ข้าม ‘เส้นแดง’ ในตะวันออกกลาง ! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สถานการณ์ความมั่นคงในตะวันออกกลางดูจะมีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เกิดเหตุการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 และตามมาด้วยการตอบโต้ทางทหารขนาดใหญ่ของอิสราเอล ด้วยการเปิดการโจมตีในพื้นที่กาซา อันเป็นปฏิบัติการทางทหารที่สร้างความสูญเสียให้กับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนที่มีเป็นจำนวนมาก จนต้องยอมรับว่า สงครามกาซาทำให้เกิด “วิกฤตมนุษยธรรม” ที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งของโลก คู่ขนานกับวิกฤตมนุษยธรรมที่เกิดในยูเครน และในซูดานในปัจจุบัน

สงครามในกาซายังนำไปสู่ความเกี่ยวพันกับปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มฮูตีในทะเลแดง และกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ทางภาคใต้ของเลบานอน (หรือโดยนัยทางภูมิศาสตร์คือภาคเหนือของอิสราเอล) แต่ทุกคนดูจะมีความหวังว่า สงครามจะไม่ยกระดับ และไม่ขยายตัวเกินกว่านี้ เพราะหากสงครามยกระดับขึ้นแล้ว ก็ไม่มีหลักประกันว่า สงครามจะขยายตัวกลายเป็น “สงครามตะวันออกกลาง” หรือไม่

หลายๆ ฝ่ายในการเมืองโลกตระหนักดีว่า หากความขัดแย้งชุดนี้ขยายตัวจนกลายเป็นสงครามในระดับภูมิภาคดังเช่นที่เคยเกิดแล้วในปี 1967 และ 1973 แล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการเมืองและเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจโลกเพิ่งอยู่ในภาวะที่เริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากถูกกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์สงครามซ้ำอีก ดังเช่นผลลบจากสถานการณ์สงครามยูเครน และหากตามด้วยสงครามตะวันออกกลางด้วยแล้ว ก็อาจสร้างความชะงักงันทางเศรษฐกิจในระดับโลกได้อย่างมาก

อีกทั้ง ทุกคนตระหนักดีว่า การขยายตัวของสงครามในตะวันออกกลาง เป็น “สงครามใหญ่” นั้น จะส่งผลโดยตรงให้เกิด “วิกฤตพลังงานโลก” และอาจส่งผลให้เกิด “วิกฤตเศรษฐกิจโลก” ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย ฉะนั้น ทุกฝ่ายจึงไม่มีใครต้องการเห็นการขยายตัวของสงคราม ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤต 2 ชุดนี้ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทั้ง สงครามจะถูกทับซ้อนด้วยปัญหาการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่อีกด้วย

ฉะนั้นในช่วงที่ผ่านมา เมื่อสงครามยังไม่ขยายตัวออกจากพื้นที่ความขัดแย้งโดยตรงในกาซา หรืออย่างน้อยอาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ความขัดแย้งจำกัดอยู่เฉพาะในส่วนของกาซา แม้จะมีปัญหาพาดโยงไปกับการโจมตีในเลบานอนภาคใต้ และในทะเลแดง ก็ตาม ซึ่งต้องถือว่ายังเป็นเรื่องดี เพราะสงครามยังไม่ขยายไปมาก

ขณะเดียวกันในอีกด้าน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซาอย่างมาก เนื่องจากเป็นปฏิบัติการที่โจมตีพลเรือนอย่างไม่จำแนก ดังที่กล่าวแล้วว่า สงครามของอิสราเอลในกาซาได้สร้าง “วิกฤตมนุษยธรรม” ชุดใหญ่ และทำให้เกิดแรงต่อต้านปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในหลายประเทศทั่วโลก อันทำให้ภาพลักษณ์ของอิสราเอลติดลบอย่างมาก

ภาวะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า แม้โลกจะแสดง “ความเห็นใจ” ต่ออิสราเอลที่ถูกโจมตีในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 แต่ความเห็นใจที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้อนุญาตให้อิสราเอลใช้อำนาจทางทหารโจมตีกาซาอย่างเกินเลย จนทำให้เกิดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังเช่นที่ปรากฏเป็นภาพข่าวในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความชุลมุนของสงครามในกาซา สิ่งที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดมาก่อนก็คือ การตัดสินใจของอิสราเอล ในการโจมตีสถานกุงสุลของอิหร่านในซีเรียในวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ว่าอิสราเอลจะคิดอย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับความจริงว่า การโจมตีดังกล่าวทำให้สงคราม “ยกระดับ“ ขึ้นทันที เนื่องจากปฏิบัติการนี้สังหารนายทหารระดับสูงของอิหร่านถึง 2 นาย ซึ่งการโจมตีครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่อิสราเอลถูกวิจารณ์อย่างมาก เพราะเป็นการโจมตีสถานทูต ซึ่งในทางกฎหมายระหว่างประเทศมีสถานะเป็นดังดินแดนของรัฐนั้นๆ

การโจมตีในวันที่ 1 เมษายน จึงเป็นเสมือนกับการ “ข้ามเส้นแดง” ที่อิสราเอลไม่เคยปฏิบัติการทางทหารในลักษณะเช่นนี้มาก่อน เพราะเป็นดังการโจมตีโดยตรงต่ออิหร่าน ซึ่งแต่เดิมอาจจะเป็นเป้าหมายในลักษณะที่แตกต่างออกไป เช่น ที่ตั้งของฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน ที่ไม่มีนัยโดยตรงต่อการโจมตีเป้าหมายที่เป็นอิหร่าน

การโจมตีของอิสราเอลส่งผลให้เกิดการคาดคะเนอย่างมากว่า อิหร่านจะดำเนินการตอบโต้แบบใด ซึ่งคาดกันในเบื้องต้นว่า การตอบโต้ต่ออิสราเอลนั้น อาจจะเป็นในรูปแบบเดิมคือ “การก่อการร้าย” ดังจะเห็นได้ว่า หลังการโจมตีดังกล่าวแล้ว รัฐในยุโรปดูจะยกระดับมาตรการในการเตรียมรับมือกับการก่อการร้าย

แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงก็คือ อิหร่านตัดสินใจโจมตีอิสราเอลด้วยโดรน อาวุธปล่อย (จรวด) และขีปนาวุธ เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 300 ลูก ซึ่งเป็นดังการ “ข้ามเส้นแดง” ของอิหร่าน เป็นการยกระดับสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นการโจมตีต่อเป้าหมายในดินแดนของอิสราเอลโดยตรง ซึ่งอิหร่านไม่เคยปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้มาก่อน แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอิสราเอลจะอยู่ในระดับต่ำมาก เพราะอาวุธที่ใช้การโจมตีดังกล่าวถูกทำลายเกือบทั้งหมดก่อนถึงเป้าหมาย

กระนั้น ผลจากการโจมตีของอิหร่านในวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา จึงเสมือนกับการพาอนาคตของตะวันออกกลางแขวนไว้บนเส้นด้ายบางๆ ทีไม่มีใครคาดเดาได้ว่า นับจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น … วันนี้ ไม่มีใครอยากเห็นสงครามใหญ่ในตะวันออกกลางอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้การเมืองโลกไร้เสถียรภาพทันที

แม้จะมีสัญญาณบวกให้เห็นอยู่บ้างคือ อิหร่านประกาศยุติปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว เพราะถือว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการในการโจมตีตอบโต้อิสราเอลแล้ว ขณะเดียวกัน อิสราเอลประกาศว่า จะมีการตอบโต้อิหร่าน แต่ก็ยังไม่ลงมือจริง และไม่มีใครคาดเดาได้ว่า สุดท้ายแล้ว อิสราเอลจะตอบโต้แบบใด และไม่อยากคิดว่าสงครามจากนี้ จะยกระดับขึ้นอีกเพียงใด

สถานการณ์ในตะวันออกกลางนับจากวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ยกระดับขึ้นทีละขั้นๆ จนกลายเป็นความน่ากังวลใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน สงครามในยูเครนก็ไม่มีสัญญาณของสันติภาพแต่อย่างใด หรือเป็นอย่างที่เรามักจะกล่าวล้อเล่นกันว่า “นกพิราบแห่งสันติภาพถูกยิงตายกลางสนามรบไปแล้ว!” ดังนั้น ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน จึงไม่แปลกอะไรที่คนจะกลัว “สงครามโลกครั้งที่ 3” !