ฝ่าทางตัน | เอกภาพ พิชัย แก้ววิชิต

พิชัย แก้ววิชิต

“ในวันที่ทางตัน น่ากลัวกว่าทางสามแพร่ง” ตรงทางตันนั้นเป็นจุดนัดพบ ระหว่างช่างภาพหนุ่มกับนักเขียนมือใหม่ บทสนทนาของเขาทั้งสอง เริ่มต้นด้วยคำถามปลายเปิด เพื่อกรุยเส้นทางทางความคิด กับคำตอบที่เปิดกว้าง ณ ที่ตรงทางตัน

“ทำไมถึงอยากเป็นนักเขียน?” ช่างภาพถามอยู่ด้วยรอยยิ้ม

เอ่ออ… อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับ อันที่จริงผมไม่กล้าฝันอยากที่จะเป็นนักเขียนเลยแม้แต่นิด ดูทรงแล้วการเป็นนักเขียน เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผมมาก ความสามารถกับทักษะด้านการเขียน ผมยังตอบตัวเองไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ว่าผมไม่มั่นใจในตัวเองนะครับ แต่ผมไร้ประสบการณ์ในด้านนี้โดยสิ้นเชิง

แล้วจัดการกับมันยังไง ผมหมายถึงวิธีการเล่าเรื่องน่ะ?

มีนักเขียนสาวคนหนึ่ง เคยแนะนำกับผมไว้ว่า “การเขียนก็เหมือนการพูด พูดได้ก็เขียนได้” ครับ มันฟังดูเข้าท่า แต่กับผม โดยปกติแล้ว ผมเป็นพูดน้อยมาก “พูดไม่เก่งย่อมเขียนไม่เก่ง” มันเกือบจะเป็นตามนั้น แต่สุดท้าย ผมเลือกที่จะใช้วิธี “ใจดีสู้เสือ” คือเขียนด้วยใจไปก่อน ใช้ความรัก ความซื่อสัตย์ในสิ่งที่ทำ ให้เป็นตัวช่วยขับเคลื่อน

ผมแค่เล่าเรื่องราวที่ตัวเองพอจะรู้ และได้สัมผัสมาบ้างผ่านความรู้สึก บ่อยครั้งผมมักจะใช้จินตนาการเป็นตัวช่วยในการเรียงร้อยผูกเรื่องราว ผ่านถ้อยคำของตัวหนังสือ เท่าที่พอจะทำได้ในช่วงเวลานั้นๆ

แล้วพอใจกับงานเขียนที่ผ่านมา มากน้อยแค่ไหนครับ? ช่างภาพถามต่อ

ผมคิดว่าในหลายๆ เรื่องที่เคยเขียนไป มันยังไม่ดีพอครับ แม้ว่าผมจะพยามยามทำมันแล้วอย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งคงเพราะชั่วโมงประสบการณ์ของผมมันยังไม่มากพอ แต่ผมก็มีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งที่ว่า “ไม่ใช่แค่เราที่สร้างงาน งานก็สร้างเราได้เช่นกัน ถ้าให้เวลากับมันมากพอ” ในวันที่ผมไม่ลงมือทำ หรือไม่ให้โอกาสตัวเอง ในวันที่มีโอกาส ทักษะของการทำงานก็คงไม่เกิดขึ้น ผมหวังอยู่โดยตลอดนะครับ ว่ามันจะดีขึ้นในสักวัน

แหม… ฟังแล้วอยากกลับบ้าน ไปนั่งเขียนหนังสือบ้างแล้ว ขอบคุณมากคุณนักเขียน ที่ช่วยเล่า แบ่งปันประสบการณ์ ให้ผมฟัง

“ในวันที่ทางตัน น่ากลัวกว่าทางสามแพร่ง” ตรงทางตันที่เป็นจุดนัดพบ ระหว่างช่างภาพหนุ่มกับนักเขียนมือใหม่ บทสนทนาของเค้าทั้งสอง เริ่มต้นด้วยคำถามปลายเปิด เพื่อกรุยเส้นทางทางความคิด กับคำตอบที่เปิดกว้าง ณ ที่ตรงทางตัน / เทคนิค : F.8 1/4000s ISO200 / สถานที่ : สามย่าน กรุงเทพฯ

ด้วยความยินดีครับ ว่าแต่ คุณช่างภาพครับ! ผมอยากจะถามเกี่ยวกับภาพถ่ายสักหน่อย ทำไมถึงชอบถ่ายมุมตึกกับเสาไฟฟ้าล่ะครับ พี่มองยังไงในสิ่งที่ถ่าย?

ครับ สิ่งแรกอย่ามองว่าสิ่งที่กำลังจะถ่ายเป็นตึก หรือเสาไฟฟ้าอย่างที่เรารู้จักและคุ้นเคย ให้มองสิ่งที่ตรงหน้าเป็นเรขาคณิต และภาพถ่ายมันตอบไม่ได้ว่าอะไร ตรงไหนคือสวย “เพราะความสวยของคนเรามันต่างกัน” เราเพียงแค่ถ่ายภาพผ่านมุมมองของความรู้สึกจากสิ่งที่เราเห็น มันเป็นส่วนผสมของจินตนาการ

เล่าในสิ่งที่เห็น ผ่านองค์ประกอบศิลปะ อย่างเช่น เส้น รูปร่าง รูปทรง แสงเงา สีสัน ในแบบที่เราสนใจ มันเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะทำได้ให้ตัวเอง ให้ได้มีอิสระกับการถ่ายถาพ และค่อยๆ เรียนรู้กันไปครับ

อืมม เข้าใจล่ะครับ! “ถ่ายแบบไม่ต้องคิดมาก รู้สึกให้เยอะ และใช้จินตนาการ” ผมจะลองถ่ายแบบที่พี่บอกดูบ้าง ขอบคุณมากนะครับ

ด้วยความยินดีครับ! ช่างภาพตอบกลับคำขอบคุณของนักเขียน อยู่ด้วยรอยยิ้มเหมือนในตอนแรก

เมื่อสมควรแก่เวลา ทั้งช่างภาพและนักเขียนต่างแยกย้ายขอตัวกลับ เดินหันหลังให้ทางตัน ก่อนจะแยกย้ายทางใครทางมัน และผมเองก็เช่นกัน ที่ผ่านพ้นทางตันมาได้ในคราวนี้ คงต้องขอ “ขอบคุณมากมาย” ที่ได้เรื่องราวของคุณนักเขียน และคุณช่างภาพ มาช่วยให้ผมมีเรื่องเล่า ในคราวที่ต้องการจะ “ฝ่าทางตัน”

ขอบคุณมากมายครับ •

 

เอกภาพ | พิชัย แก้ววิชิต