จีนขาลง : ข้อทักท้วงของริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ (3)

เกษียร เตชะพีระ

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญจีนและเอเชียตะวันออกสังกัดสถาบัน Lowy Institute ของออสเตรเลียได้ให้สัมภาษณ์ จีเดียน ราคมัน แห่ง น.ส.พ. The Financial Times เมื่อกุมภาพันธ์ศกนี้ (https://www.ft.com/content/943fc54d-f2b4-44ea-aa0f-ae49f16ee033) โดยทักท้วงข้อเสนอ “จีนสุดยอด -> จีนขาลง” ดังรายละเอียดต่อจากตอนก่อนดังนี้ :-

อำนาจผูกขาดรวมศูนย์แต่นโยบายผันผวนพลิกไหว

จีเดียน ราคมัน : [การที่รัฐบาลจีนสะกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ให้แตกโพละนำไปสู่กระแสคลื่นกิจการล้มละลาย ฉิบหายวายป่วงต่อเนื่องกันเป็นชุดยาวเหยียด…] และตัวเลขมันมหาศาลเลยนะครับ อย่างกลุ่มบริษัทเอเวอร์แกรนด์ (中国恒大集团) นี่ หนี้สินของมันเท่าไหร่นะครับ?

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในทางทฤษฎีครับ (https://www.ft.com/content/aff2f3ca-fbee-46f8-93ef-34ae1b330eb9) รู้ไหมครับมันมีระเบิดหนี้สารพัดแบบกองเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วเมืองจีนทีเดียวด้วยเหตุผลต่างๆ นานากันไป แล้วพวกเขาจะค่อยๆ ออกจากสภาพนี้ได้ไหม? หรือว่าจะต้องหาทางเอาหนี้สารพัดแบบเหล่านั้นออกไปจากงบดุลแล้วรวมมันไว้ในพาหะประเภทธนาคารหนี้เสียแทน?

แต่เรื่องน่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งอยู่ตรงผมคิดว่าในหนึ่งปีที่ผ่านมาหลังพ้นจากโควิดระบาดนี่ มีความผันผวนพลิกไหวมหาศาลในการวางนโยบายครับ วันหนึ่งทางการจีนก็บอกว่าเรารักชาวต่างชาตินะ มาร่วมมือกันแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่ายเถอะ เรารักการลงทุนโดยตรงของต่างชาตินะ เข้ามาเถอะจ้ะอะไรทำนองนั้น นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง ออกไปร่วมการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกที่ดาวอสและก็กล่าวปราศรัยชนิดที่คนเขาปราศรัยกันที่ดาวอสนั่นแหละครับ

แต่แล้ววันถัดไปทางการจีนก็บุกจู่โจมบริษัทต่างชาติต่างๆ ตั้งป้อมไฟปิดกั้นเศรษฐกิจจากพวกอเมริกัน เพิ่มขยายขอบเขตของกฎหมายต่อต้านการจารกรรมออกไปแล้วเที่ยวไล่จับกุมชาวต่างชาติ (https://www.cnbctv18.com/photos/world/us-companies-struggle-to-operate-in-china-as-raids-and-exit-bans-mount-17677581.htm)

ตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ที่นั่น? ไอ้ความผันผวนพลิกไหวที่ว่านี้มันเป็นผลจากการโต้แย้งถกเถียงในระบบใช่ไหม พูดอีกอย่างก็คือในที่สุดมีใครบางคนหันมาผลักดันต่อต้านสี จิ้นผิง?

หรือว่าตัวสี จิ้นผิง เองน่ะแหละที่กลับลำมาตัดทอนปรับเปลี่ยนทัศนะของตัวเองเมื่อตระหนักว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงก่อปัญหาบางอย่างที่ไม่แน่ว่าจะช่วยให้ความมั่นคงแห่งชาติดีขึ้น? มันมีเชื้อมูลการโต้แย้งถกเถียงกันอยู่ในระบบบ้างไหม? เพราะที่ผ่านมานโยบายเศรษฐกิจในจีนขึ้นต่อการโต้แย้งถกเถียงกันอย่างเปิดเผยยิ่งกว่าเป็นอันมากเสมอเมื่อเทียบกับประเด็นการเมือง ฉะนั้น บางทีเราอาจจะกำลังกลับไปสู่สภาพที่ว่านั้นหรือเปล่า? รึว่ามันเป็นแค่ความโกลาหลวุ่นวายระหว่างที่พวกเขายังไม่ทันตัดสินใจได้ลงตัวกันแน่?

จีเดียน ราคมัน : แล้วคุณเดาว่าเป็นกรณีไหนล่ะครับ?

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ผมเองอยู่ค่ายความผันผวนพลิกไหวครับ ผมคิดว่าแหงล่ะ สี จิ้นผิง เป็นเจ้านายใหญ่แน่ๆ ถ้าคุณดูองค์ประกอบของคณะกรรมการประจำแห่งกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนอันเป็นกลุ่มสุดยอดในประเทศ 7 คน ก็จะพบว่าทั้งหมดล้วนระบุตัวได้ว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อสี จิ้นผิง

สภาพที่ว่านั้นผิดปกติวิสัยอย่างยิ่งนะครับในการเมืองจีน ถ้าคุณย้อนกลับไปกระทั่งถึงปี 1949 ที่จีนคอมมิวนิสต์เพิ่งปลดแอก ผู้นำทุกคนล้วนมีประดาคู่แข่งหรือค่ายหรือเครือข่ายแตกต่างกันที่ระบุออกมาได้อยู่ในระดับสุดยอดทั้งสิ้น และสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับสี จิ้นผิง ก็คือเขากำจัดพวกนั้นทิ้งหมด

ทีนี้ข้อที่เป็นปฏิทรรศน์ก็คือเนื่องจากสีไว้วางใจคนเหล่านี้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตัวนายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง เป็นต้น นั่นหมายความด้วยไหมว่าเขายอมปล่อยให้คนเหล่านี้เสนอความคิดที่แตกต่างออกไป? เขาอยู่ในวิสัยที่จะถูกโน้มน้าวจูงใจได้หรือไม่ ในเมื่อเขาไว้วางใจคนเหล่านี้มากกว่าหน่อย?

แน่ล่ะครับว่านั่นเป็นสายใยการคิดเส้นหนึ่งที่ผมเพ่งเล็งรวมศูนย์อยู่ เพราะถ้าคุณมองดูผู้คนระดับสุดยอดของกรมการเมืองแล้ว เพียงเพราะพวกเขาจงรักภักดีต่อสี จิ้นผิง นั่นหมายความด้วยหรือครับว่าพวกเขาต้องเป็นแค่สมุนบริวารหรือลูกขุนพลอยพยักไปด้วยน่ะ? แล้วถ้าคุณดูคนอย่างนายกฯ หลี่เฉียง ผู้มีประวัติผลงานทางการในมหานครอย่างเซี่ยงไฮ้ เขามีประสบการณ์มากมายในการบริหารจัดการเมืองต่างๆ ซึ่งอยู่ใต้การครอบงำของภาคเอกชนในจีนนะครับ

ดังนั้น ผมก็เลยพลิกแพลงยืดหยุ่นนิดหน่อยในประเด็นนี้เพราะบรรดาปัญหาทางเศรษฐกิจเปิดช่องให้นำเอาชุดนโยบายที่ดีกว่าเข้ามาใช้ได้หรือเปิดช่องให้เป็นไปได้ที่จะโต้แย้งถกเถียงกันเรื่องการนำเอาชุดนโยบายที่ดีกว่ามาใช้ มันยังไม่ถึงจุดนั้นหรอกครับ แต่ผมก็ยังไม่คิดว่าการโต้แย้งถกเถียงกันทางเศรษฐกิจมันตายสนิทแล้วเหมือนกัน

 

ภัยคุกคามเสถียรภาพทางการเมือง

จีเดียน ราคมัน : แล้วคุณทึกทักด้วยไหมครับว่าถึงแม้ผู้คนมากหลายโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวกำลังอยู่ในช่วงยากลำบากในจีน แต่กระนั้นมันก็ไม่มีปัญหาภัยคุกคามเสถียรภาพทางการเมืองจริงจังอะไรหรอก? ผมหมายความถึงเรื่องที่เราคุยเล่นกันก่อนหน้านี้ว่าผู้คนพูดว่าระบบการเมืองจีนนั้นอ่อนเปราะ คุณคิดว่ามันอ่อนเปราะจริงไหมครับ? หรือคุณคิดว่าสี จิ้นผิง สามารถฟันฝ่าผ่านสภาพการณ์ที่ว่านี้ไปได้โดยไม่มีปัญหาอะไรมากเกินไป?

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : อันที่จริงนั่นเป็นคำถามที่น่าสนใจมากนะครับ เอาล่ะมันชัดเจนว่าไม่มีภัยคุกคามใดๆ ต่อสี จิ้นผิง เท่าที่เราพอจะเห็นได้ เขาคุมกรมการเมือง เขาคุมองค์การทั้งหมดของรัฐ-พรรคไม่ว่าในด้านบุคลากร งานโฆษณา ฯลฯ

เขาเข้ายึดกุมองค์การความมั่นคงของรัฐกระชับแน่นขึ้นไปอีก เขายังคงกวาดล้างในกองทัพและตั้งคนของตัวไปไว้ที่นั่นแทน แน่ล่ะครับว่านั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดีนักที่เขายังต้องทำแบบนั้นอยู่ แต่ก็อีกนั่นแหละ มันไม่มีความรู้สึกว่าได้เกิดความกระด้างกระเดื่องแข็งข้อใดๆ นอกเหนือไปจากการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในกองทัพ

แต่ถ้าคุณเจอสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยปกติสักสามสี่ปีในจีนเข้า บวกกับอัตราว่างงานสูงในหมู่เยาวชนสืบต่อไป แถมรายได้ยังชะงักงันแล้วละก็ คุณต้องนึกถึงข้ออวดอ้างซึ่งช่วยให้พรรคคอมมิวนิสต์เถียงชนะที่ผ่านมานะครับว่าเราทำให้พวกคุณมั่งคั่งขึ้น สี จิ้นผิง น่ะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์และศัตรูเป็นฝูงที่คอยมองหาประเด็นจุดอ่อนมาเกาะเกี่ยวเพื่อจะได้กลับเข้าไปสู่เกมอำนาจอีก

สีจะเข้าสู่การครองตำแหน่งอำนาจสมัยที่สี่ในปี 2027 ถ้าเผื่อตอนนั้นเรามีเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไม่ได้กำลังดีขึ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงดิ้นรนที่จะฟื้นตัว ถ้าเป็นแบบนั้นผมคิดว่าเขาก็อยู่ในภาวะล่อแหลมครับ

ผมก็แค่คิดว่าเราไม่ควรทึกทักเอาอย่างอัตโนมัติว่าเขาจะครองอำนาจสืบต่อไปได้เรื่อยๆ ชั่วกาลนาน เราเรียกการเมืองจีนว่าการเมืองของชนชั้นนำเพราะมันเป็นเกมของชนชั้นนำ มันเล่นกันอยู่แต่ในหมู่ชนชั้นนำ มันไม่ใช่กีฬาที่มวลชนมีส่วนร่วมนะครับ

แต่กระนั้นผมก็ยังคิดว่ามันเป็นระบบที่ต้องแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ครับ แล้วถ้าสีไม่แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์อีกต่อไปแล้ว มันก็คงน่าสนใจที่จะดูว่าพวกที่วิพากษ์วิจารณ์เขาเอาเข้าจริงจะสามารถมีปากมีเสียงและเริ่มท้าทายเขาในประเด็นนโยบายที่เป็นสาระสำคัญบางประการหรือเปล่า

(ต่อสัปดาห์หน้า)