ขอแสดงความนับถือ

ในห้วงหยุดยาว

ข่าวใหญ่ที่ตีคู่กันมาตลอด

คือ “สงกรานต์” และ “สงคราม”

ดูย้อนแย้งอยู่ตามสมควร

ด้วย สงกรานต์ เป็นความสุข สนุกสนาน

ส่วน สงคราม เป็นความทุกข์ และทรมาน

แต่ทั้งสงกรานต์ และสงคราม ก็มาเคียงคู่ในห้วงเวลาเดียวกัน

 

ว่าด้วยสงครามก่อน

ล่าสุดคือ ศึกระหว่างอิหร่านและอิสราเอล

แม้ดูไกลตัว แต่ผลกระทบที่จะเกิดไปทั้งโลก รวมถึงไทย คือเศรษฐกิจ ที่อาจก้าวไปสู่ “วิกฤต” ได้ง่ายๆ

ขณะที่เราต้วมเตี้ยมอยู่กับการจะแจกเงินหมื่นกระตุ้นวิกฤต ในช่วงปลายปี

ไม่รู้จะทัน “วิกฤต” หรือเปล่า

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า มีแรงงานไทยอยู่ในอิสราเอลอีกหลายหมื่น ขณะที่อิหร่านมีคนไทยอยู่หลายพัน

หากทั้งสองชาติเดินหน้าถล่มกันไม่หยุด

“วิกฤตแรงงาน” ก็จะเกิดขึ้นอีก

 

นอกจากสงครามอิหร่าน-อิราเอลแล้ว

สงครามที่ใกล้ตัวเรามากกว่าก็คือ สงครามในเมียนมา

คอลัมน์เปลี่ยนผ่าน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์” อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาร่วมสมัย

เตือนรัฐบาลรับมือและทำการบ้านให้ดี

เหตุการณ์ใน “เมียวดี” เป็นสัญญาณต่อรัฐบาลไทยแล้วว่า จะ “ช้า” กว่านี้ไม่ได้

เพราะชายแดนทั้งหมดของเราจะไม่มีพื้นที่อยู่ติดกับ “พม่าแท้” หรือจะไม่มีพื้นที่อยู่ติดกับเนปิดอว์อีกแล้ว

นี่คือสิ่งที่เร่งด่วน ที่อาจารย์ลลิตา อยากให้รัฐบาลปรับตัวให้ทัน และต้องทำอะไรหลายอย่าง

โดยเฉพาะกับ “กลุ่มชาติพันธุ์” อื่นที่กำลังรุกไล่ “พม่า”

จากเรื่องสงคราม อันเป็นเรื่อง “ลบ”

มาว่าถึงสงกรานต์ ซึ่งน่าเป็นเรื่อง “บวก”

โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ที่ดูชุ่มชื้นหัวใจของหลายคน

และดูเหมือนจะเผื่อแผ่ลงไปถึง “เศรษฐกิจระดับล่าง” อยู่ตามสมควร

หาบเร่แฝงลอยในย่านคนเล่นน้ำ คึกคักอย่างมาก

แต่กระนั้นหลังเทศกาล “หาบเร่แฝงลอย” ก็ต้องกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง

เป็น “ความจริง” อย่างที่คอลัมน์ “พื้นที่ระหว่างบรรทัด” ของ “ชาตรี ประกิตนนทการ” หยิบมาชี้ชวนให้คิดในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

 

อาจารย์ชาตรีเห็นโพสต์หนึ่งจาก facebook page แม้ปัจจุบันโพสต์นี้ถูกลบ (หรือซ่อนจากสาธารณะ) ไปแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งควรไตร่ตรอง

โพสต์ดังกล่าวแสดงภาพบริเวณทางเท้าแยกราชดำริก่อนถึงพระพรหมเอราวัณที่มีรถเข็นขายของและผู้คนนั่งอยู่บนเสื่อริมขอบถนน

พร้อมแคปชั่นประกอบคำอธิบายภาพ ความว่า

“…น่าจะมีสิบล้อเสียหลักพุ่งมาแถวนี้บ้างนะ…แล้วก็ลากไปให้ถึงสำนักงานอะไรซักอย่างที่อยู่ตรงนั้น แวะกวาดเอาไอ้พวกสันหลังยาวที่อยู่ในนั้นไปด้วย ตัวไหนตายก็ไปวัดปทุมฯ ข้างหน้านั่น ตัวไหนสาหัสก็เข้า ร.พ.ตำรวจ ใกล้ๆ…”

ปิดท้ายข้อความด้วยอิโมจิหัวเราะจนน้ำตาไหล

อาจารย์ชาตรีบอกว่า แม้เชื่อว่าคนโพสต์ไม่ได้ต้องการให้เกิดเหตุการณ์สิบล้อเสียหลักจริงๆ

แต่การเขียนข้อความดังกล่าวออกมาได้พร้อมกับหัวเราะอย่างสนุกสนาน

ชวนให้ตกใจกับวิธีคิดและจิตสำนึกของคนโพสต์

ตกใจกับการพยายามทำให้ “ทางเท้าไร้หัวใจ”

คือเป็นทางเท้าที่มีไว้สำหรับการเดินเท่านั้น

จริงหรือ?

 

ปรากฏการณ์ “ทางเท้าไร้หัวใจ” นี้ อาจารย์ชาตรีชี้ชวนให้มองว่าคือชัยชนะของคนชั้นกลางระดับบน (ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ)

แต่ในอีกด้านหนึ่งคือความพ่ายแพ้ของคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง

ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิและอำนาจในการกำหนดชีวิต การใช้งาน และความเปลี่ยนแปลงของเมือง

ปรากฏการณ์นี้ เป็นสิ่งที่ชวนคิด และตรึกตรอง สำหรับความเมืองอย่างยิ่ง

แม้จะไม่รุนแรงเท่าสงคราม

แต่ก็นำไปสู่ความทุกข์ยากไม่ต่างกันเลย

จริงหรือไม่ โปรดติดตาม •