เกิดอะไรขึ้นใน ‘เมียววดี’

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังฝ่ายต่อต้านในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงหลังการรัฐประหารในเมียนมาที่เพิ่งจะครบรอบ 3 ปีเต็มไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุด ถึงกับมีเครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบินแห่งชาติเมียนมา บินจากเมียววดีมาลงจอดที่สนามบินแม่สอด จังหวัดตาก จนกลายเป็นคำถามและข้อกังขากันอึงคะนึงในเวลานี้

เกิดอะไรขึ้นในเมียววดีกันแน่ ร้ายแรงถึงขั้นต้อง “เจรจาพิเศษ” ขออพยพด้วยเครื่องบินมาไทยกันแล้วหรืออย่างไร

 

เกวน โรบินสัน บรรณาธิการของนิกเกอิ เอเชีย เผยแพร่ข้อเขียนที่ดูเหมือนจะเป็นคำตอบโดยตรงของคำถามนี้ไว้ เมื่อ 8 เมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า ปรากฏการณ์เครื่องบินเมียนมาที่แม่สอดนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการอพยพ “ข้าราชการพลเรือน” และ “เจ้าหน้าที่” ของรัฐบาลทหารเมียนมา จากเมียววดี ที่ตกอยู่ในความควบคุมของกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลแล้วนั่นเอง

เกวน โรบินสัน รายงานเอาไว้ว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน ทหารรัฐบาลเมียนมากว่า 600 นาย กับสมาชิกในครอบครัวทหารอีกราว 140 คน ยอมแพ้ต่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านที่นำโดย กองกำลังติดอาวุธของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และกองกำลังปกป้องประชาชน (พีดีเอฟ) ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ที่เป็นเสมือนรัฐบาลเงาของรัฐบาลทหารเมียนมานั่นเอง

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่เคเอ็นยูและพีดีเอฟ โหมโจมตีฐานทัพทหารรัฐบาลอย่างหนักในช่วงสองสามสัปดาห์หลังมานี้

โรบินสันระบุว่า มีการโพสต์ภาพในโซเชียลมีเดีย ที่แสดงให้เห็นว่าบรรดานักรบของเคเอ็นยูกับพีดีเอฟ สามารถเข้าถึงคลังแสงเก็บอาวุธเบาและกระสุนในฐานของทหารเมียนมาที่ถูกทอดทิ้ง

พร้อมกันนั้นก็ยังมีอีกหลายภาพที่โพสต์เมื่อบ่ายวันเดียวกัน ที่แสดงให้เห็นว่ามีรถหลายคันขนทั้งผู้คนและสัมภาระเคลื่อนที่ผ่านสะพานข้ามลำน้ำเมยจากเมียววดี ข้ามมายังอำเภอแม่สอด จังหวัดตากที่อยู่ติดต่อกัน

และแน่นอน พอตกกลางคืนก็มีการโพสต์ภาพเครื่องบินเมียนมา เนชันแนล แอร์ไลน์ ลำดังกล่าวที่สนามบินแม่สอดด้วยเช่นกัน

 

โรบินสันอ้างแหล่งข่าวทั้งในเคเอ็นยูและแหล่งข่าวในไทย ระบุตรงกันว่า เครื่องบินลำดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารเมียนมากลุ่มเล็กๆ เดินทางมาด้วย

ส่วนที่เหลือเป็น “เอกสาร” กับสิ่งที่ถูกระบุว่าเป็น “สินค้าอ่อนไหว” ติดมาด้วย ซึ่ง “เข้าใจกันว่าเป็นเงินสดจากธนาคารแห่งชาติสาขาเมียววดี”

เคเอ็นยูอ้างว่า ในขณะนี้ฝ่ายตนเข้าควบคุมพื้นที่ในเมียววดีได้อย่างน้อยถึง 90 เปอร์เซ็นต์

โรบินสันรายงานว่า ในคืนวันที่ 7 เมษายน ก็กำลังมีการเจรจากันอยู่ระหว่างกลุ่มทหารสังกัดกองพลน้อยที่ 275 อีกราว 400 นาย กับเคเอ็นยู เพื่อที่จะยอมแพ้เช่นเดียวกัน

แหล่งข่าวในเคเอ็นยูรายหนึ่งบอกกับโรบินสันว่า สิ่งที่ฝ่ายตนเป็นกังวลก็คือการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาที่แม่สอด ซึ่งหวังว่าฝ่ายต่อต้านจะทำให้สถานการณ์นิ่งได้โดยเร็วและให้การค้าได้เคลื่อนไหวตามปกติอีกครั้ง

“นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนของเรา ที่จะยึดคืนพื้นที่ซึ่งควบคุมโดย เอสเอซี (สภาเพื่อการปกครองแห่งรัฐ) และบีบบังคับให้พวกนั้นคืนประเทศให้กับประชาชน”

 

เจ้าหน้าที่ไทยซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ บอกกับโรบินสันว่า สถานการณ์น่าวิตกเช่นเดียวกัน สิ่งที่น่าห่วงที่สุดก็คือเมื่อการอพยพแล้วเสร็จ กองทัพเมียนมาก็จะส่งเครื่องบินรบมาถล่มเมียววดีแบบปูพรม ซึ่งจะส่งผลให้ชาวบ้านอพยพหลบหนีข้ามแดนมายังฝั่งไทยอีกเป็นจำนวนมาก

เกวน โรบินสันระบุว่า ปฏิบัติการอพยพครั้งนี้แสดงให้เห็นถึง “ความพ่ายแพ้ที่น่าอายมากที่สุด” เท่าที่ มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเคยเผชิญมา ถึงขนาดที่ต้องออกมา “ตีตรา” บรรดากองกำลังฝ่ายต่อต้านว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” และประกาศจะบดขยี้ให้หมด ทันทีหลังจากที่เมียววดีถูกยึดครอง

เดวิด เบรนเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญเมียนมา จากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ ระบุเช่นกันว่า การเสียเมียววดีไม่ใช่ความพ่ายแพ้ปกติธรรมดาทั่วไป ไม่เหมือนกับการเสียเมืองใดเมืองหนึ่งไป แต่อาจกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญ ที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้เส้นทางและรูปแบบการส่งกำลังบำรุงอันเป็นมิติใหม่ที่สมบูรณ์แบบไปอีกด้วย

สำหรับไทย เรื่องการยึดครองเมียววดี ดูไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่โตไปกว่าการเตรียมรับมือกับคลื่นผู้อพยพมหาศาลในอนาคตอันใกล้

เมื่อคำนึงถึงว่า ในเวลานี้เฉพาะชาวบ้านที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในเมียววดีเองก็ปาเข้าไปถึง 700,000 คนเข้าไปแล้ว!