รับมือ ‘สังคมสูงอายุ’ ง่ายนิดเดียว

ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดวันนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าคือเรื่อง “หลานม่า” ที่เข้าฉายไม่กี่วันทำรายได้ทะลุหลักร้อยล้านบาทไปแล้ว และดูท่าจะไปได้อีกยาว

เพราะเนื้อหาที่สะท้อนความสะเทือนใจในการอยู่ร่วมสังคม ระหว่าง “ผู้สูงอายุ” กับ “ลูกหลาน” ที่นับวันการดิ้นรนต่อสู้ทำให้เป็นปัญหาก่อช่องว่างในความเข้าใจในกันและกันมากมาย เป็นเรื่องราวที่สร้างความสะเทือนใจอย่างน่าสนใจได้ง่าย

เป็นที่รับรู้กันว่าประเทศไทยเราเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” เต็มรูปแบบแล้ว

องค์การสหประชาชาติกำหนด “สังคมผู้สูงวัย” จากสัดส่วนของประชากรอายุ 60-65 ปีขึ้นไปต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ

มากกว่าร้อยละ 7 เป็น “สังคมผู้สูงวัย” ‘ (Aged Society), มากกว่าร้อยละ 14 เป็น “สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society), มากกว่าร้อยละ 20 เป็น ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (Super Aged Society)

จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือนธันวาคม 2566 พบว่า ไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 13,064,929 คน คิดเป็น 20.17% ของประชากรรวม มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 8,901,145 คน คิดเป็น 14% ของประชากรรวม

นั่นหมายความว่า ณ เวลานี้ ประเทศไทยเราเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” เรียบร้อย

 

ความสำคัญของสภาวะนี้อยู่ที่ คนรุ่นลูกรุ่นหลานมอง “ผู้สูงอายุ” ด้วยความรู้สึกอย่างไร หากมองว่า “มีคุณค่า” จะเป็นสังคมที่ดี แต่หากมองเห็นแต่ว่า “เป็นภาระ” ย่อมเป็น “สังคมที่ชวนให้อึดอัด”

ในช่วงสงกรานต์นอกจากจะถือว่าเป็น “ปีใหม่ไทยแล้ว” ทางราชการยังนิยามให้เป็น “วันผู้สูงอายุ” ในโอกาสนี้ “นิด้าโพล” ได้ร่วมกับ “ศูนย์วิจัยสังคมผู้สูงอายุ” ทำสำรวจเรื่อง “ภาพลักษณ์ผู้สูงอายุไทย 2567”

ผลที่ออกมาคือมอง “ผู้สูงอายุ” ในมุม “ผู้ที่น่าเคารพ” มีร้อยละ 88.1 เห็นด้วย ที่ไม่เห็นด้วยมีร้อยละ 11.83, เป็น “ผู้สามารถอาศัยอยู่ร่วมกับลูกหลานได้”

มีผู้เห็นด้วยร้อยละ 83.18 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 16.03,

เป็น “ผู้สามารถเป็นที่พึ่งให้ลูกหลาน” ร้อยละ 83.97 เห็นด้วย ร้อยละ 16.03 ไม่เห็นด้วย,

เป็นผู้มีจิตใจแจ่มใสไม่ซึมเศร้า ร้อยละ 74.81 เห็นด้วย ร้อยละ 25.19 ไม่เห็นด้วย,

เป็นผู้มีเพื่อนฝูง ไม่เหงา ไม่เก็บตัว ร้อยละ 73.82 เห็นด้วย ร้อยละ 26.18 ไม่เห็นด้วย,

เป็นผู้มีความจำดี สามารถรับรู้ได้ดี ร้อยละ 69.6 เห็นด้วย ร้อยละ 30.38 ไม่เห็นด้วย,

เป็นผู้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ร้อยละ 67.63 เห็นด้วย ร้อยละ 32.37 ไม่เห็นด้วย,

เป็นผู้สามารถทำงานหารายได้เลี้ยงดูตัวเอง ร้อยละ 53.36 เห็นด้วย ร้อยละ 46.64 ไม่เห็นด้วย

หมายความว่าในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป “ผู้สูงอายุของประเทศไทย” ยังได้รับการมองว่า “ยังไหว” จะมีปัญหาบ้างแค่โอกาสในการหารายได้เพื่อพึ่งพาตัวเอง ซึ่งไม่แปลกอะไรเพราะวัยทำงานถูกกำหนดให้เป็นเรื่องของคนหนุ่มสาว คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปถูกกำหนดให้ต้องเกษียณ ต้องออกจากงานประจำมาอยู่บ้าน ซึ่งหากจะหารายได้ต้องดิ้นรนเอาเอง

 

หาก “ผู้สูงอายุ” ที่เคยหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว ต้องเปลี่ยนสภาพมาเป็นภาระให้ลูกหลานก็เพราะกฎเกณฑ์การทำงานที่กำหนดให้ต้องถึง “วัยเกษียณ” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว สังคมรับรู้ร่วมกันว่า แม้จะ “อายุ 60 ปีหรือมากกว่า” ร่างกายและจิตใจก็ “ยังไหว” ในการทำงาน

ดูจะเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนกอยู่ไม่น้อยเมื่อสรุปว่า “ไทยมาสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” เพราะก่อให้เกิดความรู้สึกต่อผู้คนว่า จะต้องรับภาระหารายได้เพื่อแบกคนเฒ่าคนแก่เหล่านี้ ยิ่งสภาวะเศรษฐกิจที่คนหนุ่มคนสาวหาทางเอาตัวให้รอด หรือมองไม่เห็นโอกาสที่จะสร้างฐานะให้มั่นคง

ภาพของ “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” ยิ่งชวนให้อ่อนอกอ่อนใจ

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วนั่นเป็นเพียงการถูกกลไกเกษียณอายุมาทำให้เกิดขึ้น จึงเกิดสภาพ “ยังไหว” แต่ถูกปิดโอกาสที่จะพึ่งพาตัวเอง

เมื่อเห็นความเป็นจริงเช่นนี้ คงไม่ต้องชี้อะไรอีกว่าวิธีแก้ไขควรจะเป็นอย่างไรกระมัง