เปิดคัมภีร์ลับแก๊งคอลเซนเตอร์ ผงะ! พบซิมมือถือเกือบ 5 พันซิม ซุกริมน้ำโขง-เชียงแสน ย้ายฐานปฏิบัติการใหม่

ยึดบิ๊กล๊อตเครื่องมือแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์

“อาชญากรรมทางไซเบอร์” จัดว่าเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วทั้งโลกก็กำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากแก๊งอาชญากรเหล่านี้

จากรายงานขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ประเมินว่ามีประชาชนหลายแสนคนจากทั่วโลก ถูกค้ามนุษย์ บังคับให้มาทำงานกับเครือข่ายอาชญากรรมทางออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เหยื่อค้ามนุษย์เหล่านี้อยู่ในเมียนมาอย่างน้อย 120,000 คน และในกัมพูชาอีก 100,000 คน ถูกบังคับให้ทำงานให้ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’

ที่ผ่านมาทางการจีนผนึกกำลังกับทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา และไทย ปราบปรามแก๊งเหล่านี้อย่างจริงจัง จนมีรายงานว่ากลุ่มนายทุนจีนเทาจำนวนไม่น้อยเริ่มย้ายฐานออกจากเมียนมา

ยึดครั้งใหญ่คัมภีร์ลับแก๊งคอลฯ

ย้อนไปเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 12 เมษายน พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผกก.4 บก.ป., นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร และนายเอกวุฒิ นาเอก นายด่านศุลกากรเชียงแสน ร่วมกันแถลงผลจับกุมและตรวจยึดอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี ที่ใช้ในขบวนการคอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งบัญชีม้าและเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก

การตรวจยึดครั้งนี้สืบเนื่องจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center) หรือศูนย์ AOC 1441 โดย บชก.และกรมศุลกากร ร่วมกันสืบสวนจนทราบเบาะแสว่าจะมีพัสดุต้องสงสัยที่น่าจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติส่งมาจากต่างประเทศ เข้ามายังประเทศไทย เพื่อส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านทางสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

จากการตรวจสอบที่ด่านศุลกากรเชียงแสน พบกล่องลังกระดาษ และกล่องพลาสติกต้องสงสัยมีผ้าห่อหุ้มมิดชิดกว่า 10 กล่องใหญ่ ซุกซ่อนไว้โคนต้นไม้ริมแม่น้ำโขง พื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กับ สปป.ลาว

เมื่อเข้าตรวจสอบพบเครื่องคอมพิวเตอร์ออลอินวัน จำนวน 94 ชุด พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบอื่นๆ, โทรศัพท์มือถือ จำนวน 347 เครื่อง, สมุดจดบันทึกเป็นภาษาจีน จำนวน 15 เล่ม และสิ่งของอื่นๆ จำนวนมาก

เมื่อตรวจสอบข้อมูลภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ พบข้อมูลที่น่าเชื่อว่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่กลุ่มมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์นำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชน

เนื่องจากปรากฏข้อมูล ข้อความแชตสนทนาจำนวนมาก ลักษณะคล้ายสคริปต์การสนทนาหลอกลวง ไม่ต่างกับคู่มือหรือคัมภีร์ในการทำงาน

คัมภีร์แก๊งคอลฯ สอนเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย มีภาพชาย-หญิงทั้งยุโรป และเอเชียหน้าตาดี อิริยาบถต่างๆ จำนวนมาก, ข้อความแชตสนทนาเชิงชู้สาว ใช้กับกลุ่มคนร้ายโรแมนซ์สแกมหรือการหลอกให้รัก, ข้อความแชตสนทนาชักชวนลงทุนรูปแบบต่างๆ, ข้อความขอคำปรึกษาวิธีการแก้ปัญหาระหว่างคนร้ายด้วยกัน, ตัวอย่างบทสนทนาในสถานการณ์ต่างๆ

โดยพบข้อมูลผู้เสียหายเป็นชาวจีน ญี่ปุ่น ชาวต่างชาติฝั่งยุโรปและอเมริกา

ส่วนในสมุดบันทึกที่มีข้อความภาษาจีน คล้ายไดอารี่ของพนักงาน ที่มีการจดขั้นตอนวิธีการทำงานและบันทึกผลการทำงานในแต่ละวันเอาไว้ด้วย

นอกจากนี้ ยังพบถุงพลาสติก 1 ถุงใหญ่ ภายในถุงบรรจุกล่องโทรศัพท์ 5 กล่อง ภายในพบโทรศัพท์มือถือใส่ซิมการ์ด, สมุดบัญชีธนาคาร, บัตร ATM พร้อมกระดาษจดรหัสบัตร ATM และรหัสการเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่นธนาคาร พร้อมใช้งาน

นอกจากของกลางที่พบข้างต้นแล้วเจ้าหน้าที่ยังพบกล่องพัสดุที่ส่งมาจากต่างประเทศ และผู้รับตามชื่อที่กล่องพัสดุปฏิเสธการรับ 2 ราย กล่องพัสดุรายแรกถูกส่งมาจากประเทศอังกฤษ ภายในพบซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ เครือข่าย โวดาโฟน (Vodafone) ในยุโรป จำนวน 4,998 ซิม

ส่วนพัสดุรายที่ 2 ถูกส่งมาจากประเทศญี่ปุ่น ภายในพบอุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม ยี่ห้อสตาร์ลิงค์ ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) อีกจำนวนกว่า 10 เครื่อง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องใช้เครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน นับเป็นการพบอุปกรณ์ชนิดนี้เป็นครั้งแรก

เป็นข้อมูลใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าแก๊งคอลฯ ก้าวล้ำไปอีกขั้น สำหรับมูลค่าของทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้ครั้งนี้ ประมาณ 5.4 ล้านบาท

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. นำทีมแถลงผลตรวจยึด

เชื่อย้ายฐานจากเมียนมาไปลาว

พล.ต.ท.จิรภพเสริมว่า สำหรับบริเวณที่ตรวจยึดอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ตรงข้ามกับอาณาจักรคิงส์โรมัน เขตปกครองพิเศษของ สปป.ลาว ทำให้เชื่อว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์อาจกำลังย้ายฐานปฏิบัติการใหม่ เพราะระบบสตาร์ลิงค์นั้นเป็นโทรศัพท์โหลดอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่ยึดได้ทั้งหมด 10 เครื่อง จะทำให้คนร้ายสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้ทันทีโดยไม่ต้องพึ่งอินเตอร์เน็ตพื้นฐาน

“เราเชื่อว่าคนร้ายแก๊งนี้เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่มีสาขาในหลายประเทศ ถ้าที่ไหนไม่ปลอดภัยก็จะเปลี่ยนไปยังอีกที่หนึ่ง ถ้าประเทศไหนปลอดภัยก็จะเข้าไปทำในประเทศนั้นๆ เพราะเราไม่เคยเจอของกลางเยอะขนาดนี้มาก่อน จึงเชื่อว่ากำลังขยายฐานและเป้าหมายไปทั่วโลก เป็นปัญหาของโลกที่ประเทศต่างๆ ต้องร่วมมือกันปราบปราม เพราะเป็นภัยสังคมอย่างรุนแรง” ผบช.ก.กล่าว

พล.ต.ท.จิรภพกล่าวอีกว่า เตรียมเสนอ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เพื่อตั้งคณะทำงานขึ้นมาจัดการปัญหานี้เป็นการเฉพาะ รวมทั้งประสานกับตำรวจต่างประเทศทั้งจากอังกฤษ ที่เป็นต้นทางของซิมการ์ดโวดาโฟน ลาว เขมร พม่า และจีน เราจะทำเต็มที่ แต่จะได้ผลแค่ไหน อยู่ที่ความร่วมมือของตำรวจประเทศนั้นๆ เพราะการเข้าไปสืบสวนในต่างประเทศต้องใช้ความร่วมมือ และการขยายผลเป็นหลัก

ด้าน พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผกก.4 บก.ป. เปิดเผยว่า จากการสืบสวนขยายผลถึงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง โดยของกลางชุดแรกพบว่าซิมการ์ดถูกส่งจากประเทศอังกฤษมาให้กับคนไทยคนหนึ่งที่อยู่ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และกำลังจะนำส่งต่อไปให้ชาวจีนที่คิงส์โรมันฝั่ง สปป.ลาว

ส่วนของกลางชุดที่สอง เป็นเครื่องรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมความเร็วสูงถูกส่งมาจากประเทศญี่ปุ่น ผ่านทางการขนส่งทางอากาศมายัง อ.เชียงแสน เพื่อส่งต่อให้กับชาวจีน และชาวไทยที่คิงส์โรมันเช่นเดียวกัน ส่วนชุดที่สาม เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และสมุดบันทึกที่เราได้แปลภาษาจากภาษาจีน

พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ระบุว่า ตัวอุปกรณ์ชุดที่สามนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์น่าจะใช้มาก่อนในพื้นที่ประเทศเมียนมา โดยพบข้อมูลผู้เสียหายเป็นชาวยุโรป, จีน และญี่ปุ่น เพราะพบข้อมูลบทสนทนาต่างๆ การพูดคุยเกี่ยวกับกลุ่มเหยื่อ

สิ่งที่น่าสนใจคือมีการจ้างพนักงานทั้งที่เป็นชาวจีน ลาว เมียนมา และชาวไทย ในส่วนที่สี่เป็นบัญชีม้า เชื่อว่าจะถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นการพนันออนไลน์ หรือการฉ้อโกงออนไลน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะขยายผลดำเนินคดีต่อไป

เครื่องสตาร์ลิงค์ และซิมมือถือเกือบ5พันซิมส่งจากอังกฤษ

ต่อมาวันที่ 17 เมษายน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ร่วมแถลงผลปฏิบัติการ “The Purge” กวาดล้างอาชญากรข้ามโลก จับ 2 ต่างชาติตัวการแก๊งไฮบริด สแกม พร้อมยึดทรัพย์ร่วม 252.5 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเครือข่ายแก๊งนี้มีเงินหมุนเวียนสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี

โดยเมื่อได้เงินที่หลอกลวงเหยื่อมาในรูปแบบเงินดิจิทัล ก็จะนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดให้เป็นเงินบาท จากนั้นจะลักลอบนำออกไปทางชายแดนแม่สอด เพื่อมอบให้นายทุนที่เมืองเมียวดี เมียนมา

ครั้งนี้เจ้าหน้าที่สามารถสกัดจับ 2 คนไทยที่รับจ้างขนเงินได้พร้อมเงินสดถึง 80 ล้านบาทได้ทันก่อนจะถูกลอบนำออกไป นับเป็นการจับกุม “แก๊งอาชญากรรมทางไซเบอร์” ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งทีเดียว

ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ถูกยกระดับเป็นปัญหาระดับประเทศไปแล้ว เครือข่ายอาชญากรรมนี้เกินกว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถจัดการได้โดยลำพัง