เกี่ยวกับซิตี้แบงก์ (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

กรณีเป็นที่น่าสนใจ ว่าด้วยการปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจ เกี่ยวข้องกับธนาคารอเมริกันในไทย อยู่มานานกว่าครึ่งศตวรรษ

นั่นคือ ธนาคารในเครือข่าย ซิตี้กรุ๊ป (Citi Group) “ธนาคารชั้นนำของโลก ที่ให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 200 ล้านราย ในกว่า 160 ประเทศ และเขตปกครองทั่วโลก…” ข้อมูลของธนาคารเอง (www.citibank.co.th) ว่าไว้ ตัดตอนมาอย่างสั้นๆ ให้เห็นภาพใหญ่ ส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจในไทย ตั้งใจนำเสนอไว้เช่นกัน

“ซิตี้เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2510 และได้ขยายกิจการจนกลายเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีรากฐานมั่นคงแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยปัจจุบัน ซิตี้ ประเทศไทยให้บริการทางการเงินผ่านทางธุรกิจของซิตี้และธนาคารซิตี้แบงก์แก่ลูกค้าองค์กร สถาบัน และลูกค้าบุคคลมากกว่า 1 ล้านราย…” (ข้อความเน้นไว้ เป็นความจงใจของผู้เขียน)

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว

“ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป ซิตี้กรุ๊ปได้โอนธุรกิจธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคลในประเทศไทย ให้กับธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)…ธนาคารยูโอบี ได้รับอนุญาตจากซิตี้กรุ๊ป ให้ใช้เครื่องหมายทางการค้า “Citi/ซิตี้” “Citibank/ซิตี้แบงก์” “Citigroup/ซิตี้กรุ๊ป” ดีไซน์โค้งสีแดงด้านบนและเครื่องหมายการค้าใดๆ ที่คล้ายคลึงกัน และสัญลักษณ์อื่นใดที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราว”

ถ้อยแถลงสำคัญเป็นทางการ ซึ่งได้รับความสนใจในเวลานี้มากทีเดียว อันเนื่องมาจากกระบวนการ มาถึงขั้นตอนสำคัญ

“ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) (‘ธนาคารยูโอบี’) จะดำเนินการโอนย้ายบัญชีของลูกค้ากลุ่มบุคคลจากธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย มายังธนาคารยูโอบีระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน 2567”

ตามมาด้วยประกาศสำคัญ (เมื่อ 12 เมษายน 2567) ดูน่าตกใจพอสมควรที่ว่า “ตั้งแต่ 21 เมษายน 2567 เป็นต้นไป Citibank Thailand Facebook account จะไม่มีอยู่…”

 

เรื่องราวกว่าครึ่งศตวรรษ เครือข่ายซิตี้แบงก์ในประเทศไทย มีบทบาทกว้างขวางอย่างสำคัญและโดดเด่นเป็นพิเศษ ด้วยความเชื่อโยง ต่อเนื่องกับยุคสมัย ผู้คน และไทม์ไลน์สำคัญๆ ของระบบธนาคารพาณิชย์ และสังคมธุรกิจไทย

จุดเริ่มต้น มากับอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ยุคสงครามเวียดนาม (2507-2518) มิได้มีความหมายเฉพาะในเรื่องการเมืองและการทหาร หรือในรูปของการช่วยเหลือให้คำปรึกษาและการเงิน ในการปรับโครงสร้างสังคมและนโยบายเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอิทธิพลทางธุรกิจ และวิถีชีวิตผู้คนด้วย

ธุรกิจอเมริกันขยายการลงทุนมาอย่างเป็นกระบวน จากสินค้าคอนซูเมอร์ สะท้อนอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิตและรสนิยมของคนไทย ตั้งแต่ตอนนั้น จนฝังลึกในวัฒนธรรมกินอยู่ของสังคมไทยตลอดมา สู่เงินทุน ทั้งในรูปเงินช่วยเหลือ เงินลงทุน และบทบาทธนาคารหรือสถาบันการเงิน

โดยเฉพาะในเวลานั้น การก่อตั้งสถาบันการเงินชั้นรอง โดยเครือข่ายธนาคารอเมริกันเกิดเป็นขบวนอย่างคึกคัก

ในนั้นรวมทั้งซิตี้แบงก์ (ขณะนั้นชื่อ First National City Bank) ด้วย

ผนวกกับอิทธิพลอีกมิติหนึ่ง จากคนไทยนิยมไปเรียนสหรัฐมากขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนมาโฟกัสมากขึ้น กับความรู้ด้านบริหารธุรกิจสมัยใหม่แบบอเมริกัน เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นในโลก มากขึ้นในยุคสงครามเวียดนาม

นั่นคือปรากฏการณ์ MBA (ปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ) กับการสร้างมืออาชีพผู้ทรงอิทธิพลกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย สามารถเข้ามาอยู่ในใจกลางสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะแวดวงทางการเงิน

คนหนึ่งในนั้นคือ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ผู้ใช้ชีวิตการศึกษาในสหรัฐ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนถึง MBA เริ่มต้นทำงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ กับเครือข่ายซิตี้แบงก์ เพียงสั้นๆ ตามแผนการวางตัวมาบริหารกิจการเพิ่งก่อตั้งใหม่ที่สำคัญในไทย – First National City Development Finance Corporation (Thailand)

 

เวลานั้นซิตี้แบงก์ (ภายใต้ชื่อ First National City Bank) เป็นเครือข่ายธนาคารอเมริกันในไทยที่เอาการเอางานเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ก่อนหน้าได้วางรากฐานธุรกิจไว้แล้วบางส่วน ตั้งแต่ปี 2510 ก่อตั้ง The Commercial Credit Corporation (Thailand) Ltd. ธุรกิจให้กู้ยืมสำหรับรถยนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภค

ปีถัดมา (2511) เปิดตัว Diners Club ให้บริการด้านบัตรเครดิตรายแรกของไทย

จังหวะก้าวสำคัญเป็นไปตามกระแสและโอกาสเปิดช่องให้สถาบันการเงินชั้นรองเกิดขึ้น เข้ากับกระแสธุรกิจอเมริกันเข้ามาเมืองไทย ตามโมเดลการร่วมทุนกับธุรกิจใหญ่ไทย ในหลายกรณี

อาทิ Banker Trust ร่วมมือกับตระกูลล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทยในบริษัทเงินทุนทิสโก้ (TISCO) ในปี 2512

ตามมาด้วย Chase Manhattan Bank ร่วมทุนกับตระกูลล่ำซำ และเครือญาติใน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร (CMIC) ในปี 2513

สำหรับซิตี้แบงก์แล้ว มีแผนการใหญ่กว่านั้น นอกจากตั้งกิจการจองตนเอง – First National City Development Finance Corporation (Thailand) ในปี 2512

ขณะเดียวกันเดินตามโมเดลร่วมมือกับตระกูลโสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพ ก่อตั้งบริษัทเงินทุน – Bangkok First Investment Trust, Ltd.(BFIT)

 

ว่าเฉพาะผู้คนเกี่ยวข้องกับซิตี้แบงก์ – ธานินท์ นิมมานเหมินท์ ผู้มีบทบาทโดดเด่นต่อจากนั้นอีกหลายทศวรรษ จากทำงานที่นี่ในช่วงต้นๆ ราว 3-4 ปี (2513 -2517) ก้าวเข้ามาบริหารธนาคารเก่าแก่ของไทย-ธนาคารไทยพาณิชย์ เกือบ 2 ทศวรรษ ก่อนไปมีบทบาทสำคัญทางการเมืองกำกับนโยบายการเงินการคลัง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) 2 ช่วงสำคัญ คาบเกี่ยวก่อนและหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540

จากนั้นซิตี้แบงก์แสดงให้เห็นแผนการเข้าสู่ระบบธนาคารไทยอย่างจริงจัง ด้วยดีลประวัติศาสตร์ เชื่อว่าอยู่ในความทรงจำของผู้คน กับธนาคารในตำนานเก่าแก่อันดับสองของไทย เกี่ยวข้องกับนักเรียนเก่าอเมริกันอีกคน ผู้เป็นทายาทธุรกิจครอบครัวไทย

ตำนาน ธนาคารหวั่งหลีจั่น ก่อตั้งขึ้นปี 2476 เป็นธนาคารไทยแห่งที่ 2 (แห่งแรกคือ สยามกัมมาจล หรือไทยพาณิชย์ปัจจุบัน) มีความหมาย ลึกซึ้งพอสมควร ในประวัติศาสตร์ธุรกิจครอบครัวดั้งเดิมรากฐานสังคมธุรกิจไทย

ในช่วง 40 ปีแรก ธนาคารแห่งนี้ทำหน้าที่อย่างจำกัด เชื่อมโยงอย่างเฉาะเจาะจงธุรกิจครอบครัวของตระกูลหวั่งหลี ตระกูลธุรกิจ ในตำนานชาวจีนโพ้นทะเล สู่สังคมสยาม เมื่อศตวรรษที่แล้ว เมื่อผ่านเข้าสู่รุ่นที่สามมี สุวิทย์ หวั่งหลี บุตรชายคนโตของ ตันชิวเม้ง ในฐานะผู้นำรุ่น เรื่องราวธนาคารเก่าแก่นั้น จึงถึงเวลาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

สุวิทย์ หวังหลี ผู้ผ่านการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาอีกคน หากเป็นรุ่นก่อน ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ นับทศวรรษ เขาใช้เวลาเรียนรู้ธุรกิจครอบครัวพักใหญ่ (ช่วง 2500-2516) ก่อนตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยดีลใหญ่ในปี 2516 ชักนำซิตี้แบงก์ เข้ามาถือหุ้น 40% ในธนาคารหวั่งหลีจั่น ที่สำคัญทีมงานซิตี้แบงก์เข้ามามีบทบาทบริหารธนาคารด้วย

พร้อมๆ กับการเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารหวั่งหลี กลายเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ใช้ระบบธนาคารอเมริกัน ในขณะธนาคารไทยทั่วไปใช้ระบบอังกฤษ

 

ซิตี้แบงก์ บริหารธนาคารหวั่งหลีอยู่ 7 ปี ก็หมดสัญญา สุวิทย์ หวั่งหลี และทีม เข้าบริหารอย่างเต็มตัว พร้อมกับการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ให้ซิตี้แบงก์ลดสัดส่วนลง เปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็นธนาคารนครธน และเข้าจดทะเบียนกับตลาดหุ้น (ปี 2523)

เปลี่ยนจังหวะเดียวกัน ซิตี้แบงก์ในระดับโลกปรับเปลี่ยนโครงสร้างกิจการ ในปี 2522 First National City Development Finance Corporation (Thailand) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Citicorp Finance and Securities (Thailand) Ltd ขณะเครือข่ายซิตี้แบงก์ในประเทศไทย ขยายกิจการกว้างขึ้น แตกแยกย่อยบริษัทหลากหลายมากขึ้น

แล้วมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในปี 2527 “แบงก์ได้ซื้อกิจการสาขาประเทศไทยของธนาคารเมอร์แคนไทล์ ธนาคารสัญชาติอังกฤษ และได้ถอนหุ้นออกจากธนาคารหวั่งหลีในเวลาต่อมา” ไทม์ไลน์ซิตี้แบงก์ในประเทศไทยระบุไว้

อีกก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่งซึ่งมีความหมาย ตามมาอย่างกระชั้น ในฐานะเพียงสาขาธนาคารต่างประเทศ แต่มีบทบาทบุกเบิก retail banking ท้าทายระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในเวลานั้น

“2529 ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพฯ ได้เริ่มให้บริการธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน” อีกตอนของไทม์ไลน์กล่าวไว้อย่างตั้งใจ •

 

หมายเหตุ เชิงอรรถเพื่ออัพเดตข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับบุคคล และบริษัทซึ่งอ้างถึง จะขอนำเสนอในตอนหน้า

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com