‘เศรษฐา’ เคลียร์พรรคร่วม นับ 1 ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ฉลุย สารพัดประเด็นที่ต้องตอบ

จากการที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ให้ความเห็นชอบแหล่งเงินที่ใช้ในโครงการ 5 แสนล้านบาท จาก 3 แหล่งอันประกอบด้วย

การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท, การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท และเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

นายเศรษฐา ทวีสิน นากยกรัฐมนตรี และ รมว.คลังประกาศว่าโครงการจะเริ่มเปิดลงทะเบียนผู้เข้าร่วมโครงการในไตรมาส 3/2567 และจะเริ่มเปิดให้ใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมกำหนดกลุ่มเป้าหมายประชาชนประมาณ 50 ล้านคน ด้วยคุณสมบัติเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี รวมทั้งมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

อย่างไรก็ดี โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ยังมีประเด็นและรายละเอียดที่ต้องตอบคำถามอีกมากมาย

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ก็ได้เห็นชอบหลักการทั้งหมดที่คณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเสนอมา

จากนั้นจึงปรากฏภาพของนายเศรษฐา ทวีสิน นากยกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแถลงถึงความเห็นชอบโครงการแจกเงิน10,000 บาท หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายเศรษฐากล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็นของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยเห็นชอบหลักการโครงการดังกล่าวแล้ว ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ แนวทางการเข้าร่วมโครงการของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า การลงทะเบียนร้านค้า รวมถึงแหล่งเงิน และการดำเนินโครงการ ซึ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงบประมาณ จะศึกษาในรายละเอียดต่อไป

“ส่วนข้อห่วงใย เช่น ประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ที่ประชุม ครม.เห็นว่าหากมีประเด็นข้อสงสัยใดๆ ให้ส่งเรื่องไปสอบถามยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งทุกพรรคร่วมรัฐบาลต่างเห็นชอบในหลักการของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลยังยืนยันกำหนดเวลาในกรอบเดิม คือ เริ่มลงทะเบียนในไตรมาส 3/2567 และเปิดให้ใช้จ่ายได้ใน ไตรมาส 4/2567 แต่ทั้งนี้ ยังไม่สามารถกำหนดวันที่แน่นอนได้ เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบ ซึ่งต้องให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเสถียรภาพของแอพพลิเคชั่น ตลอดจนในเรื่องความมั่นคง ปลอดภัยของข้อมูล

“ทั้งข้อมูลของประชาชนและราชการ ในการทำ Transaction ตัวเลขและเงิน ต้องมีความมั่นคงและปลอดภัย ดังนั้น จึงไม่อยากเร่งเกินไป ซึ่งยังยืนยันตามกรอบเดิม คือลงทะเบียนในไตรมาส 3/2567 และเปิดใช้ในไตรมาส 4/2567”

อย่างไรก็ดี ประเด็นการใช้เงิน ธ.ก.ส. ยังเป็นประเด็นว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 28 หรือไม่ และนายกฯ จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้กำหนดประเด็น แต่นายกฯ สั่งการว่าหากมีข้อสงสัยประเด็นใดก็ตาม ที่เป็นเรื่องข้อกฎหมายให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย

อีกประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของประชาชนอย่างมาก นั่นคือช่องทางการใช้จ่ายดิจิทัลวอลเล็ต ทำไมไม่ใช่แอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพราะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น คนไทยกว่า 40 ล้านคน คุ้นเคยกับการใช้จ่ายผ่านแอพพ์ “เป๋าตัง” เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ก็มีการลงทะเบียนยืนยันตัวตนไว้แล้ว และหากประชาชนจะต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนใหม่กับโครงการแจกเงิน 10,000 บาท จะกลายเป็นการเพิ่มขั้นตอนที่ยุ่งยาก อีกทั้งยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ทั้งหลายหรือไม่

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการจัดทำแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า เรื่องแอพพ์ไม่มีปัญหา โดยจะแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ระบบการลงทะเบียน และระบบ Transaction ซึ่งทั้ง 2 ระบบมีการพัฒนา และอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ คือ จะเปิดให้มีการลงทะเบียนในไตรมาส 3 ของปีนี้ และประชาชนจะได้รับเงินในไตรมาส 4 ตามกำหนดเวลา

“เรื่องแอพพ์จะมีการแถลงอีกที จะเป็น Open Loop เพื่อเชื่อมต่อในหลายภาคส่วน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ รายละเอียดจะชี้แจงเมื่อได้ข้อสรุป ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ” นายเผ่าภูมิกล่าว

อย่างไรก็ดี นายจุลพันธ์ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้กำลังพัฒนาและดำเนินการแอพพ์ “ทางรัฐ” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่คาดหวังว่าจะสามารถอัพเกรดเป็น “ซูเปอร์แอพพ์”

โดยเรื่องนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จะเป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินการพัฒนา ในลักษณะ Open Loop หรือเปิดโอกาสให้ Wallet ของธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐสามารถเชื่อมระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารของอะไร และสามารถเข้าสู่ระบบดิจิทัลวอลเล็ตได้

โดยยืนยันว่าการไปพัฒนาเรื่องนี้ใช้งบประมาณไม่เยอะ ไม่ถึงพันล้านบาท และเชื่อว่าจะสามารถใช้ทันในไตรมาส 4/2567 ส่วนแอพพ์เป๋าตังยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่รัฐบาลก็กำลังพิจารณา

สําหรับประเด็นที่สังคมเป็นห่วงว่าโครงการจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ เพราะร้านค้าสะดวกซื้อ อย่างร้านเซเว่นฯ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ นายจุลพันธ์กล่าวว่า กระทรวงการคลังก็มีข้อสังเกตเรื่องนี้ แต่ข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ก็มีเหตุผล ที่ว่าความเป็นรัฐคงไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้

“ตอนนี้ในต่างจังหวัดมีร้านอากงอาม่าที่อัพเกรดเป็นร้านสะดวกซื้อเยอะมาก จะให้บอกว่าร้านนี้ได้ ร้านนั้นไม่ได้ เราทำไม่ได้ นอกจากนี้ ร้านสะดวกซื้อเป็นศูนย์รวมของสินค้าอุปโภคบริโภค ก็ทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ที่จะพิจารณาอีกครั้ง”

ขณะเดียวกัน ร้านค้าสะดวกซื้อไม่ว่าจะเป็นร้านขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เมื่อรับชำระดิจิทัลวอลเล็ตจากประชาชนในรอบแรก ซึ่งกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน จะยังไม่สามารถไปขึ้นเป็นเงินสดได้ทันที โดยจะขึ้นเงินได้ในการใช้จ่ายรอบที่ 2 เป็นต้นไป

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นอะไรที่ใหม่ เรื่องนี้รัฐบาลทำให้เห็นแล้วว่า คิดใหญ่ ทำยาก แต่ต้องทำ เพราะคนคิดเกมคือผู้ชนะ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย และเป็นเครื่องมือของรัฐในอนาคต สำหรับการกำหนดนโยบายที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย

เพราะที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซึมตามทฤษฎีกบต้ม จำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามากระชาก เพื่อให้เศรษฐกิจโงหัวขึ้นมาให้ได้ ร่วมกับมาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการอสังหาฯ การแก้หนี้ ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งต้องดูในองค์รวม ดูเป็นเฉพาะมาตรการไม่ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น

นี่คือการเดินทางของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลเศรษฐา หลังจากนี้ การขับเคลื่อนโครงการคงมีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ และต้องติดตามกันต่อไปว่า จะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด