กลิ่นอาย

ญาดา อารัมภีร

‘กลิ่นอาย’ เป็นคำที่มักใช้คู่กัน ‘กลิ่น’ คือ สิ่งที่รู้ได้ด้วยจมูกว่า เหม็น หอม ฉุน ฯลฯ

‘อาย’ เป็นคำเขมร แปลว่า กลิ่น ‘กลิ่น’ และ ‘อาย’ รวมกันเป็น ‘กลิ่นอาย’ หมายถึง กลิ่น จะใช้แยกกันเป็น ‘กลิ่น’ และ ‘อาย’ ก็ได้ ความหมายไม่ต่างกัน

“ไตรภูมิพระร่วง” วรรณคดีสมัยสุโขทัยเล่าถึง 7 สิ่งที่ทำให้ผู้หญิงท้อง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ‘คันธคัพภะ’ หรือกลิ่นทำให้ตั้งท้อง ท้องเพราะกลิ่นหรือกลิ่นหอมนั่นเอง

“อันชื่อว่า คันธคัพภะนั้นดั่งแม่วัว อันได้ดมกลิ่นดมอายวัวถึก แลมีคัพภะดังนั้นก็มีแล”

‘ดมกลิ่น ดมอาย’ ความหมายก็คือ ดมกลิ่น

‘กลิ่นอาย’ เป็นได้ตั้งแต่กลิ่นหอมของดอกไม้ ดังจะเห็นจาก “บทเห่ชมไม้” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร สมัยอยุธยาที่พรรณนาว่า

“เต็งแต้วแก้วกาหลง บานบุษบงส่งกลิ่นอาย

หอมอยู่ไม่รู้วาย คล้ายกลิ่นผ้าเจ้าตรู”

 

ในนิทานคำกลอนสมัยรัตนโกสินทร์ เรื่อง “สิงหไตรภพ” เมื่อพระรามวงศ์ฆ่ายักษ์แล้วทูลลาไปเมืองวิเรน พระชนนีก็รำพันสงสารลูกจะต้องตกระกำลำบาก

“เวลาค่ำน้ำค้างกลางอากาศ จะซัดสาดโทรมองค์น่าสงสาร

เคยนอนที่ยี่ภู่นางอยู่งาน ลมจะพานพัดต้องให้หมองมอม

เคยสรงชลปนปรุงจรุงกลิ่น จะสูญสิ้นกลิ่นอายจะหายหอม

ไปเป็นข้าดาบสต้องอดออม จะซูบผอมพ่อเอ๋ยไม่เคยเป็น”

‘กลิ่นอาย’ ในข้อความนี้คือ กลิ่นผิวกายหอมกรุ่นเพราะอาบน้ำที่มีเครื่องหอมเจือปน น้ำอาบเช่นนี้มีแต่ในวัง ไปอยู่ป่าอยู่ดงย่อมไม่มี กลิ่นกายก็จะคลายความหอมไปในที่สุด

 

กลิ่นอายยังเป็นได้ทั้งกลิ่นแปลกๆ ของอาหารที่ไม่คุ้นเคย ดังปรากฏใน “บทเห่ชมเครื่องคาวหวาน” รัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายถึงอาหารแขกชนิดหนึ่งว่า

“ลุดตี่นี้น่าชม แผ่แผ่นกลมเพียงแผ่นแผง

โอชาหน้าไก่แกง แคลงของแขกแปลกกลิ่นอาย”

‘ลุดตี่’ ข้างต้นเป็นแป้งสีเหลืองแผ่นกลมๆ คล้ายโรตี รับประทานคู่กับแกงไก่

นอกจากนี้ ‘กลิ่นอาย’ ยังหมายถึงกลิ่นยาเป็นเชิงเปรียบเทียบ มิใช่ยาธรรมดาสามัญ แต่เป็น ‘ยาทิพย์’ ที่มีประสิทธิภาพเหลือหลาย ดังที่บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” เล่าถึงประสันตาพี่เลี้ยงเจ้าคารมทูลอิเหนาถึงหม้อยาที่สังคามาระตาให้พี่เลี้ยงนำมาถวายทำให้เกิดผลฉับพลันแก่อิเหนา

“ที่เจ็บป่วยก็คลายหายไป พระลุกนั่งขึ้นได้ด้วยยินดี”

ถ้อยคำสำนวนของประสันตานั้นเหน็บแนมแกมยั่วเย้าอิเหนาได้เด็ดขาดมาก

“ยังมิทันเสวยสักเวลา แต่ยกหม้อยาเข้ามาตั้ง

ก็เหือดหายคลายโรคที่รึงรัง เสด็จนั่งขึ้นได้ด้วยง่ายดาย

ดูเหมือนหนึ่งไม่ประชวรนัก ไม่พักพยาบาลก็พลันหาย

ชีวิตเราทั้งนี้จะรอดตาย ด้วยกลิ่นอายยาทิพย์พระน้องยา”

 

พระน้องยาในที่นี้คือ ‘สังคามาระตา’ รับคำสั่งอิเหนาไปจัดหาสถานที่เหมาะๆ สร้างที่ประทับในถ้ำและสวนขวัญสำหรับอิเหนาจะลักพานางบุษบาไปพำนัก ล้มงานวิวาห์ของนางกับจรกาเสียเลย เมื่อสังคามาระตาทำทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยและกลับมาทูลรายงานอิเหนาซึ่งนอนแบ็บเพราะโรครักรุมเร้า ไม่อยากให้นางบุษบาแต่งงานกับจรกา คำพูดของสังคามาระตาที่ว่า ‘สนองความตามมีพระบัญชา’

“พระอย่าทุกข์ทนหม่นไหม้ ทีนี้ได้สมดังปรารถนา”

ทำให้อิเหนาหายจากไข้ใจในพริบตา สุดแสนปลื้มปริ่ม

“ชื่นชมภิรมย์สำราญ ซาบซ่านโสมนัสในหฤทัย

ดังระเด่นสังคามาระตา เอาอมฤตฟ้ามารดให้”

แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ประสันตาแขวะเอาได้อย่างไรว่า

“ชีวิตเราทั้งนี้จะรอดตาย ด้วยกลิ่นอายยาทิพย์พระน้องยา”

ความหมายคือ เห็นทีชีวิตพวกเราจะรอดตายเพราะ ‘กลิ่นอาย’ ของยาทิพย์ที่สังคามาระตานำมาถวายเจ้านายเรานี่แหละ

ยาดีจริงๆ เห็นผลทันตา •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร