ดรีมทีม 4 รัฐมนตรีคลัง เคลื่อนทัพเศรษฐกิจ อัดนโยบายแก้โจทย์จีดีพีถดถอย

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

ดรีมทีม 4 รัฐมนตรีคลัง

เคลื่อนทัพเศรษฐกิจ

อัดนโยบายแก้โจทย์จีดีพีถดถอย

 

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล “เศรษฐา 1/1” มีการเพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังมาอีก 1 ตำแหน่ง ทำให้กระทรวงการคลังมีรัฐมนตรีถึง 4 คน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอีก 3 คน

ประกอบด้วย นายพิชัย ชุณหวชิร ที่เข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งในตำแหน่งหลังเข้ามาแทนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เดิมนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังเก้าอี้เหนียว เพราะยังมีภารกิจที่ต้องขับเคลื่อน “เต็มมือ” โดยเฉพาะพวกนโยบาย “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ, โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่รัฐบาลอยากผลักดัน หรืออื่นๆ รวมถึงงานประสานงานกับสภาผู้แทนราษฎร

อีกคนที่แข็งโป๊ก ก็คือ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โควต้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งในฐานะอดีตปลัดกระทรวงการคลังที่เพิ่งเกษียณ มีลูกน้องสายตรงเพียบ จึงยังเป็นมือไม้สำคัญที่สามารถช่วยขับเคลื่อนงานของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

ส่วนการเพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งให้กับนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ก็เป็นการปูนบำเหน็จให้กับผู้ที่ทำงานให้พรรคเพื่อไทยอย่างต่อเนื่อง และน่าจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนภารกิจของพรรคเพื่อไทยอย่างเข้มข้นมากขึ้น

 

การจัดทีมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังแบบ “จัดเต็ม” นี้ สะท้อนถึงการที่รัฐบาลคงมีการต้องเร่งผลักดันนโยบายการคลังหลายๆ เรื่องออกมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากขึ้น

หลังจากล่าสุด นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.4% ต่อปี ต่ำกว่าเดิมที่คาดการณ์ที่ 2.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะหดตัวมากกว่าที่คาด โดยในปีนี้คาดว่าส่งออกจะอยู่ที่ 2.3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.2% โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม

รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังหดตัวในระดับสูง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ ชิ้นส่วนและแผงวงจร ที่ปรับตัวลดลงมาก ขณะเดียวกันยังมีผลมาจากภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก ตลอดจนภาคการคลัง จากงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ทำให้มองว่าจากปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อการปรับตัวลดลงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้

นายพรชัยกล่าวว่า หากเม็ดเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตสามารถเริ่มมีการใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสที่ 4/2567 จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% ต่อปี ภายใต้สมมุติฐานว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ประชาชนจะมีการใช้จ่ายเงินในโครงการ Digital Wallet ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

เสียงสะท้อนจาก ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การปรับ ครม.รอบนี้ข้อดีคือ มีคนเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจน จากเดิมที่นายกรัฐมนตรีดูเอง

ขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมทีมกระทรวงการคลัง โดยมีรัฐมนตรีถึง 4 คน ซึ่งนโยบายการคลังตอนนี้สำคัญมาก เนื่องจากช่วง 2 ไตรมาสก่อนหน้านี้ งบประมาณปี 2567 ก็ยังเบิกจ่ายไม่ได้ตามปกติ เม็ดเงินหายไปมาก ซึ่งก็ต้องเข้ามาเร่งรัดเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตที่คงมีการผลักดันกันต่อไป ส่วนระยะกลางและระยะยาวก็ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพการคลัง เนื่องจากปัจจุบันหนี้เริ่มสูงขึ้น และต้องขาดดุลงบประมาณตลอด

“โจทย์ใหญ่ของกระทรวงการคลังก็คือ จะเพิ่มรายได้ต่อจีดีพีได้อย่างไร ตอนนี้คนไม่จ่ายภาษี คนอยู่นอกระบบยังมีเยอะ ถ้าไม่ทำอะไร ฐานภาษีก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่มาก ก็หวังว่ารัฐมนตรีที่เข้ามาจะให้ความสำคัญ”

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT กล่าวว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ข้อดีคือ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีความคล่องตัวมากขึ้น และทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะที่เป็นช่วงเวลาที่มาตรการทางการคลังค่อนข้างมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และค่อนข้างซึมไปจนถึงกลางปี 2567 เพราะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2567 กำลังเข้าสู่ช่วง Low Season ของภาคการท่องเที่ยว และกำลังซื้อภาคเกษตรที่ยังเปราะบาง

อย่างไรก็ดี การปรับ ครม.ครั้งนี้ แม้ว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ซึ่งยังเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย แต่ ครม.ชุดนี้จะทำงานได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่งบประมาณปี 2567 และ 2568 สามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งสามารถนำเม็ดเงินงบประมาณมาพัฒนาโครงการหรือกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้

ดร.อมรเทพกล่าวว่า สิ่งที่คาดหวังในส่วนของมาตรการระยะสั้นคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการประคองเศรษฐกิจ เช่น มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่อ่อนแอ การลดค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง ทั้งครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งไม่ได้เป็นการหว่านแห รวมถึงแผนดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ผ่านมาตรการภาษีต่างๆ ตลอดจนแผนการพัฒนาด้านตลาดทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและต่างชาติ

ขณะที่มาตรการระยะกลางยังคงต้องติดตามต่อในโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะมีผลในช่วงปลายปีนี้ จะเป็นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี ไม่อยากให้นำงบประมาณที่ผ่านแล้วมาใช้ในโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการจัดสรรเม็ดเงินนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วย เพราะถือเป็นโจทย์ใหญ่และสำคัญของรัฐบาลเช่นกันในการประคองเศรษฐกิจให้สามารถผ่านไปได้

“การปรับ ครม.ชุดนี้เชื่อว่าจะมีความคล่องตัวขึ้น เพราะมีงบประมาณในการใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะอย่าลืมว่าในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 การท่องเที่ยวจะเริ่มเข้าสู่ช่วง Low Season และตัวเลขส่งออกล่าสุดออกมาติดลบ ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวหรือระยะยาว ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของภาพเศรษฐกิจที่ต้องเร่งดำเนินการในการหาตลาดใหม่ รวมถึงการขยายความร่วมมือทางด้านวีซ่า เพราะคาดว่าเศรษฐกิจหลังจากนี้ไปจนถึงเดือนตุลาคมยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงยังต้องติดตามข้อโต้แย้งระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลังจะเป็นอย่างไรต่อไป”

คงต้องติดตามฝีมือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของ “ทีมเศรษฐกิจ” ชุดใหม่กันต่อไป