E-DUANG : ภูมิทัศน์ “ใหม่” สงกรานต์ เทศกาล วัดกระแส มวลชน

ตลอด 3-4 วันแห่งปฏิบัติการ”เย็นฉ่ำทั่วหล้า มหาสงกรานต์”ได้ก่อให้เกิด”ปรากฏการณ์”อย่างที่เรียกว่า”รื้อสร้าง”ขึ้นมาใหม่อย่าง ชัดเจน

นี่มิได้เป็นผลสะเทือนจากตัวของ”เทศกาล”เอง หากแต่น่าจะเป็นผลสะเทือนมาจาก”สังคม”

ไม่ว่าจะมองไปที่”เชียงใหม่” ไม่ว่าจะมองไปที่”ขอนแก่น”

ยิ่งสัมผัสลึกลงไปในรายละเอียดที่ปรากฏอยู่บน”ถนนสีลม” และจาก”ท้องสนามหลวง” ยิ่งสร้างความรับรู้ว่าสงกรานต์อย่างที่ เคยเห็นในอดีตดำเนินไปในลักษณะแปรเปลี่ยน

ต้องยอมรับว่าแม้จะเรียกขานสงกรานต์อย่างสัมพันธ์กับวันแห่งครอบครัว อย่างสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ แต่ในเมื่อการดำรงอยู่ของครอบครัวก็แปรเปลี่ยน การดำรงอยู่ของผู้สูงอายุก็แปรเปลี่ยน

พื้นที่ของสงกรานต์จึงฉายสะท้อนการรุกคืบเข้ามาของคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน และดำเนินไปในลักษณะที่ดำรงอยู่อย่างเป็นฝ่ายครอบงำ ยึดครองหนาแน่นมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะมองไปยังกระหึ่มแห่งเสียงดนตรีและการขานรับร่ายรำ ไม่ว่าจะมองไปยังปริมาณการเข้าร่วมในเทศกาล

นี่เป็นพื้นที่ของ”คนรุ่นใหม่” นี่เป็นพื้นที่ของ”นวัตกรรม”ใหม่

 

วัฒนธรรมแห่งการเวฟได้กลายเป็นจุดเด่นอย่างยิ่งบนถนนข้าวเหนียวแห่งจังหวัดขอนแก่น วัฒนธรรมแห่งการเต้นสุดเหวี่ยงได้กลายเป็นชีพจรที่ขาดไม่ได้ของสีลมและข้าวสาร

แพร่ระบาดไปยังเชียงใหม่ หาดใหญ่ หนองบัวลำภู

คนแก่ถูกตรึงให้อยู่ในที่ตั้งรอคอยลูกหลานมาคารวะแสดงตัว ท้องถนนถูกยึดครองครอบงำโดยคนรุ่นใหม่เปี่ยมด้วยพละกำลัง ไม่ว่าจะเป็นคนหญิง ไม่ว่าจะเป็นคนชาย ไม่ว่าจะเป็นข้ามเพศ

ความต้องการในการนำเสนอ”อัตลักษณ์”ยังเป็นเหมือนที่เคยปรากฏใน”นิราศเดือน”ของนายมี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นอัต ลักษณใหม่อันมาพร้อมกับลีลาแห่งอีดีเอ็มและรถแห่

ภาพการเปิดเคหสถานแห่ง”บ้านใหญ่”เพื่อวัดอำนาจและบารมียังปรากฏให้เห็น แต่การแสดงบารมีอย่างเป็นจริงอยู่บนท้องถนนและอยู่ในท่ามกลางมวลชนมากกว่า

จึงเป็นภาพในแบบ”พิธา” จึงเป็นภาพในแบบ”ไอติม”

 

การช่วงชิง”บทบาท”ปรากฏให้เห็นตลอดสองรายทาง แต่มิใช่ผ่าน กระบวนการพีอาร์แบบเดิมต่อไปอีกแล้วตรงกันข้าม วัดจากความรู้สึกของ”ประชาชน”เด่นชัดกว่า

วัดเมื่อเดินเข้าไปในบรรยากาศแห่งการเล่นน้ำ วัดเมื่อเดินเข้าไปในบรรยากาศแห่งการเต้นตามเสียงเร่งเร้าเย้ายวนแห่งดนตรีสมัยใหม่

ภูมิทัศน์แห่ง”สงกรานต์”ได้แปรเปลี่ยนไปสู่รูปลักษณ์ใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจแล้วโดยสมบูรณ์