ไทยสร้างไทย สับรัฐบาลต้นเหตุปัญหาเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่ผู้ว่าธนาคารชาติ เผยเกษตรกร SMEs ทรุดหนัก

นายภัชริ นิจสิริภัช เหรัญญิกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัว เครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจ เช่นการส่งออกกลับมาติดลบ จนมีการกล่าวโทษโยนความผิดกันเกิดขึ้นนั้น ตนมองว่าคนที่อุปสรรคในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่คือตัวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ยังมือไม่ถึงในด้านเศรษฐกิจ คำประกาศหรือนโยบาย ที่ได้หาเสียงและแถลงไว้ต่อรัฐสภาไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้คนไทย

ตั้งแต่นายเศรษฐา เข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาล ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีแต่ขึ้นราคา  ค่าครองชีพสูงเกินรายได้ จนหนี้ครัวเรือนสูงสุดในประวัติการ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 91.4% ต่อ GDP ซึ่งถือว่าโตเร็วสุดในรอบทศวรรษ สาเหตุสำคัญเพราะราคาพลังงานสูงทั้งน้ำมันและไฟฟ้า ที่รัฐบาลไม่กล้าแตะทุนผูกขาด ปล่อยให้ขูดรีดประชาชน

ทั้งยังไม่สามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้ ไม่ดูแลสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะSMEs ขนาดเล็ก ซึ่งได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น จนเกิดภาวะหนี้ในระบบกระทบกับธุรกิจ หากผู้ประกอบการรายใดทุนน้อย ก็จะไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้และต้องยุติกิจการในที่สุด

ขณะที่ภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบาง จากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ส่งออกทรุด ทำรายได้หดตัว
หรือพูดง่ายๆคือหาเงินไม่เป็น เก่งแต่กู้ และกำลังจะกู้มาแจกอีก 500,000 ล้าน ที่คนไทยจะต้องร่วมกันใช้หนี้ชั่วลูก ชั่วหลาน ที่สำคัญอาจทำให้สถานะทางการคลังของประเทศเกิดปัญหา เนื่องจากต้องใช้เงินกู้จากงบประมาณถึง 2 ปีงบประมาณรวมถึงการกู้จากธ.ก.ส.เพื่อมาดำเนินโครงการ ซึ่งนั่นหมายความว่า งบประมาณที่จะถูกนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในด้านต่างๆต้องหดหายไป

จึงขอถามพี่น้องประชาชนว่า ระหว่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับนายเศรษฐา ประชาชนอยากให้ใคควรลาออกมากกว่ากัน

ด้าน นายปริเยศ อังกูรกิตติ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงการเร่งประชาสัมพันธ์นโยบาย ค่าแรง400บาท ของรัฐบาลว่า การเร่งโปรโมททั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ คนรากหญ้า , เกษตรกร , ธุรกิจขนาดเล็ก และอาจรวมถึงภาคการท่องเที่ยวและบริการในช่วง Low season ด้วย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า นายกรัฐมนตรีถูกบีบคั้นด้วยนโยบายที่หาเสียงไว้ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งว่าต้องทำให้ได้ จนรีบเร่งประชาสัมพันธ์นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

แม้นโยบายดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กลับเลือกประชาสัมพันธ์ก่อนที่จะหารือกับไตรภาคี และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กซึ่งมีแรงงานอยู่ในกลุ่มดังกล่าวกว่า 3 ล้านคน จากกำหนดการที่ต้องมีการประชุมกันกลางเดือนนี้ แต่เมื่อรัฐบาลประกาศก่อนล่วงหน้า ยิ่งส่งผลทำให้เกิดแรงต้านจนเป็นที่มาของการแถลงข่าวของสมาคมต่างๆ 52 สมาคม ได้ออกมาทักท้วงแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวทางการขึ้นค่าแรง ทำให้ขั้นตอนการดำเนินนโยบายอาจยิ่งช้าลงไปอีก แต่ผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว

นายปริเยศให้ความเห็นอีกว่า ตอนนี้ภาคธุรกิจขนาดเล็กหรือกลุ่มอาชีพเกษตรกรน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะเนื่องจากต้นทุนนอกเหนือไปจากค่าแรงที่รัฐประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าว่าจะขยับขึ้น ยังคงมีอีกหลายค่าใช้จ่ายที่ยังพุ่งไม่หยุด สวนทางกับรายได้ของพวกเขา อัตราการส่งออกลดลงต่อเนื่อง ทั้งสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ไม่รวมต้นทุนการปลูกการผลิตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงนับได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีเลย

ส่วนธุรกิจด้านอื่นๆรวมถึงภาคบริการ นายปริเยศชี้ว่า ตนเองเป็นห่วงว่าการที่รัฐบาลยังไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องค่าแรงที่ชัดเจนได้จากไตรภาคี รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านพลังงานออกมาแบบประคับประคองสถานการณ์ด้วยการเอาเงินกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนแบบนี้ ตนมองว่าเศรษฐกิจภาพรวมต่อจากนี้แย่แน่ เพราะเอกชนอาจเลือกลดต้นทุนทันทีด้วยการใช้วิธีการลดคนงานที่ขาดทักษะออกก่อน เพราะค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ สูงขึ้นหมดทุกตัวและควบคุมได้ยากกว่าการลดคนงาน

ส่วนธุรกิจด้านบริการที่ช่วงเวลานี้เป็นช่วง low season คงจะเลิกจ้างงานอัตราสูงขึ้น ดังนั้นการที่รัฐบาลวางแผนการทำนโยบายรวมถึงการสื่อสารกับประชาชนแบบไม่มีระบบแบบนี้ ทำให้เอกชนจำเป็นต้องขยับตัวก่อนทันที ทั้งปรับราคาสินค้า , บีบลดต้นทุนโดยเฉพาะกำลังคน ผลลัพธ์แบบนี้ย่อมทำให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะรับเคราะห์อย่างมาก รัฐบาลเองจึงควรต้องไตร่ตรองให้มากกว่านี้ในการประชาสัมพันธ์นโยบาย ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป โฆษกไทยสร้างไทยกล่าว