุตร”

(สามารถอ่านรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่บทความ “บุตรชายของนายเอม” “สุรักษ์” และ “ทักษิณ” ที่ผมเขียนไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 8-14 เมษายน 2565)

อย่างไรก็ตาม ผมเพิ่งมาค้นพบหลักฐานสำคัญอีกชิ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ระหว่างคลิกเข้าไปฟังเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” รอบล่าสุด ผ่านคลิปที่ใช้ชื่อว่า “ไอ้หน้าเหลี่ยม ต้นฉบับ” จากช่องยูทูบ “TheLingUnion”

โดยในช่วงเริ่มต้นเพลง คลิปที่ผมอ้างถึงได้ขึ้นเครดิตอย่างชัดเจนว่าเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” เป็นผลงานของ “สุวรนต์”

 

คําถามต่อไปจึงมีอยู่ว่า
แล้ว “สุวรนต์” คือใคร?

เมื่อเสิร์ชหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เราก็จะพบเพจเฟซบุ๊กชื่อ “สุวรนต์ สตูดิโอ – Suaron Studio” ซึ่งมีคำอธิบายตัวตนของเพจว่า เป็นพื้นที่รวบรวม “บทเพลง, รูปภาพ และเรื่องสั้น สร้างสรรค์โดย สุวนิตย์ ชลศึกษ์ และ จาตุรนต์ เอมซ์บุตร”

ตัวตนของเพจ “สุวรนต์ สตูดิโอ” จึงเป็นหลักฐานชิ้นแรกสุดที่ระบุอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาว่า “จาตุรนต์ เอมซ์บุตร” คือหนึ่งในผู้แต่งเพลงประท้วง “ไอ้หน้าเหลี่ยม”

และเขาน่าจะเป็นองค์ประกอบหลักสำคัญของความเป็น “สุวรนต์” ด้วย ดังที่เพจเฟซบุ๊ก “จาตุรนต์ เอมซ์บุตร – DemocraZy” ได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 28 เมษายน ว่า “สุวรนต์ สตูดิโอ ได้ปิดตัวลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับจากวินาทีที่สิ้นลมหายใจของ คุณจาตุรนต์ เอมซ์บุตร”

สำหรับ “สุวนิตย์ ชลศึกษ์” ที่เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ “สุวรนต์ สตูดิโอ” เคยมีเครดิตร่วมแต่งเพลงกับจาตุรนต์อยู่ไม่น้อย โดยเธอมักรับหน้าที่เขียนคำร้อง ขณะที่ฝ่ายหลังแต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรี

ทั้งนี้ ในโพสต์หัวข้อ “แด่พี่ตั๋ม” (ชื่อเล่นของจาตุรนต์) ที่เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “จาตุรนต์ เอมซ์บุตร – DemocraZy” ซึ่งเขียนขึ้นโดยสุวนิตย์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ยังได้ขยายความเพิ่มเติมด้วยว่า “สุวรนต์ สตูดิโอ” นั้นถูกก่อตั้งโดย “จาตุรนต์และภรรยา”

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือเห็นต่างกับเนื้อหาของเพลง สังคมไทยควรบันทึกบทเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” เอาไว้ในชีวประวัติทางดนตรีอีกหน้าหนึ่งของจาตุรนต์ โดยไม่อาจปิดบังอำพรางหรือแสร้งไม่พูดถึง

 

เปลี่ยน

ขออนุญาตกล่าวถึงผลงานอีกชิ้นของ “จาตุรนต์ เอมซ์บุตร” อย่างสั้นๆ

ชีวิตคนเบื้องหลังของจาตุรนต์มิได้ปักหลักกับค่ายแกรมมี่อย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่มีขาดตอน ก่อนจะปลีกตัวออกมาทำงานในนาม “สุวรนต์ สตูดิโอ”

ทว่า ตอนปลายทศวรรษ 2530 ที่กระแสดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ-ค่ายเพลงอินดี้กำลังเบ่งบานในเมืองไทย จาตุรนต์และเพื่อนมิตรจำนวนหนึ่งก็เคยแยกทางกับแกรมมี่อยู่ระยะสั้นๆ เพื่อไปทำค่ายเพลงอิสระชื่อ “เอวี สตูดิโอ”

เป็นช่วงเวลานี้นี่เอง ที่โปรดิวเซอร์-คนแต่งทำนองและเรียบเรียงดนตรีฝีมือเลิศอย่างจาตุรนต์ ได้มีโอกาสลงมือเขียนคำร้องให้เพลงดีๆ จำนวนหนึ่ง

หนึ่งในผลงานการเขียนคำร้องของจาตุรนต์ที่ผมประทับใจมาก ก็คือ คำร้องที่เขาฝากเอาไว้ในเพลง “เปลี่ยน” ซึ่งขับร้องครั้งแรกโดย “โรเบิร์ต พรอง ออลเดรซ” (โรเบิร์ต แบดบอย) แต่มาเป็นที่รู้จักวงกว้างมากขึ้นผ่านเสียงร้องของ “คณาคำ อภิรดี”

นี่คือคำร้องที่เรียบง่าย แต่แหลมคมลึกซึ้ง จะฟังเป็นเพลงรักธรรมดาๆ ก็ได้ จะนับเป็นเพลงให้แง่คิดสอนใจในการดำเนินชีวิตก็ดี

หรือจะฟังให้เป็น “เพลงการเมือง” ก็พอได้อยู่