ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
เฟรยา (Freyja) เป็นชื่อของเทพีที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งของชาวนอร์ส (Norse) โดยทั่วไปแล้ว พระนางจะถูกนับถือบูชาในฐานะของเทพีแห่งความรัก ความงาม กามารมณ์ ความอุดมสมบูรณ์
และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การเป็นเทพีแห่งเวทมนตร์ ที่พวกนอร์สเรียกว่า “เซียร์” (sei?r) ซึ่งก็คือ ญาณในการหยั่งรู้อนาคต
โดยปกติแล้ว เทพีแห่งความรัก ความใคร่ ความงาม และความอุดมสมบูรณ์ ในหลากหลายศาสนาโบราณนั้น มักจะเป็นองค์เดียวกัน เช่น พระแม่ลักษมี ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นต้น
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะในลัทธิความเชื่อ หรือศาสนาแบบดั้งเดิมของวัฒนธรรมทั้งหลาย มักให้ความสำคัญกับเรื่องเพศ ทั้งชายและหญิง ในฐานะสัญลักษณ์ของการก่อกำเนิด และความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในสังคมเกษตรกรรม
ฉากของท้องฟ้าที่มีฝนตกพรำลงบนท้องทุ่งเขียวขจี ไม่ว่าพืชผลที่อยู่ในท้องทุ่งนั้นจะเป็น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เล่ย์ หรือพืชพันธุ์ธัญญาหารชนิดไหนๆ ย่อมทำให้เจ้าของท้องทุ่งยิ้มกริ่มมากกว่าจะร้องไห้
เพราะนั่นทำให้สามารถคาดหวังได้ถึงผลผลิตที่จะผลิดอกออกผลตามมา
ในสังคมที่รู้จักการเกษตรกรรมแล้ว จึงมักจะสร้างบุคลาธิษฐานของ “ท้องฟ้า” ในรูปของ “ผู้ชาย” ที่หลั่ง “ฝน” คือ “เชื้อแห่งชีวิต” ลงมายังพื้น “แผ่นดิน” ที่มักแสดงแทนด้วยรูป “ผู้หญิง”
เชื้อแห่งชีวิตเมื่อตกต้องสู่พื้นดินย่อมก่อกำเนิดให้มี “ชีวิต” คือ “ผลผลิต” เหมือนการสังวาสกันของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เครื่องเพศของทั้งชายและหญิงจึงเป็นสัญลักษณ์ของการก่อกำเนิด และความอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่เรื่องอุจาดหยาบคายตามอย่างความคิดในสมัยหลัง
ดังนั้น จึงทำให้เทพีแห่งความอุดมสมบุรณ์ มักจะกลายเป็นองค์เดียวกันกับเทพีแห่งกามารมณ์ และโรแมนติกมาอีกหน่อยคือ ความรัก ที่ข้องเกี่ยวอยู่กับเรื่องของความสวย ความงามไปพร้อมๆ กัน
ในขณะเดียวกับที่ก็จึงมักจะเป็นเกี่ยวข้องกันกับความเป็น “พระแม่ธรณี” ไปด้วย
ในกรณีปรัมปราคติของพวกนอร์สนั้น หลายครั้งก็มักจะอ้างว่า เทพีผู้เป็นใหญ่ในโลกบาดาล ที่มีชื่อว่า “เฮล” (Hel) นั้น เป็นพระภาคหนึ่งของเทพีเฟรยาไปด้วย
แน่นอนว่า ว่าชื่อเฮลของเทพีองค์นี้ก็มีรากเดียวกันกับคำว่า “Hell” คือ “นรก” ในภาษาอังกฤษนั่นแหละนะครับ
แต่โลกบาดาลที่เทพีเฮลของชาวนอร์สเขาคุมเป็นบ้านใหญ่อยู่ในนั้น ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับนรกในศาสนาของคริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู หรือพุทธศาสนา เพราะมีลักษณะเหมือนโลกของคนตาย มากกว่าที่จะเป็นทัณฑสถานสำหรับลงโทษวิญญาณร้าย
และถ้าจะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว “คนตาย” ก็คือ “ผีบรรพชน” ที่ให้คุณ ให้โทษ คือมอบความอุดมสมบูรณ์ให้ “คนเป็น” ได้
กลุ่มนักปราชญ์ผู้ศึกษาถึงเทพปกรณ์ของกรีก เรียกกลุ่มเทพผู้ปกครองความอุดมสมบูรณ์ที่พำนักอยู่ในโลกบาดาลว่า “คโธนิก” (chthonic) โดยมีที่มาจากภาษากรีกโบราณว่า “khth?n” ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาคำศัพท์ที่พวกกรีกใช้เรียก “โลก” แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะหมายถึงโลกบาดาล หรือพื้นที่ที่อยู่ใต้ดินลงไป มากกว่าที่จะหมายถึงชีวิตที่อยู่บนผิวดิน
เทพเหล่านี้มีหน้าที่ “ปกครองดวงวิญญาณ” ในฐานะผู้ปกครอง มากกว่าจะเป็นเหมือนกับเทพเจ้า ผู้ดลบันดาลสรรพสิ่ง ทั้งยังให้คุณ ให้โทษ แก่คนเป็นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่เซ่นให้ดี หรือพลีให้ถูก คือเป็น “ศูนย์รวมพลังของผืนดิน” (chthonic power) ที่สามารถดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง
เฟรยาเองก็มีลักษณะทำนองนี้นี่แหละครับ ดังนั้น เทพปกรณ์ของพวกนอร์สจึงบอกว่า เทพีเฮลก็คือพระภาคหนึ่งของพระนาง แต่ก็แปลกดีทีเดียวที่ตามเทพปกรณ์ของชาวนอร์สแต่โบราณนั้น กลับระบุว่า ราชรถของเทพีแห่งความรัก และความอุดมสมบูรณ์อย่างเฟรยานั้น กลับมี “แมว” สองตัว คอยลากราชรถให้ไท้เธออยู่ ทั้งที่อะไรที่เรียกกันว่าแมวนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับคติเรื่องความอุดมสมบูรณ์เลยสักนิด
หลักฐานเรื่องนี้มีระบุอยู่ใน “โพรเส เอ็ดดา” (Prose Edda) ซึ่งเป็นเอกสารเก่าจากดินแดนในประเทศไอซ์แลนด์ปัจจุบัน ที่เขียนขึ้นในช่วงก่อน พ.ศ.1800 เล็กน้อย โดยปราชญ์และนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อว่า สนอร์รี่ สเตอร์ลูสัน (Snorri Sturluson) ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงเทพปกรณ์ของพวกนอร์สที่ยาว และมีรายละเอียดมากที่สุด เท่าที่หลงเหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ข้อความในโพรเส เอ็ดดา ส่วนที่เล่าถึงความตายของเทพบัลด์ (Baldr, แปลตรงตัวว่า กล้าหาญ, เจ้าชาย หรือวีรบุรุษ) ซึ่งถือเป็นงานประพันธ์ประเภทโศกนาฏกรรมชิ้นเอกของวรรณกรรมนอร์ส ระบุว่า
“แรกสุดต้องเล่าถึงเทพโอดิน (Odin, ราชาแห่งทวยเทพของพวกนอร์ส) ว่า เทพีฟริกก์ (Frigg, ชายาของโอดิน) และเทพธิดาวาลคีรี (Valkyrja, เทพธิดารับใช้ของจอมเทพโอดิน) ร่วมทางกับพระองค์และอีกาของพระองค์ แต่เทพเฟรย์ (Freyr) ขับราชรถเทียมด้วยหมูป่าที่มีชื่อว่า กุลลินบุสติ (Gullinbursti, แปลตรงตัวว่า แผงคอทองคำ) หรือสลีรุกตานนิ (Sl??rugtanni, แปลตรงตัวว่า เขี้ยวแห่งความกลัว) ก็เรียก ส่วนเทพไฮล์มดาลล์ (Heimdallr) ขี่ม้าที่ชื่อกุลล์ทอปป์ (Gulltoppr, แปลว่า แผงคอทองคำเช่นกัน) และเฟรยาก็ขับราชรถเทียมด้วยบรรดาแมวของพระนาง” (แปลจากต้นฉบับโบราณที่ปริวรรตเป็นภาษาอังกฤษมาอีกทอด โดยผู้เขียน)
(หนังสือ โพรเส เอ็ดดา ของสนอร์รี่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ส่วนที่หนึ่ง อันเป็นส่วนที่มีข้อความที่ผมยกมาข้างต้นบรรจุอยู่ด้วยนั้นเรียกว่า “กิลฟาจินิง” [Gylfagining] ซึ่งเป็นส่วนที่เดินเรื่องด้วยการพูดคุยกันระหว่างกษัตริย์สวีดิชที่ชื่อ กิลฟี [Glyfi] กับชาย 3 คน ระหว่างประทับอยู่บนบัลลังก์ที่แอสการ์ด [Asgard] ดังนั้น ข้อความในบทกวี จึงมีลักษณะเป็นการถาม-ตอบ และเล่าเรื่อง)
นอกจากนี้ ยังพบเรื่องราชรถเทียมแมวของเทพีองค์นี้อีกในบท “ว่าด้วยเทพเฟรย์ กับเฟรยา” (Of Freyr and Freya) ซึ่งอยู่ในกิลฟาจินิง บทที่ 24 ดังมีข้อความระบุว่า
“ห้องโถงที่ชื่อ เซสสรูมนีร์ (Sessr?mnir, แปลว่า ห้องอันมีที่นั่งกว้างขวาง) ขององค์เทพี (หมายถึงเฟรยา) นั้น ยิ่งใหญ่และงดงามยิ่ง ยามเมื่อไท้เธอจะย่างกรายออกไปข้างนอกก็จะใช้ราชรถที่เทียมเอาไว้ด้วยพวกแมวของพระนาง เทพีนางนี้ช่างเป็นดั่งคำอ้อนวอนขับขานถึงพระนางเป็นที่สุด พระนามของพระนางได้กลายมาเป็นคำว่า ‘ฟรู’ (Fr?) อันเป็นชื่อแห่งเกียรติยศสำหรับเรียกสตรีชั้นสูง บทเพลงรักเป็นสิ่งที่พระนางโปรดปราน จึงเป็นการดีที่เลือกให้พระนางส่งเสริมในความรัก”
ดังนั้น เทพีเฟรยาจึงมีแมวเป็นสัตว์เทียมราชรถไม่ผิดแน่ และที่เป็นอย่างนี้ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะแมวเป็นสัตว์ที่เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมของมนุษย์
หลักฐานการปรากฏตัวของ “แมว” ในสังคมมนุษย์ซึ่งเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมาจน ณ ขณะจิตนี้ มาจากเกาะขนาดใหญ่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่ชื่อว่า “ไซปรัส” ซึ่งวางตัวอยู่ตรงข้ามฟากทะเล กับดินแดนลีแวนต์ อันเป็นถิ่นกำเนิดของเจ้าแมวป่าแอฟริกา ที่จะพัฒนามาเป็นแมวบ้าน
โดยหลักฐานการเลี้ยงแมวของผู้คนบนเกาะไซปรัสนี้เก่าแก่ไปถึงช่วง 11,000-9,500 ปีมาแล้วเลยทีเดียว
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แมวไม่ใช่สัตว์ท้องถิ่นบนเกาะใหญ่แห่งนี้ แต่กลับพบกระดูกของแมวอยู่ในแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ ที่รู้จักการเพาะปลูกแล้วหลายแห่ง
ดังนั้น ก็เป็นมนุษย์เองนั่นแหละ ที่นำพาเจ้าพวกแมวเหมียวขึ้นเรือมายังพื้นที่ห่างไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่ราว 60-70 กิโลเมตร อย่างเกาะไซปรัส
แน่นอนว่า การที่มนุษย์นำเจ้าแมวพวกนี้ติดเรือมาบนเกาะไซปรัสนั้น ย่อมช่วยป้องกันไม่ให้หนูกัดสิ่งของบนเรือ และใช้สำหรับปกป้องผลผลิตทางการเกษตรบนไร่นาของพวกเขา เมื่อเดินทางไปถึงเกาะแล้วด้วย
แถมยังดูเหมือนว่า วิธีการนำแมวขึ้นเรือไปเป็นอารักษ์พิทักษ์ผลิตผลเหล่านั้น จะถูกใช้กันมาอย่างเนิ่นนานต่อมาถึงในยุคสมัยหลังจากนั้น ตามเส้นทางการเดินเรือต่างๆ ไปอีกหลายพันปีเลยทีเดียว
เอกสารเก่าแก่อีกชิ้นหนึ่ง ที่อธิบายถึงสาเหตุที่คนในยุคโบราณนำแมวติดไปบนเรืออยู่เสมอ มาจากเกาะอีกแห่งหนึ่งคือ เกาะญี่ปุ่น ซึ่งก็คืองานเขียนเรื่อง “เครื่องยาญี่ปุ่น” ในยุคเอโดะ (พ.ศ.2146-2411) ที่เขียนโดยนักวิชาการสมัยดังกล่าวที่ชื่อ ไคบาระ เอกิเดน มีข้อความระบุว่า
“ในอดีตห้องสมุดของเขตการปกครองบุซู-คานาซาวะ รับหนังสือมาจากแคว้นถัง (หมายถึง จีน โดยเรียกตามชื่อราชวงศ์ถัง) และเลี้ยงแมวถัง (หมายถึงแมวท้องถิ่นของจีน) ไว้เพื่อป้องกันหนูในเรือ จึงเรียกกันว่าแมวถังของคานาซาวะ”
การที่แมวถูกนำติดไปบนเรือแบบนี้ ย่อมทำให้เจ้าพวกเหมียวได้ติดสอยห้อยตามมนุษย์ไปยังดินแดนต่างๆ และแพร่กระจายจนเป็นสัตว์เลี้ยงในแต่ละท้องที่ ตามแต่ละยุคสมัยไปในที่สุด
ลักษณะอย่างนี้ย่อมเกิดขึ้นกับพวกนอร์ส ซึ่งเป็นทั้งพ่อค้า เกษตรกร และนักเดินเรือ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่แถบสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะเมื่อคนกลุ่มใหญ่ของพวกนอร์สที่รู้จักกันในชื่อว่า “ไวกิ้ง” (Vikings) คือพ่อค้า นักตั้งถิ่นฐาน และนักรบนอกเวลา ที่แผ่อำนาจไปทั่วยุโรปผ่านเส้นทางการเดินเรือ ในช่วงระหว่างเรือน พ.ศ.1336-1609
และในเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว สัตว์ชนิดไหนกันเล่าครับ ที่จะเหมาะสมสำหรับการเทียมราชรถให้กับเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ของพวกนอร์สอย่างเฟรยา มากไปกว่าเจ้าแมวเหมียว ในเมื่อแมวนั้นก็คือ อารักษ์ที่พิทักษ์ผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งก็คือความอุดมสมบูรณ์ที่พระนางบันดาลให้เกิดขึ้นมานั่นแหละ •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022