อุปสรรค ‘เป้าหมายแห่งดีล’

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

สําหรับความมุ่งมั่นในการทำงานหนักอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อยของ “นายกรัฐมนตรี-เศรษฐา ทวีสิน” อาจจะมีคำถามเกี่ยวกับความชัดเจนในหลายเรื่อง อย่าง “ความจริงจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง-การปฏิรูปราชการ-การลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ” ที่ยังให้คำตอบไม่ชัดนัก

แต่สำหรับเป้าหมายในการเป็นผู้นำรัฐบาลครั้งนี้ “นายกฯ เศรษฐา” ยืนยันชัดเจนและหนักแน่นว่ามีความตั้งใจทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น เพื่อ “พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งในครั้งต่อไป”

ว่ากันง่ายๆ คือ “เอาชัยชนะคืนมาจากพรรคก้าวไกล”

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้ ใช่ว่าประชาชนทั่วไปจะไม่รับรู้มาก่อน หรือคาดเดาไม่ได้ เพราะเรื่องราวการกลับประเทศอย่างยิ่งใหญ่ของ “ทักษิณ ชิวัตร” ท่ามกลางการเล่าขานถึง “ดีลพิเศษ” นั้น เป็นที่กระหึ่มเมืองอยู่แล้วถึงภารกิจประสานมือกับ “พรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์” หาทาง “หยุดก้าวไกล” ด้วยผลการเลือกตั้ง เซฟการต้องใช้อำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยเข้าควบคุม

พูดกันชัดเจนขนาดว่ามีแต่ “ทักษิณ ชินวัตร” เท่านั้นที่จะทำให้ภารกิจนี้ลุล่วงสู่ความสำเร็จ

ต้องทำให้ “เพื่อไทยชนะเลือกตั้ง” จึงเป็นคำตอบของทั้ง “เศรษฐา” และ “ทักษิณ” และหนทางที่จะเป็นไปได้คือ “สร้างผลงานให้ประชาชนประทับใจ และให้เทความเชื่อถือศรัทธาอันหมายถึงคะแนนนิยมมาให้”

เหมือนที่ “ทักษิณ” เคยใช้สร้าง “พรรคไทยรักไทย” จน “พลังประชาชน” ได้อานิสงส์ และเลยมาถึง “เพื่อไทย” ในช่วงต้น

จากผลการเลือกตั้งที่เคยถูกกำหนดด้วยอิทธิพลของ “บ้านใหญ่” อันหมายถึงบารมีของผู้สมัครในพื้นที่ พัฒนามาสู่ “นโยบายที่เปลี่ยนชีวิตประชาชนส่วนใหญ่” อย่าง “30 บาทรักษทุกโรค-กองทุนหมู่บ้าน” เป็นตัวกำหนด ถึงวันนี้คะแนนนิยมตอบรับ “ก้าวไกล” ด้วยการเสนออย่างดุดันเพื่อ “เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ ลดการผูกขาดผลประโยชน์ของประเทศ”

มีการมองกันว่าชัยชนะของ “ก้าวไกล” เป็นการเปลี่ยนแรงจูงใจการตัดสินใจเลือกของประชาชนครั้งสำคัญอีกครั้ง

เมื่อ “พรรคเพื่อไทย” พลิกเกมโดยร่วมมือโครงสร้างอำนาจที่ออกแบบไว้ และเดินหน้าในหนทางเดิมคือ “สร้างผลงานให้ประทับใจ” ด้วยยังเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญของชัยชนะ ความน่าสนใจอยู่ที่ แรงจูงใจในการเลือกของประชาชน จะเปลี่ยนจากเป้าหมายเชิงทิศทาง และอุดมการณ์กลับมาที่การเรียกหาผลงานเหมือนที่ผ่านมาสำเร็จหรือไม่

เพื่อคำตอบนี้ ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “จากบทบาทของทักษิณ ถึงฝันของนายกฯ เศรษฐา” จึงถูกนำมาวิเคราะห์อย่างกว้างขวางเป็นพิเศษ

โดยเมื่อถามถึงผลกระทบต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย จากความเคลื่อนไหวของทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ร้อยละ 40.61 เห็นว่า ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อคะแนนนิยมทางบวก, ร้อยละ 33.21 บอกส่งผลกระทบในทางลบ, ร้อยละ 19.54 คิดว่าส่งผลกระทบในทางบวก และร้อยละ 6.64 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อตั้งธงว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 39.47 ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 18.85 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 17.94 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 15.73 เห็นด้วยมาก และร้อยละ 8.01 เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

และเมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ร้อยละ 32.98 เห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลย, ร้อยละ 29.24 คิดว่า ค่อนข้างเป็นไปได้, ร้อยละ 21.14 บอกไม่ค่อยเป็นไปได้, ร้อยละ 12.82 เห็นว่าเป็นไปได้มาก และร้อยละ 3.82 เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

เมื่อผลสำรวจออกมาเช่นนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองไปในทางเดียวกัน

คือประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ยังยืนหยัดอยู่ที่ต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง”

แม้จะมีไม่น้อยที่พยายามปลุกกระแสให้เห็นด้วยกับการ “จัดการปัญหาปากท้อง” ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความสุข เรื่องของ “โครงสร้างที่ผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” เป็นเรื่องที่วางไว้ก่อนได้

แต่ผลโพลนี้ดูเหมือนว่า ความคาดหวังต่อการเลือกตั้งในยุคสมัยเช่นนี้ จะยังเรียกหาความเปลี่ยนแปลงเป็นหลักมากกว่า

ยิ่งกว่านั้นคือ การสร้างผลงานในระดับปลุกความประทับใจให้มากลบแรงจูงใจเชิงอุดมการณ์ ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายเลย ด้วยเห็นชัดว่ากระบวนการต่อต้านจากกลไกที่ออกแบบไว้ควบคุมอำนาจจากประชาชนนั้น

ยังปฏิบัติการแข็งขัน เหมือนไม่รับรู้ถึง “ดีลพิเศษ” ของ “ทักษิณ” และภารกิจตามเป้าหมายของ “เศรษฐา” สักเท่าไร