ขอแสงสว่างในกติกา

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

 

ขอแสงสว่างในกติกา

 

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2567 คือวันที่สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ดำรงตำแหน่งครบวาระห้าปี จากนั้นกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จะได้เริ่มขึ้นโดยเป็นการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และภายใต้ระเบียบ คำสั่งและประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

หลายประเด็นที่ประชาชนอึดอัดใจ เช่น ทำไมต้องคัดเลือกกันเอง ทำไมต้องจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท ทำไมต้องแบ่งเป็น 20 กลุ่ม ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่อย่างไรก็แก้ไขไม่ได้ในปัจจุบันทันที เนื่องจากเป็นรายละเอียดซึ่งอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หากอยากแก้ต้องใช้กระบวนการนิติบัญญัติในรัฐสภา

แต่ ระเบียบ คำสั่ง และประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาทิ ระเบียบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระเบียบการแนะนำตัวสำหรับผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา คำสั่งและประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นสิ่งที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หากไตร่ตรอง คิดรอบคอบ มองจากประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ ย่อมเป็นแสงสว่างให้การดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปอย่างราบรื่น

หากแต่กฎกติกาเหล่านี้ ออกเพียงการยึดติดในตัวหนังสือของกฎหมายหลักและมุ่งตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ใส่ใจการมีส่วนร่วมของประชาชนและประโยชน์ของประเทศ นอกจากจะเป็นความมืดมิดแล้วยังอาจเพิ่มหลุมพรางกับดักในเส้นทางการปฏิรูปการเมืองไทยอีกด้วย

 

ระเบียบการแนะนำตัว

ช่วยให้ผู้สมัครรู้จักกัน?

เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2567 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567

ระเบียบที่มีความยาวเพียง 3 หน้าฉบับนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งสมควรประกาศได้พร้อมๆ ไปกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ที่มีความยาวถึง 287 หน้าซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาล่วงหน้าไปก่อนกว่า 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

หากเวลา 2 เดือนเศษที่ล่าช้า ใช้ไปในการทบทวน ไตร่ตรอง เกี่ยวกับวิธีการแนะนำตัวแล้วได้ระเบียบจำนวน 12 ข้อ ยาวไม่ถึง 3 หน้า แล้วยังมีหลายอย่างที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ถือว่าเป็นการทำงานที่ค่อนข้างสูญเปล่า

ระเบียบที่ออกมาซี่งสมควรเพื่อส่งเสริมให้ผู้สมัครรู้จักกันอย่างเพียงพอก่อนที่จะตัดสินใจเลือกไม่ว่าจะเป็นเลือกตรงในกลุ่มอาชีพเดียวกันหรือเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพที่จับสลาก

วันนี้ดูเหมือนจะยิ่งมียิ่งก่อปัญหา

 

การแนะนำตัวแบบ กกต.

ในระเบียบฉบับดังกล่าว “การแนะนำตัว” หมายถึง การบอก การชี้แจง หรือแจกเอกสาร เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก

ยิ่งข้อมูลข่าวสารมาก ยิ่งทำให้เรารู้จักคนที่เราจะเลือกมาก ยิ่งทำให้การเลือกมีคุณภาพมากขึ้น อันนี้เป็นสัจธรรม

จากเดิมในระเบียบการเลือกฯ ซึ่งระบุให้สามารถแนะนำได้ในรูปแบบเอกสาร ข้อมูลแนะนำตัวผู้สมัคร (ส.ว.3) ที่ให้พื้นที่ประวัติการศึกษา 3 บรรทัดและประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัคร ไม่เกิน 5 บรรทัด ดูน่าจะไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินเลือกใครสักคนไปทำหน้าที่ในระดับประเทศ

มาเป็นระเบียบการแนะนำตัวฯ ที่ออกมาใหม่นี้ มีการเพิ่มพื้นที่เอกสารเป็น 2 หน้ากระดาษ A4 เพื่อให้ใส่รูปถ่าย ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น และให้ใช้เอกสารดังกล่าวในการแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ดูจะเป็นการเพิ่มวิธีการและโอกาสในการแนะนำตัวของผู้สมัคร แต่พอมาเจอข้อความในข้อถัดไปว่า “ให้เผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น” ความสับสนและวุ่นวายก็เกิดขึ้นทันที

ใครคือผู้สมัครอื่นที่อยู่ในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ใครคือผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่มอาชีพอื่นอีก 19 กลุ่ม ใครคือผู้สมัครในอำเภอที่ตนลงสมัคร ใครคือผู้สมัครที่จะมาเป็นผู้เลือกในระดับจังหวัด ใครคือผู้สมัครที่จะมาเลือกในระดับประเทศ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ผู้สมัครแต่ละรายไม่สามารถรับรู้ได้จนกว่ากระบวนการรับสมัครจะเสร็จสิ้น

ทั้งนี้เพราะในข้อ 55 ของระเบียบการเลือก ส.ว. ระบุว่า “ในระหว่างเวลาการรับสมัครจนสิ้นสุดระยะเวลาการรับสมัคร ห้ามมิให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้สมัครและจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่ม” ดังนั้น ผู้สมัครย่อมไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่า ผู้สมัครอื่นมีใครบ้างและจะส่งเอกสารแนะนำตัวไปให้ได้อย่างไร

ในข้อ 58 ของระเบียบฉบับเดียวกัน ให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับอำเภอมอบเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครทุกกลุ่ม คือมอบสำเนาเอกสารแนะนำตัว (ส.ว.3) ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่า 3 วัน และให้เผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย

ระเบียบสองฉบับจึงยึดถือเอกสารแนะนำตัวที่แตกต่างกัน ระเบียบการเลือกฯ ยึดเอกสาร ส.ว.3 ที่มีพื้นที่เขียนแนะนำประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร จำนวน 5 บรรทัด ส่วนระเบียบการแนะนำตัวฯ ยึดเอกสาร A4 ที่ให้สามารถใส่ประวัติและประสบการณ์ได้ 2 หน้ากระดาษ

ระเบียบการเลือกฯ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ เป็นผู้แจกจ่ายข้อมูลผู้สมัครตามแบบ ส.ว.3 ต่อผู้สมัครไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันเลือก ส่วนระเบียบการแนะนำตัวฯ ให้ผู้สมัครแจกจ่ายถึงผู้สมัครด้วยกันเอง แต่จะแจกจ่ายอย่างไรไม่ทราบ เพราะผู้สมัครย่อมไม่มีช่องทางติดต่อกัน และยังกำหนดข้อห้าม ห้ามนำมาแจกจ่ายในวันเลือก

 

ข้อห้ามแนะนำตัวหลังกฤษฎีกา

ข้อ 11 ในระเบียบการแนะนำตัวฯ ระบุถึงการห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวในกรณีต่างๆ อาทิ ห้ามผู้เป็นนักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร ผู้ประกอบวิชาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว การห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

ข้อห้ามเหล่านี้ ด้านหนึ่งสร้างความเป็นธรรม ไม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อใช้สื่อที่มีเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือผู้สมัครอื่น แต่การห้ามที่เลยไปถึงการห้ามผู้สมัครให้สัมภาษณ์แก่สื่อใดๆ หลังมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ดูจะเกินเลยไป

การทำหน้าที่สื่อเพื่อสัมภาษณ์ผู้สมัคร ควรเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องไม่เอนเอียงหรือตั้งใจเพื่อสนับสนุนบุคคลใดเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้สมัครได้มีโอกาสแสดงจุดยืน วิสัยทัศน์ ความรู้ความสามารถ เพื่อให้ผู้สมัครอื่นที่เป็นผู้เลือกได้เห็นและใช้ประกอบในการตัดสินใจเลือก

สมัคร ส.ส. เขายังให้มีดีเบตเพื่อดูวิสัยทัศน์ของผู้สมัครและพรรคการเมือง ยิ่งจัดมากประชาชนยิ่งรู้จักผู้สมัครและพรรคการเมืองมาก นำไปสู่การเลือกตั้งที่มีคุณภาพ เราจึงเห็นการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีบรรยากาศคึกคักมีชีวิตชีวาและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่

ส่วนสมัคร ส.ว.นั้นต้องเงียบที่สุด ผู้สมัครจะให้สัมภาษณ์สื่อ หรือสื่อจะมาสัมภาษณ์ก็ยังไม่ได้ ผู้สมัครด้วยกันจึงแทบไม่มีโอกาสได้ทราบได้รู้ถึงแนวความคิดของผู้สมัครคนอื่น เป็นการเลือกที่มืดมิดที่มองไม่เห็นผู้สมัครอื่น นอกจากประชาชนจะถูกตัดออกจากกระบวนการเลือกแล้ว แม้ผู้สมัครด้วยกันเองก็ยังต้องเลือกในที่มืดแบบคนตาบอด ไม่มีแม้แสงสว่างเล็กน้อยที่จะพอนำทางได้

หรือเจตนาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ท่านประสงค์เช่นนั้น