เทรนด์ใหม่ญี่ปุ่น : เพิ่งเข้าทำงานก็ลาออกเสียแล้ว

(Photo by Richard A. Brooks / AFP)

1เมษายน วันแรกของการทำงานของพนักงานเข้าใหม่ของบริษัทในญี่ปุ่น (新入社員) แต่ละคนย่อมต้องตื่นเต้นกับชีวิตพนักงาน (salaryman) สถานที่ทำงาน เพื่อนร่วมงาน ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะได้เรียนรู้ต่อจากนี้ไป

คนรุ่นเบบี้บูม เมื่อเข้าทำงานที่บริษัทใดแล้ว ก็จะอุทิศทั้งชีวิตให้การทำงานเพื่อบริษัท ตั้งใจและอดทนทำงานที่เดียวตลอดไปจนเกษียณ ไม่ค่อยมีลาออกกลางคัน เพราะถ้าลาออกก็จะหางานใหม่ได้ไม่ง่ายเลย เพราะทุกบริษัทเป็นการจ้างงานตลอดชีพ (終身雇用) ไม่มีคนออกก็ไม่รับคนเข้ากลางคัน

แต่ปัจจุบัน ทุกอย่างเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ วัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ ไม่เข้ากับคนหนุ่มสาวปัจจุบันเสียแล้ว

กว่าจะได้เข้าทำงาน นักศึกษาญี่ปุ่นต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปี 3 (อ่าน สุภา ปัทมานันท์ “ไนเท (内定) เมื่อนักศึกษาญี่ปุ่นได้งานทำ” มติชนสุดสัปดาห์ 19 เมษายน 2567) แต่เมื่อเข้าทำงานแล้ว ไม่นานก็ลาออก

จากการสำรวจในปีนี้ มีเรื่องที่น่าตกใจคือ มีไม่น้อยที่เพิ่งเข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 เดือนเมษายน ได้เพียงวันเดียวก็ยื่นใบลาออกเสียแล้ว

ในโลกออนไลน์มีหัวข้อสนทนาบ่นไม่ถูกใจที่ทำงานหนาตามาก ในขณะที่บริษัทต่างๆ พากันประสบปัญหา รับสมัครพนักงานได้ไม่พออย่างต่อเนื่อง

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

 

พนักงานเข้าใหม่บอกว่า

เนื้อหางานต่างไปจากที่เคยเข้าใจ รู้สึกหวั่นใจ ไม่แน่ใจ

รับสมัครเราเข้ามาเป็นพนักงานประจำ แต่กลับให้ทำงานแบบพนักงานชั่วคราว

ก่อนรับเข้าทำงาน บริษัทบอกว่าทรงผม และแต่งตัวตามสบายได้ แต่กลับถูกปฏิเสธไม่ให้เข้า

ร่วมพิธีต้อนรับพนักงานใหม่ เพราะทำสีผม อย่างนี้ใช้ได้หรือ?

แม้ว่าเหตุผลส่วนใหญ่คือ เนื้อหางานไม่ตรงกับที่เคยคุยกันไว้ นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ถูกหัวหน้างานใช้อำนาจบาตรใหญ่ (パワハラ) และดุด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายเกินจะรับได้ บางคนบ่นว่ามาถึงบริษัทก่อนเข้างาน 30 นาที ก็ยังถูกตำหนิว่า “มาช้า ต้องมาก่อนเวลา 1 ชั่วโมงสิ” นึกในใจว่าถ้ามาก่อนเวลาขนาดนั้น จะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นหรือเปล่า?

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลด้านบรรยากาศในที่ทำงาน รู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดโปร่งใจ ไม่มีแรงกระตุ้นให้อยากทำงาน แม้ว่าไม่มีอะไรติดขัดเกี่ยวกับหัวหน้างานก็ตาม

 

จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน (厚生労働省) พบว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันจำนวนพนักงานเข้าใหม่ ทำงานไม่นานก็ลาออก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ในเดือนมีนาคม 2020 พนักงานที่ทำงานไม่เกิน 3 ปี แล้วลาออกมี 32.3% เปรียบเทียบย้อนหลังไป 10 ปี ก็ไม่ได้แตกต่างมากนัก กล่าวคือ ทุกๆ 10 คน จะมีคนลาออกเกิน 3 คนเล็กน้อย

เมื่อสำรวจเดือนมีนาคม 2021 พนักงานที่ทำงานไม่เกิน 2 ปี แล้วลาออกมี 24.5% เป็นจำนวนสูงสูดเมื่อเปรียบเทียบย้อนหลัง 10 ปี เห็นภาพการไหลออกจากระบบการทำงานที่เข้มงวดในอดีตของญี่ปุ่นได้ชัดเจนขึ้น

ส่วนคนที่ลาออกเมื่อทำงานไม่ครบ 1 ปี สถิติปี 2022 มีประมาณ 12%

 

จากผลสำรวจในปี 2022 และปี 2023 คนหนุ่มสาววัย 20 ปี ที่มีประสบการณ์เคยเปลี่ยนงานแล้ว 800 คน ถึงเหตุผลที่ลาออก อันดับหนึ่งของทั้ง 2 ปี คือ “เงินเดือนน้อย ไม่เห็นอนาคตว่าจะได้ขึ้นเงินเดือน” 35.2% อันดับสองคือ “ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน” 25.9% ข้อนี้ขยับจากอันดับ 8 ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 เลย อันดับ 3 คือ “สภาพการทำงานไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ” 23.5% น่าสนใจมากที่เหตุผลข้อนี้พุ่งจากที่เคยเป็นอันดับ 14 ขึ้นมาทีเดียว ส่วนอันดับ 4 ก็พุ่งขึ้นมาจากอันดับ 16 คือ “มีงานอื่นที่น่าสนใจและอยากทำ” 23%

ในทางกลับกัน ปี 2022 พนักงานที่ลาออกเพราะกังวลใจเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และความมั่นคงของสายงาน กลายเป็นเหตุผลลำดับท้ายๆ ในปี 2023 ไปเสียแล้ว

จากการระบาดของโควิด-19 หลายปี ทำให้รูปแบบของการทำงานเปลี่ยนไปเป็น WFH มากขึ้น ทำให้พนักงานเข้าใหม่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน จนรู้สึกไม่มั่นใจ สับสน ไม่รู้จะปรึกษาปัญหาในการทำงานกับใครดี เป็นต้น น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจ (อย่างหุนหัน) และลาออกโดยไม่อดทนแก้ปัญหา และไม่เสียเวลาคิดถึงความก้าวหน้าในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง คิดเพียงการเพิ่มคุณค่าของตัวเองด้วยตัวเองเพื่อความโดดเด่นในตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ จากการที่ตลาดแรงงานในญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว ทำให้คนที่เพิ่งเข้าทำงาน เมื่อไม่พอใจกับงานที่ทำอยู่ ก็ตัดสินใจลาออกได้ง่ายขึ้น เพราะรู้ว่าลาออกไปก็หางานใหม่ได้อีก ไม่จำเป็นต้องอดทนอย่างคนรุ่นพ่อแม่ในระบบจ้างงานตลอดชีพ หากใครทำงานไม่นานแล้วลาออก ก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่จริงจัง ไม่สู้งาน ไม่น่าเชื่อถือ

ดังนั้น คนรุ่นใหม่จึงมีทางเลือกมากขึ้น แต่ทางที่เลือกจะยั่งยืนหรือไม่ เป็นสิทธิส่วนบุคคลไม่มีสายตาของคนรอบข้าง และไม่จำเป็นต้องคิดซับซ้อนขณะนี้

 

ทางด้านบริษัทผู้จ้างงานจำเป็นต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์ ทำอย่างไรจึงจะเป็นที่ทำงานที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ ให้อยากเข้ามาร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงาน บรรยากาศภายใน และวัฒนธรรมองค์กร การใช้คนให้ถูกกับงาน และแน่นอนว่าค่าตอบแทนต้องเหมาะสมด้วย

ขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งกำลังปรับฐานเงินเดือนเริ่มต้นให้สูงขึ้น และปรับวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงาน ให้โอกาสแก่คนรุ่นใหม่มากขึ้น เป็นการผูกใจให้อยู่กับบริษัทไปนานๆ

อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจหนีไปไกลๆ เลยนะ ขอร้อง…