‘ไนเท’ (内定) เมื่อนักศึกษาญี่ปุ่นได้งานทำ

(Photo by Behrouz MEHRI / AFP)

ตามวิธีปฏิบัติทั่วไป เมื่อนักศึกษาจะสมัครงาน ต้องเรียนจบ มีใบปริญญา ไปยื่นประกอบการสมัครงานในบริษัทที่เปิดรับสมัครพนักงาน

แต่การรับสมัครงานของบริษัทในญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเช่นนี้

บริษัทญี่ปุ่นจะเปิดรับสมัครพนักงานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ปีละหนึ่งครั้งพร้อมๆ กัน ไม่มีการรับสมัครระหว่างปี

ระบบดั้งเดิม คือ การจ้างงานตลอดชีพ (終身雇用) เมื่อรับเข้ามาทำงานแล้วก็ทำงานกันจนเกษียณ บริษัทฝึกอบรมเพื่อให้มีทักษะดีที่สุดในสายงานที่สังกัดอย่างเต็มที่ เพื่อให้พนักงานได้เติบโตและภักดีกับบริษัท

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของแต่ละบริษัทต้องวางแผนเพื่อให้ได้นักศึกษาที่มีความสามารถโดดเด่น และเหมาะสมกับธุรกิจของบริษัทตามที่ต้องการให้ได้มากที่สุด

ดังนั้น จึงต้องเฟ้นหานักศึกษากันล่วงหน้า ตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษา

ด้านนักศึกษาก็ต้องหาข้อมูลของสายงานธุรกิจ หรือบริษัทที่ตัวเองสนใจตั้งแต่เริ่มขึ้นชั้นปีที่ 3 บริษัทจะแจ้งจำนวนตำแหน่งงานไปยังมหาวิทยาลัย ฝ่ายบุคคลไปให้ข้อมูลและแนะนำบริษัท เพื่อให้นักศึกษากรอกประวัติการศึกษา และเข้าร่วมกิจกรรมของบริษัทหรือร่วมฝึกงานในช่วงปิดภาคเรียน

พอขึ้นปีที่ 4 ก็เข้ากระบวนการคัดเลือกและสัมภาษณ์ต่างๆ

 

เมื่อพอใจในคุณสมบัติ และหน่วยก้านของนักศึกษาแล้วก็ส่งหนังสือแจ้งตกลงรับเข้าทำงาน

ขั้นตอนนี้เรียกว่า “ไนเท” (内定) คือ การตกลงรับเข้าทำงานอย่างไม่เป็นทางการ = รู้กันภายในระหว่างเรา ฝ่ายนักศึกษาหากอยากเข้าทำงานที่บริษัทนี้ ก็ยื่นหนังสือตอบตกลง โดยทั่วไปก่อนจบเทอมแรกของปี 4 ก็รู้กันแล้วว่าจะได้งานที่ใด

แต่ทั้งสองฝ่ายอาจเปลี่ยนใจบอกเลิกข้อตกลงนี้ได้ เพราะนี่คือข้อตกลงที่ไม่เป็นทางการ

แบบนี้ก็คือ การจองตัวล่วงหน้านั่นเอง ฝ่ายนักศึกษาก็สบายใจว่าในอนาคตจะมีงานทำแล้ว หน้าที่คือเรียนให้จบปีที่ 4 ตามวันเวลาที่กำหนดให้ได้เท่านั้น

ฝ่ายองค์กรก็สามารถวางแผนด้านบุคลากรและแผนงานธุรกิจได้อย่างแม่นยำ ไม่เสียเวลาติดๆ ขัดๆ มาจ้างงานระหว่างปี

บริษัทญี่ปุ่นเริ่มต้นปีบัญชี วันที่ 1 เมษายน จึงเป็นวันแรกที่พนักงานใหม่เริ่มต้นทำงานด้วย ส่วนมหาวิทยาลัยก็เริ่มปีการศึกษาใหม่ในเดือนเมษายนเช่นกัน เดือนมีนาคมจึงเป็นเดือนที่ยุ่งมากของคนญี่ปุ่น

 

จากการสำรวจ นักศึกษา 674 คน ของบริษัทด้านการจ้างงาน พบว่า ณ วันที่ 1 มีนาคม 2024 นักศึกษาที่จะจบการศึกษาในปี 2025 (เดือนมีนาคม) หมายถึง จบชั้นปี 3 กำลังจะขึ้นปี 4 ในเดือนเมษายนนี้ มีผู้ได้รับการเสนองานแบบ “ไนเท” (内定) แล้ว 40.3% ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ปีที่แล้ว (เรียนจบปี 2024) จำนวน 30.3% จบปี 2023 จำนวน 22.6%

กล่าวอีกนัยหนึ่ง นักศึกษาต้องวุ่นอยู่กับการหางาน (就活) ในอนาคตและร่วมกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทเพื่อการสมัครงาน ตั้งแต่เริ่มครึ่งหลังของการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย คือ ชั้นปีที่ 3

จะรีบเร่งอะไรกันปานนั้น! เพิ่งเรียนมาครึ่งทางเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น มีแนวโน้มว่าแต่ละปีต่อจากนี้ กำหนดการคัดเลือกนักศึกษาจบใหม่จะยิ่งถูกเร่งให้เร็วขึ้นอีก เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสภาพสังคมเปลี่ยนไป ญี่ปุ่นประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยลง (少子化) ขาดแคลนแรงงานคนวัยทำงาน บริษัทต่างๆ ต้องรีบเร่ง แข่งกันแย่งชิงบุคลากรคุณภาพให้ได้ก่อนใครๆ

มีรายงานว่าปีที่แล้ว (หมายถึงการเริ่มทำงานเมษายนปีนี้) บริษัทหลายแห่งรับสมัครพนักงานใหม่ไม่ได้จำนวนตามต้องการ ปีนี้จึงต้องเร่งเปิดรับสมัครเร็วขึ้นกว่าเดิม

 

ธุรกิจประเภทใดบ้าง ที่รีบเร่งแย่งชิงแรงงาน และสามารถชิงเค้กมาได้เท่าใด

เทคโนโลยีสื่อสาร 24% ธุรกิจบริการ 19% ธุรกิจผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ 16% การแพทย์และสังคมสงเคราะห์ 11% ธุรกิจการผลิตอื่นๆ 11% ในจำนวนนี้ ธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสาร และธุรกิจบริการ ยืนอันดับหนึ่งมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่เฉพาะแต่บริษัทญี่ปุ่นเท่านั้น แต่รวมถึงบริษัทร่วมทุนต่างชาติด้วย ส่วนธุรกิจอื่นๆ ก็ได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเช่นกัน

มาดูด้านนักศึกษาบ้าง พบว่ามีนักศึกษาที่ได้ “ไนเท” (内定) มากกว่า 2 บริษัท มีถึง 48.2% สูงกว่าปีที่แล้วถึง 12%

อย่างไรก็ตาม มีบริษัทที่ใช้กลยุทธ์ “กั๊ก” ไว้ก่อน มาเริ่มรับสมัครกันตอนเปิดเรียนชั้นปี 4 ไปแล้วก็มีไม่น้อยเช่นกัน

จึงคาดการณ์ได้ว่า นักศึกษาที่ได้ “ไนเท” (内定) แล้ว อาจเปลี่ยนใจอีกก็ได้

 

กระบวนการแย่งชิงนักศึกษาจึงยังไม่จบลงเพียงแค่นี้ เนื่องจากระยะหลังๆ มานี้ พบว่านักศึกษาที่ได้ “ไนเท” (内定) แล้วเปลี่ยนใจกันมากขึ้น

เหตุผลใหญ่ๆ คือ พ่อแม่ไม่เห็นด้วยที่จะให้เข้าทำงานที่บริษัทนี้

ฝ่ายบริษัทจึงต้องแก้เกมด้วยการเพิ่มคำถามย้ำกับนักศึกษาว่า “พ่อแม่เห็นด้วยหรือไม่ที่คุณจะเข้าทำงานที่บริษัทเรา”

เท่านี้ยังไม่พอ บางบริษัทติดต่อหาพ่อแม่โดยตรงเพื่อขอทราบท่าทีและความเห็นชอบ

ระยะหลังมานี้ พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกบริษัทเข้าทำงานของลูกกันมากขึ้น

เกิดคำศัพท์ใหม่รู้กันในวงการฝ่ายบุคคล คือ “โอยา คาคุ” (オヤカク・親確) หมายถึง บริษัท “ถามพ่อแม่ให้แน่ใจ” เพื่อให้มั่นใจว่าลูกจะไม่ปฏิเสธ “ไนเท” (内定) และเมื่อเข้าทำงานแล้วจะอยู่กับบริษัทไปนานๆ

ผลสำรวจปี 2023 พบว่า มีพ่อแม่ 52.4% ตอบว่าเคยได้รับการติดต่อสอบถามจากบริษัทที่ลูกผ่านการคัดเลือก จำนวนนี้นับว่าเพิ่มสูงขึ้นในระยะ 6 ปีมานี้ ซึ่งมีเพียง 17.7%

รูปแบบของ “โอยา คาคุ” แตกต่างกันไปแต่ละบริษัท เช่น สัมภาษณ์พ่อแม่ประกอบการตัดสินใจก่อนจะให้ “ไนเท” (内定) บางบริษัทขอให้พ่อแม่ลงนามเอกสารแสดงความยินยอมด้วย บ้างก็เชิญพ่อแม่มาร่วมฟังคำบรรยายข้อมูลของบริษัทเพื่อสอบถามข้อสงสัย และพูดคุยกับพ่อแม่ของนักศึกษาอื่นด้วย

บ้างก็ส่งข้อมูลแนะนำบริษัทถึงพ่อแม่โดยตรง ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจว่านักศึกษาได้ปรึกษาพ่อแม่ ได้รับการสนับสนุน มุ่งหวังว่าเมื่อเข้าทำงานแล้วก็จะทำงานไปอีกนาน

เมื่อสอบถามนักศึกษาว่า คุณปรึกษาใครก่อนตัดสินใจเลือกเข้าทำงานบริษัทใด ปรึกษาพ่อแม่ สูงถึง 61.9% เพื่อน 23.9% เจ้าหน้าที่ฝ่ายนักศึกษาของมหาวิทยาลัย 16.2%

ผู้เชี่ยวชาญด้านงานบุคคล ให้ความเห็นว่า สังคมเด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จำนวนนักศึกษาลดลง การแข่งกันแย่งตัวนักศึกษาจบใหม่ก็เข้มข้นขึ้น กลายเป็น “ตลาดผู้ขาย” ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกแน่นแฟ้นขึ้น (เพราะมีลูกน้อย) พูดคุยปรึกษากันมากขึ้น หากพ่อแม่เห็นดีเห็นงาม ลูกก็น่าจะคล้อยตาม ดังนั้น บทบาทของพ่อแม่จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตแน่นอน

ก่อนจะเข้าทำงานก็ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ชนะผู้แข่งขันอื่นๆ เมื่อเข้าทำงานแล้ว ชีวิตใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องทุ่มเทพละกำลังทั้งชีวิตเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

ชีวิตวัยทำงานของคนญี่ปุ่นไม่ง่ายเลย…