จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 10-16 พฤษภาคม 2567

 

• “ผู้หวังได้การเมืองใหม่”

มือสามัญชน คนธรรมดา

มือชาวประชาผู้ยากไร้

มือผู้หวังได้การเมืองใหม่

มือผู้ไปกาบัตรเลือกตั้ง

กับ มือมืด ที่มองไม่เห็น

ผู้เร้นกาย – ซ่อนปริศนา

งำประกายฉายรัฐนาวา

ไม่เห็นคุณค่ามือประชาชน

ประชาชนคนของแผ่นดิน

แผ่นดินพอกหนี้สินรุงรัง

ผู้คนเหม่อลอยคอยความหวัง

ใต้บัลลังก์ ฝ่ามือ อำมหิต…

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

สิ่งที่ “สงกรานต์ บ้านป่าอักษร”

ต้องการวิพากษ์

น่าจะเป็น วิพากษ์ “การเมือง” โดยรวม

แต่เนื่องจากตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้

ต่อเนื่องไปถึงกรกฎาคม

“การเลือก” ที่ไม่ใช่ “การเลือกตั้ง”

เพื่อให้ได้วุฒิสมาชิก กำลังจะเริ่มขึ้น

เริ่มขึ้นท่ามกลางความไม่แน่ใจ

ว่า “ผู้หวังได้การเมืองใหม่” อันหมายถึงประชาชน

จะได้ การเมืองใหม่ จริงหรือไม่

เพราะ ส.ว.ใหม่ถูกออกแบบให้ห่างไกล และขัดแย้ง

กับความเป็นประชาธิปไตยเหลือเกิน

แม้ตอนนี้ จะมีผู้รักประชาธิปไตยความพยายาม ทลายกรอบนี้

ทั้งการลงสมัคร ส.ว.ให้มากที่สุด

รวมทั้งส่งเสียงให้ความพยายามที่จะทำให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้เงียบ

หรือเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะฝ่ายอำนาจเก่า

ถูกเปิดโปง

ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้กำลังใจ และสนับสนุน

แต่กระนั้น ไม่รู้ว่า “ผู้หวังได้การเมืองใหม่” ทั้งหลาย

จะได้ ส.ว.ประชาธิปไตย แค่ไหน

ซึ่งก็ต้องลุ้น

ต้องให้กำลังใจ

และสู้กันต่อไป

 

• นอกวิชาชีพ

คนรู้มากกลับพูดน้อยลงเรื่อยๆ

พวกหัวขี้เลื่อยจ้อปาวๆๆ

เอาพวกนอกวิชาชีพเข้ามาอ่านข่าว

แทนที่จะเป็นผ้าเหลืองกลับเป็นผ้าขาวที่เข้าถึงธรรม

“อวสานประเทศไทย”

อรูปธรรม

 

ไม่เคลียร์กับสิ่งที่ “อรูปธรรม” สื่อมานัก

เพราะดูจะ “ขัด-ขัด” กันสักนิด

หากเปลี่ยน “แทนที่จะเป็นผ้าเหลืองกลับเป็นผ้าขาวที่เข้าถึงธรรม”

เป็น

“แทนที่จะเป็นผ้าเหลืองกลับเป็นผ้าสีอื่นที่ไม่เข้าถึงธรรม”

อาจจะเคลียร์ขึ้นไหม

หรือ “อรูปธรรม” มีปริศนาอื่นที่ต้องการสื่อ?

พอพูดสิ่งไม่เคลียร์แล้ว

ขอลากเข้าถึง 20 กลุ่มอาชีพที่จะสมัคร ส.ว. ที่กำหนดขึ้นหน่อยได้ไหม

เพราะนั่น ไม่เคลียร์ สับสน มึนงง ยิ่งกว่าหลายสิบเท่า (ฮา)

 

• แรงงานอีสานจบใหม่

อีสานอินไซต์ (ISAN INSIGHT) โครงการภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ประจำเดือนเมษายน 2567

โดยภาพรวมเศรษฐกิจอีสานเดือนนี้ ได้รับผลดีจากเทศกาลสงกรานต์ ทั้งด้านการบริโภค และการท่องเที่ยว

แต่การลงทุนยังคงหดตัว

การท่องเที่ยวอีสานช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 คึกคักเป็นพิเศษ

โดยพบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ

สอดคล้องกับแนวโน้มการท่องเที่ยวภาคอีสานในปี 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบกับสงกรานต์ปีก่อนหน้า

ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคอีสาน

ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเทศกาลวันหยุดยาวสงกรานต์ที่ช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม สินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ยังคงหดตัว

นอกจากนี้ อีสานอินไซต์เห็นความน่าห่วงในกลุ่มแรงงานอีสานจบใหม่ ที่ประสบปัญหาการว่างงานสูง จากการที่ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการแรงงานที่มีประสบการณ์การทำงาน

ที่ถึงแม้ความต้องการแรงงานภาคอีสานแม้จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

แต่ธุรกิจยังมีความต้องการแรงงานที่มีประสบการณ์ทำงาน

สะท้อนจากอัตราการว่างงานของแรงงานจบใหม่ที่อยู่ระดับสูง

ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้อัตราการว่างงานโดยรวมปรับสูงขึ้นอีกครั้ง

อีสานอินไซต์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ประเด็นสำรวจ

พบกลุ่มแรงงานอีสานจบใหม่ ว่างงานสูง

น่าสนใจ และน่าห่วงใย

เพราะ นี่คืออนาคตคนรุ่นใหม่

ที่ไม่สดใส ตั้งแต่ห้วงแห่งการเริ่มต้น

 

• ปัญหา “แก้ไขความจน”

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนเมษายน 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,431 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 22-29 เมษายน 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนเมษายน 2567 เฉลี่ย 4.63 คะแนน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2567 ที่ได้ 5.10 คะแนน

ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.06 คะแนน (ลดลงจากเดือนมีนาคม) ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหาความยากจน เฉลี่ย 4.28 คะแนน (ลดลงจากเดือนมีนาคม)

นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ เศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 46.19

ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 53.51

ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ งานมหาสงกรานต์ ร้อยละ 41.87

ผลงานฝ่ายค้าน ที่ชื่นชอบ คือ ตรวจสอบเงินดิจิทัลวอลเล็ต ร้อยละ 45.61

ส่วนข่าวเหตุการณ์สำคัญที่ประชาชนสนใจในเดือนเมษายน คือ มาตรการช่วยค่าน้ำค่าไฟ ร้อยละ 36.87

รองลงมาคือ เรื่องบิ๊กโจ๊กกับ สตช. ร้อยละ 34.49

จากผลโพลคะแนนดัชนีการเมืองยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ที่ได้คะแนนต่ำสุด

แสดงถึงความสำคัญของปัญหาต่อประชาชนในช่วงนี้ แม้รัฐบาลจะมีผลงานจัดงานมหาสงกรานต์ที่โดนใจประชาชน

แต่ในภาพรวมก็ยังคงต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้จากตัวชี้วัดด้านชีวิตความเป็นอยู่คะแนน ยังไม่ถึงครึ่ง

สอดคล้องกับข่าวที่ประชาชนสนใจคือมาตรการช่วยค่าน้ำค่าไฟซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับครัวเรือนของประชาชนโดยตรง

นางสาวพรพรรณ บัวทอง

นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

ต้องขีดเส้นใต้

ผลการสำรวจ ที่ว่า

“การแก้ไขปัญหาความยากจน ได้คะแนนต่ำสุด”

ซึ่งน่าจะสอดคล้องความเป็นความจริง

โดยไม่ต้อง ซ.ต.พ.?!? •