Garden of Silence ศิลปะแห่งความนิ่งเงียบ ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอกลับมาต่อด้วยเรื่องราวของผลงานศิลปะที่จัดแสดงใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกครา

ที่น่าสนใจก็คือ ผลงานที่ว่านี้เป็นของศิลปินผู้มีบทบาทหลักเป็นสถาปนิก ผู้ทำงานออกแบบภูมิทัศน์ของพื้นที่ต่างๆ ที่เรียกกันว่า ภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape architecture) นั่นเอง

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

ศิลปินชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ด้วยความที่เธอมีภูมิหลังทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม ผนวกกับความสนใจทางด้านศิลปะร่วมสมัย ภายหลังจากจบการศึกษาด้านภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานในสายที่เรียนมาอยู่ระยะหนึ่ง

ในช่วงที่เรียนภูมิสถาปัตยกรรม สนิทัศน์อยากให้งานภูมิสถาปัตยกรรมไปไกลกว่าการเป็นแค่ประโยชน์ใช้สอยกับความสวยงาม และมีความหมายอันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

เธอมองว่าศิลปะน่าจะเป็นตัวที่สร้างความหมายในพื้นที่ที่ถูกออกแบบ

เธอจึงเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านศิลปะที่ Chelsea College of Art and Design ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

หลังจากจบการศึกษา ในปี 2010 สนิทัศน์ก่อตั้ง Sanitas Studio สตูดิโอออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ร่วมกับทีมงานสถาปนิกและภูมิสถาปนิกขึ้นมา

ซึ่งสตูดิโอแห่งนี้ทำงานอยู่บนพรมแดนระหว่างภูมิสถาปัตยกรรมและศิลปะร่วมสมัย ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบริบททางสังคม การค้นคว้าทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง และการสำรวจจิตใจและตัวตนภายในของมนุษย์ ด้วยการเล่นกับรอยต่ออันไร้ตะเข็บของภูมิสถาปัตยกรรมและงานศิลปะร่วมสมัย ทั้งงานศิลปะจัดวาง ประติมากรรม และงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ที่ได้รับรางวัลต่างๆ มามากมายไม่ว่าจะเป็นรางวัลทางสถาปัตยกรรมและศิลปะ

ผลงานของสนิทัศน์ เข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะนานาชาติ Bangkok Art Biennale (2018), นิทรรศการกลุ่ม Heads or Tails ที่แกลเลอรี Sundaram Tagore, นิวยอร์ก (2017), นิทรรศการเดี่ยว Capturing the Intangible ที่หอศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2016) และผลงานชุด เขามอ (Khao Mo : Mythical Escapism) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (2013)

สนิทัศน์สนใจในพื้นที่ว่างของงานประติมากรรม และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับผลงาน

เธอมองว่า ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสื่อสารที่กระตุ้นจิตสำนึกของผู้คน สาระสำคัญในผลงานของเธอมาจากการศึกษาเรื่องพื้นที่และความหมายของวัสดุ ที่แสดงถึงความสงบนิ่งและสมถะ

และสะท้อนความไม่เที่ยงแท้และความว่าง ซึ่งได้อิทธิพลจากปรัชญาในพุทธศาสนา

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ สนิทัศน์สร้างสรรค์ผลงาน Garden of Silence (สวนแห่งความเงียบ) (2023) ที่ประกอบด้วยผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ 3 ชิ้น ที่ติดตั้งอยู่ท่ามกลางต้นยางพาราจำนวน 108 ต้น ในสวนยางพาราของ ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน โดยเป็นการจำลองมิติของจักรวาลในลักษณะ ปริภูมิ-เวลา (Space and Time : หรือแนวคิดพื้นฐานในฟิสิกส์ที่รวมมิติเชิงพื้นที่ทั้งสาม (ความยาว ความกว้าง และความสูง) เข้ากับมิติที่สี่ หรือมิติของเวลา ให้เป็นกรอบเดียวกัน) โดยผสานเข้ากับคติจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนา

เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้หยุดนิ่ง เพื่อคิดถึงความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง และตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของตัวตนของตัวเอง หรือแม้แต่ความว่างเปล่า ไม่เที่ยงแท้ ของทุกสรรพสิ่งในโลก

“ผลงานชุดนี้เริ่มต้นจากการลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา (2023) เราเดินทางไปยังทุกที่ในเชียงราย เพราะพี่เจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย) อยากให้ศิลปินทุกคนเห็นประวัติศาสตร์ของเชียงราย และส่งข้อมูลมาให้อ่านเยอะมาก เราได้รู้ว่าเชียงรายเป็นเมืองที่เก่าแก่กว่าเจ็ดร้อยปี เป็นเมืองที่มีชาติพันธุ์อยู่มากมาย และเป็นเมืองแห่งศิลปะที่มีความพิเศษไม่เหมือนเมืองไหน”

“แต่ที่สำคัญที่สุดคือธีมหลักของมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย คือ ‘เปิดโลก’ (Open World) ที่พี่เจี๊ยบเล่าให้ฟังว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากพระพุทธรูปปางเปิดโลก ซึ่งกล่าวถึงพระพุทธเจ้าตอนเสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วตอนเสด็จกลับลงมา พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ เปิดโลกทั้งสามคือ สวรรค์เบื้องบน โลกมนุษย์ตรงกลาง และยมโลกเบื้องล่าง ให้มองเห็นซึ่งกันและกันได้หมด”

“เพื่อแสดงว่าทุกโลกล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน และมีความทุกข์ ไม่ว่าจะอยู่ในโลกไหน”

“สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เราทำงานชุด Garden of Silence ขึ้นมา นอกจากนี้ ความพิเศษของพื้นที่ตั้งผลงานชุดนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญอีกอย่าง คือตอนแรกเราสรุปกับคุณอังกฤษ (อัจฉริยะโสภณ) (ภัณฑารักษ์ของ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย) ว่าเราจะแสดงงานที่ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ซึ่งค่อนข้างเชื่อมโยงกับแนวคิดในงานของเราที่เป็นพื้นที่ในเชิงความคิด พื้นที่แห่งการไตร่ตรอง”

“แต่เราก็ลังเลว่าจะใช้พื้นที่ตรงส่วนไหนของไร่เชิญตะวัน เพราะที่นี่มีพื้นที่หลายรูปแบบ จนกระทั่งคุณอังกฤษส่งภาพของป่ายางพารามาให้เราดู พอเราเห็นปุ๊บก็รู้สึกว่าใช่ทันที เราเลยเลือกที่นี่เป็นพื้นที่แสดงงาน และพัฒนาตัวงานขึ้นจากลักษณะของพื้นที่แห่งนี้ โดยใช้ลักษณะภูมิทัศน์แบบตารางของป่ายางพารามาเล่าเรื่องปริภูมิเวลา”

“ตัวงานประติมากรรมจัดวาง 3 ชิ้นที่เราทำ พูดถึงประสบการณ์ภายในป่ายางพาราแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีผลงานชิ้นอื่นๆ ที่ส่งเสียงที่มองไม่เห็นที่มา พื้นที่รอบๆ ผลงานเหล่านี้อาจจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับทำสมาธิ”

“และเหตุผลที่เราทำงานออกมาเป็น 3 ชิ้น ก็เพราะเราอยากให้ผลงานชุดนี้เป็นพื้นที่ให้คนได้หยุดนิ่ง และเข้าไปใช้ทำสมาธิข้างในได้จริง เราคุยกันตั้งแต่แรกแล้วว่าผลงานชุดนี้จะติดตั้งในพื้นที่ป่ายางพาราแห่งนี้ถาวร เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับทำสมาธิวิปัสสนาในไร่เชิญตะวัน”

ผลงานสามชิ้นที่ว่านี้ประกอบด้วย ประติมากรรมรูปทรงคล้ายหอคอยประดับกระจกเงาไปทั่ว สะท้อนภาพสภาพแวดล้อมรอบข้างอย่างพร่างพรายตา

“ตัวงานชิ้นนี้มีบันได้ให้คนสามารถเดินขึ้นไปนั่งสมาธิบนนั้นได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่ลอยสูงจากพื้นจนมองเห็นทิวทัศน์รอบด้าน ทำให้รู้สึกสงบ ผลงานชุดนี้พูดถึงความว่าง ความมีอยู่แต่เหมือนไม่มี เพราะตัวกระจกบนประติมากรรมหอคอยจะสะท้อนสภาพแวดล้อมรอบข้างจนกลืนหายไปกับป่ายางพารา”

หรือผลงานประติมากรรมรูปทรงคล้ายเจดีย์โลหะยอดหัก ขึ้นสนิม แลดูเก่าคร่ำคร่า คล้ายกับถูกทิ้งไว้ในพื้นที่แห่งนี้มาเนิ่นนานแล้วก็ไม่ปาน

“ผลงานชิ้นนี้แทนการดำรงอยู่ หรือตัวตน เป็นพื้นที่ให้คนเดินรอบๆ ได้” (แต่ปีนขึ้นไปไม่ได้นะ)

และสุดท้าย กับผลงานประติมากรรมรูปทรงเหมือนเจดีย์ดิน ข้างในกลวงเหมือนถ้ำ ด้านบนเปิดโล่งเหมือนปล่องเพดาน มีทางเข้าเปิดให้ผู้ชมเดินเข้าไปข้างในได้

ภายในมีกระจกเงาติดพร้อย สะท้อนให้เห็นเงาจากป่ายางและท้องฟ้าเบื้องบน ไปพร้อมๆ กับเงาของผู้ชมที่เดินเข้าไปภายใน

“ผลงานชิ้นนี้เราใช้ดินจากไร่เชิญตะวันมาก่อขึ้นเป็นเจดีย์จอมปลวก ให้เหมือนกับมันขึ้นอยู่ตรงพื้นที่แห่งนี้เองมานานแล้ว แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากตอนที่เราเดินทางไปเชียงแสน แล้วประทับใจกับเจดีย์ที่มีลักษณะเป็นซากปรักหักพังเก่าแก่โบราณ ภายในประติมากรรมเจดีย์ชิ้นนี้ถูกระเบิดเป็นพื้นที่ว่าง และติดกระจกเงาข้างใน เพื่อให้ผู้ที่เข้าไปเห็นเงาสะท้อนของตัวเองได้”

“เมื่อสังเกตลักษณะของผลงานประติมากรรมจัดวางทั้งสามชิ้นนี้แล้ว ก็ทำให้เราอดนึกไปถึงธีมหลักของมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย อย่าง ‘เปิดโลก’ ไม่ได้ เราตีความว่า ผลงานประติมากรรมรูปหอคอยกระจกที่ให้คนเดินขึ้นไปได้นั้นเปรียบเสมือนสวรรค์เบื้องบน ในขณะที่เจดีย์โลหะที่ตั้งบนพื้นดินนั้นเปรียบเสมือนโลกมนุษย์ตรงกลาง ส่วนเจดีย์ดินที่ให้คนมุดเข้าไปข้างในนั้น ไม่ต่างอะไรกับยมโลกเบื้องล่าง เป็นสามโลกที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดให้มองเห็นพร้อมๆ กันนั่นเอง”

ในขณะที่ศิลปินเผยแง่มุมที่แตกต่างออกไปให้เราฟังว่า

“เรามองว่าผลงานสามชิ้นนี้เป็นเหมือน ไตรลักษณ์ เป็นตัวแทนของความว่างเปล่า ไร้ตัวตน ตามหลักปรัชญาในศาสนาพุทธ”

“นอกจากตัวผลงานแล้ว พื้นที่ตั้งยังทำงานกับตัวงานเยอะมาก เพราะตอนที่เราทำงานชุดนี้เสร็จในช่วงต้นเดือนธันวาคม สภาพของป่าจะเต็มไปด้วยสีเขียวสดมากๆ ในขณะที่ในช่วงวันเปิดงาน ใบไม้เริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และค่อยๆ ร่วงจนหมดป่า พอเวลาผ่านไป ใบไม้เริ่มแตกยอดเป็นสีแดงทั้งป่า กลายเป็นว่าพอสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ตัวงานเราก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะมันสะท้อนสภาพแวดล้อมรอบข้าง จนกลายเป็นเนื้อเดียวกับงานอย่างที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งบังเอิญตรงกับแนวคิดหลักของงานที่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งพอดิบพอดี”

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน “Garden of Silence” ของ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน บ้านใหม่สันป่าเหียง ตำบลห้วยสัก เปิดให้เข้าชม (ฟรี) ทุกวัน เวลา 08:00-17:00 น.

ขอบคุณภาพจากศิลปิน ถ่ายภาพโดย W Workspace •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์